ทำไมบางคนถึงชอบสัตว์เลี้ยงขี้เหร่


Lifestyle

5 ก.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

ทำไมบางคนถึงชอบสัตว์เลี้ยงขี้เหร่

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1364

ทำไมบางคนถึงชอบสัตว์เลี้ยงขี้เหร่
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

สัตว์เลี้ยงขี้เหร่ สัตว์เลี้ยงที่ดูน่าเกลียด เคยสงสัยมั้ย ? เหตุใดจึงมีกลุ่มคนเลี้ยงที่ตกหลุมรักสัตว์ที่ส่วนใหญ่มองดูว่า “ขี้เหร่” ได้

ในทุกเดือนมิถุนายน ที่เมืองเปตาลูมา รัฐแคริฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จะมีการรวมตัวกันของกลุ่มคนรักสุนัขขี้เหร่จากทั่วโลก เพื่อร่วมประกวดแข่งขันหาสุนัขที่ขี้เหร่ที่สุดในโลก (World’s Ugliest Dog Contest) รูปของเหล่าสุนัขที่มีรูปลักษณ์ที่ดูขี้เหร่ ฟันยื่นผิดรูป ลิ้นห้อย จมูกแบน กลายเป็นกระแสที่พูดถึงไปทั่วโลก

ความแปลกของหน้าตาสัตว์เหล่านี้ ความรักที่เจ้าของมอบให้กับพวกมัน ชวนให้หลายคนสนใจ Thai PBS พาทุกคนไปสำรวจ ที่มาของสัตว์ขี้เหร่คืออะไร ? เพื่อค้นให้ถึงความเข้าใจว่า เหตุใดบางคนถึงชอบสัตว์ขี้เหร่เหล่านี้ ?

ทำไมบางคนถึงรักสัตว์ขี้เหล่

สัตว์น่ารัก น่าชัง ขี้เหร่ เปิดงานวิจัย เหตุใดผู้คนถึงหลงรัก ?

สัตว์เลี้ยงโดยทั่วไป มักเป็นสัตว์ที่ดูน่ารัก เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังนั้น ดร.คอนราด ลอเรนซ์ (Dr. Konrad Lorenz) นักสัตววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์ ให้คำอธิบายว่า มนุษย์นั้นจะมีความสนใจต่อสัตว์ที่มีตาโต หัวใหญ่และมีร่างกายที่ดูนิ่ม รูปหน้าที่เป็นทรงกลม นี่เป็นผลมาจากการวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์

ทำให้มนุษย์รู้สึกเอ็นดู อยากปกป้องดูแล ลูกของมนุษย์เองที่มีลักษณะดังกล่าว รวมถึงลูกของสัตว์อื่น ๆ เรารู้สึกว่าน่ารักเช่นกัน มีคำเรียกความเอ็นดูเด็กทารกนี้ว่า “Kindchenschema” หรือ “Baby Schema” 

มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการมองเห็น “ความน่ารัก” เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกและมีการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงวัยเด็กเล็ก โดยให้เด็กวัย 3 – 6 ขวบ ดูรูปของสัตว์ต่าง ๆ พบว่าเด็กเล็กมองไปยังสัตว์ที่ดูน่ารักกว่า และเมื่อทดลองให้คะแนนความน่ารัก ก็พบว่าสัตว์ที่มีลักษณะตาโต จมูกแบน เล็กและหน้าเป็นทรงกลม ได้คะแนนความน่ารักมากกว่า
แล้วกับสัตว์ขี้เหร่ละ เหตุใดผู้คนถึงรักและเลี้ยงดู ?

สัตว์ขี้เหร่ (Ugly) ตามความเข้าใจของมนุษย์ มักมีรูปลักษณ์ที่ดูผิดแปลก ทว่าแท้จริงแล้ว พวกมันมีรูปลักษณ์แบบนั้นเพื่อความอยู่รอด สัตว์อย่าง บล็อบฟิช (Blobfish) ปลาน้ำลึกที่ได้ฉายาว่าเป็นสัตว์ที่ขี้เหร่ที่สุดในโลก และหนูตุ่นเปลือย (Naked mole rat) สัตว์ที่มีฉายาว่าดูแปลกประหลาดที่สุดในโลก ต่างก็มีรูปลักษณ์มาจากการปรับตัว เพราะต่างอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว

สัตว์ขี้เหร่เหล่านี้ต่างมีรูปลักษณ์ที่ประหลาดมาจากการปรับตัว เพื่อใช้ชีวิตในธรรมชาติ พวกมันได้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่พวกมันมีชีวิตอยู่ และไม่ได้ต้องการดึงดูดความสนใจจากสัตว์อื่นด้วยความน่ารักตามอย่างสัตว์อื่น ๆ ในธรรมชาติ เหตุนี้เองที่สัตว์ขี้เหร่จึงมักถูกมองข้ามไป เพราะธรรมชาติของพวกมันเองก็ไม่ต้องการดึงดูดความสนใจนัก

จากความต่างทั้งสองขั้ว นั่นคือ กลุ่มสัตว์น่ารักทำให้คนสนใจ และกลุ่มสัตว์ขี้เหร่ที่มีธรรมชาติไม่ดึงดูดผู้คน นำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่ผู้คนนิยมเลี้ยงสัตว์ขี้เหร่กันมากขึ้น มันเกิดขึ้นจากอะไร ? คำตอบคือการผสม 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน โดยมีปัจจัยหลักคือวัฒนธรรม จนเกิดเป็นแนวคิดของ “สัตว์น่ารักน่าชัง” หรือสัตว์ขี้เหร่แต่น่ารัก (Ugly-cute animal) 

ดร. โรวีนา พาร์คเกอร์ (Rowena Parker) อาจารย์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ด้านสวัสดิภาพและพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง  (Companion Animal Behaviour and Welfare Science) the Royal Veterinary College (RVC) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) มองปรากฎการณ์นี้ว่า สัตว์น่ารักน่าชัง (Ugly-cute animal) ถือเป็นแฟชั่นที่ส่วนหนึ่ง มีกระแสมาจากโซเชียลมีเดีย กลุ่มเซเลบในสังคม รวมถึงเหล่าอินฟลูเอนเซอร์

นอกจากนี้ ภาพสัตว์เลี้ยงที่น่ารักและดูแปลกตา มักจะเป็นที่สนใจของผู้คน ส่งผลให้เกิดกระแสการเลี้ยงดูสัตว์ขี้เหร่เหล่านี้ตามมา ด้านหนึ่งทำให้ผู้คนเปิดใจยอมรับ และสามารถรักสัตว์เลี้ยงที่อาจจะไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่ดูน่ารักตามอุดมคติมากขึ้น

ความรักที่ก้าวข้ามความน่ารักในอุดมคติ

ความน่ารักในอุดมคติ คือภายนอกที่ตามองเห็น ทว่าความน่ารักที่มองเห็นเพียงภาพนอก อาจไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่เจ้าของมีให้ต่อสัตว์เลี้ยงของตัวเอง

มีผู้คนมากมายเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้น่ารัก หรือหน้าตาดีนัก แต่พวกเขาก็รักมันอย่างที่พวกมันเป็น และรักก่อนที่จะเกิดกระแสหรือเทรนด์ใด ๆ ขึ้นมา เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นที่การประกวดแข่งขันหาสุนัขที่ขี้เหร่ที่สุดในโลก ที่เริ่มต้นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970

ท่ามกลางการแข่งขันหาสัตว์เลี้ยงหน้าตาดีที่เกิดขึ้นมากมาย ในคราวเดียวกัน การประกวดแข่งขันหาสุนัขที่ขี้เหร่ที่สุดในโลก ก็เป็นการแข่งขันที่เติบโตขึ้น และกลายเป็นการเฉลิมฉลองให้เหล่าสุนัขขี้เหร่ และความรักไร้ข้อแม้ที่มนุษย์มีให้กับสัตว์เลี้ยงคู่ใจ

เรื่องราวของเจ้า Wild Thang สุนัขพันธุ์ปักกิ่งอายุ 8 ปี ที่มีลิ้นห้อยออกมาตลอดเวลา พร้อมขนที่ดูกระเซอะกระเซิง ผู้เป็นแชมป์ของการแข่งขันสุนัขขี้เหร่ปีล่าสุด (2024) หลังเข้าร่วมการประกวดมาแล้วเป็นครั้งที่ 5 เรื่องราวของมัน บอกเล่าถึงความงดงามที่ซ้อนอยู่ภายใต้ความขี้เหร่นั้นได้เป็นอย่างดี

ในอดีต เจ้า Wild Thang เป็นสุนัขที่ได้รับการอุปการะมาจากสถานรับเลี้ยงสัตว์ ทว่าเกิดภาวะการติดเชื้อขึ้นในสถานสงเคราะห์สัตว์แห่งนั้น มีสุนัขมากมายที่ต้องจบชีวิต แต่เจ้า Wild Thang กลีบรอดชีวิตมาได้จากการรักษาโดยเจ้าของ แต่ผลข้างเคียงก็ทำให้ฟันจำนวนหนึ่งของมันไม่งอกออกมา เป็นสาเหตุที่ลิ้นของมันห้อยออกมาจากปากตลอดเวลา

Ann Lewis ผู้เป็นเจ้าของ Wild Thang เผยว่า ตลอดระยะหลายปีของการแข่งขันนั้น เต็มไปด้วยความสนุก Wild Thang ชอบผู้คน แม้มันจะขี้เหร่ แต่กลับชอบที่จะเป็นจุดสนใจ และสิ่งสำคัญมากกว่าก็คือการส่งสารที่สำคัญ นั่นคือ แม้สุนัขจะมีหน้าตาขี้เหร่ แต่มันก็ควรที่จะได้รับความรักและการอุปการะเลี้ยงดู

เจ้า Wild Thang แชมป์สุนัขขี้เหล่ที่สุดในโลก กับ Ann Lewis เจ้าของ

ด้านมืดของแฟชั่นสัตว์เลี้ยงน่ารักน่าชัง (หากมากเกินเลย)

ในแวดวงสัตว์แพทย์มีข้อกังวลถึงเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่น่ารักจนเกินจริง หรือสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเพื่อให้มีรูปร่างตรงตามที่คนต้องการ เช่น บลูด๊อกที่จมูกสั้นลง แมวที่ตัวเล็กกว่าปกติ สุนัขตัวเท่ากระเป๋า รวมถึงสัตว์ที่มีหนังเหี่ยวย่นกว่าปกติ

ดร. โรวีนา เผยถึงข้อกังวลดังกล่าว ที่เริ่มเป็นแฟชั่นในกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนำไปสู่การผสมพันธุ์สัตว์จนเกิดสัตว์ที่ไม่แข็งแรง มีปัญหาด้านการหายใจ และอายุขัยอาจสั้นลงเรื่อย ๆ ลักษณะที่ดูขี้เหร่แต่เป็นจุดเด่นเหล่านี้ บางครั้งสะท้อนถึงความผิดปกติของสุขภาพสัตว์ด้วยเช่นกัน

 

สัตว์ขี้เหร่ สัตว์น่ารัก อาจขึ้นอยู่กับการมองของแต่ละคน ทว่าท้ายที่สุดแล้วการมอบความรักอย่างไร้เงื่อนไข ยังคงเป็นคุณค่าที่สำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้คนรักในสิ่งที่แตกต่างกันได้ นี่เองคือสิ่งสวยงามที่อยู่ภายใต้ความขี้เหร่เหล่านั้น

อ้างอิง
ทำไมเราจึงรักสัตว์ที่หน้าตาดูน่าเกลียด
Meet Wild Thang, crowned the World’s Ugliest Dog after 5 tries
Ugliest Dog Day – June 20, 2025
Why Are the Babies of Mammals Cute?
Baby schema in human and animal faces induces cuteness perception and gaze allocation in children 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สัตว์เลี้ยงสัตว์น่าเกลียดสัตว์ขี้เหร่
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด