“อาหารอาบรังสี” คืออะไร ? จะมีการปนเปื้อนของรังสีหรือไม่


Logo Thai PBS
“อาหารอาบรังสี” คืออะไร ? จะมีการปนเปื้อนของรังสีหรือไม่

ในปัจจุบันมีอาหารหลากหลายประเภทที่ผ่านกระบวนการการ “อาบรังสี” ก่อนการวางจำหน่าย แต่หลายท่านอาจจะมียังความสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของตัว “อาหารอาบรังสี” ในบทความนี้จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหารอาบรังสีว่าพวกเขามีกระบวนการอย่างไร และมีอาหารประเภทใดบ้างที่มีการอาบรังสี

อาหารอาบรังสีคืออาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปโดยการใช้รังสีพลังงานสูงที่ก่อให้เกิดการสูญเสียของประจุ (Ionizing Radiation) ในปัจจุบันมีรังสีทั้งหมดสามประเภทที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในการถนอมอาหาร ได้แก่รังสีเบตา (ß-ray) รังสีแกมมา (𝝲-ray) และรังสีเอ็กซ์

สัญลักษณ์อาหารผ่านการอาบรังสี ซึ่งจะติดอยู่บนฉลากอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารด้วยรังสีที่ถูกต้อง ได้มาตรฐานและปลอดภัยกับผู้บริโภค

หลักการทำงานของการถนอมอาหารโดยรังสีคือการกำจัดเชื้อแบคทีเรียและปรสิตที่อยู่ภายในอาหาร รังสีพลังงานสูงจะพุ่งชน DNA และ RNA ของสิ่งมีชีวิตภายในอาหาร ทำให้ DNA ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นถูกทำลาย และรังสีพลังงานสูงเหล่านี้จะพุ่งทะลุผ่านอาหารไปโดยที่ไม่มีการสะสมอยู่ในเนื้อของอาหาร เพราะรังสีที่ปล่อยออกมาคือรังสีที่พุ่งทะลุทะลวงทุกอย่าง ไม่ใช่สสารที่มีสมบัติเป็นสารกัมมันตรังสี

เมื่อ DNA หรือสารพันธุกรรมของแบคทีเรียหรือปรสิตถูกทำลาย มันย่อมตายลงเพราะไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ดังนั้นอาหารที่ผ่านกระบวนการการถนอมอาหารด้วยการอาบรังสีตามมาตรฐานจึงปลอดภัยจากเชื้อก่อโรคและปรสิตที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ที่ก่อโรคหูดับที่อาศัยอยู่ในเนื้อหมู หรือไข่พยาธิอื่น ๆ

หอมหัวใหญ่คืออาหารอีกหนึ่งประเภทที่ผ่านการถนอมอาหารด้วยรังสีเพื่อยับยั้งการงอกและเจริญเติบโตของยอดอ่อนระหว่างการขนส่งและวางจำหน่าย

นอกเหนือจากสมบัติในการถนอมอาหารจากการฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่ภายในอาหารแล้ว การอาบรังสียังช่วยยืดอายุของผักและผลไม้สดได้อีกด้วย เช่น กรณีของหอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ที่ถูกเก็บในอุณหภูมิห้องจะมีการงอกและแตกหน่อที่เกิดขึ้นที่รวดเร็วมาก ในระยะเวลาเพียงหลักวันเท่านั้น ซึ่งผัก ผลไม้สดที่เกิดการงอกหรือมีการแตกหน่อเกิดขึ้น จะมีการสะสมของพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ในยอดอ่อนเหล่านั้น ดังนั้นเพื่อเก็บรักษาหอมหัวใหญ่ให้สามารถขนส่งและวางขายได้ หอมหัวใหญ่จึงจะถูกอาบรังสีในปริมาณเล็กน้อยเพื่อชะลอการงอกของยอดอ่อน ซึ่งสามารถชะลอได้นานมากถึง 5 เดือนหากเก็บรักษาอย่างถูกต้อง เป็นผลดีกับทั้งผู้จำหน่ายและผู้บริโภค โดยที่ไม่ต้องใช้สารชะลอการงอกของผลผลิตทางการเกษตรที่สะสมและเป็นพิษกับผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังไม่รวมคุณสมบัติควบคุมการเล็ดลอดของแมลงที่ติดไปกับพืชผักและผลไม้สำหรับการส่งออก เพราะแมลงที่ติดไปกับบรรจุภัณฑ์และอาหารเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกับชาติปลายทางของการขนส่งได้ เช่น ตัวต่อยักษ์ญี่ปุ่น (Asian Giant Hornet) ที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออก เป็นต่อที่ดุร้ายและสร้างความเสียหายกับผึ้งที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างมากมายมหาศาล การอาบรังสีบรรจุภัณฑ์ก็นับว่าเป็นอีกทางเลือกในการกำจัดสัตว์ที่จะแพร่ระบาดและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจก่อนที่พวกมันจะเดินทางออกจากประเทศ

ในปัจจุบันอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารโดยการอาบรังสีมีมากมาย เช่น แหนม หอมหัวใหญ่ เห็ดฟาง กล้วยหอมทอง ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าอาหารที่เรากำลังรับประทานอยู่ในปัจจุบันก็มีบางส่วนที่ผ่านกระบวนการการแพร่รังสีโดยที่พวกเราก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามันเคยผ่านกระบวนการอาบรังสีมาก่อน โดยประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการจำหน่ายอาหารอาบรังสีมากที่สุดในโลก

ไส้กรอกและแหนมก็เป็นอาหารอีกหนึ่งประเภทที่ได้รับการถนอมอาหารด้วยการอาบรังสีเพื่อให้สามารถทานได้อย่างปลอดภัย

ถึงจะมาอาหารมากมายที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารโดยการใช้งานรังสี แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าทำไมอาหารบางประเภทจึงไม่ได้ใช้กระบวนการทางรังสีมาใช้ในการถนอมอาหาร เช่น นมสด เนื่องจากตามปกตินมสดที่ดื่มกันในทุกวันนี้จะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน เป็นที่มาของชื่อกระบวนการ พาสเจอไรซ์ สเตอริไลซ์ และยูเอชที เป็นต้น แต่เราไม่เห็นนมที่ผ่านการอาบรังสีมาก่อน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเป็นเพราะเมื่อนมผ่านกระบวนการทางรังสีและ รสชาติและเนื้อสัมผัสของนมเหล่านั้นจะเปลี่ยนไป ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ ในปัจจุบันเราจึงไม่เห็นนมสดผ่านกระบวนการการอาบรังสีก่อนวางจำหน่าย ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องมาจากรังสีพลังงานสูงเหล่านี้ไปเปลี่ยนโมเลกุลของไขมันที่ละลายอยู่ในน้ำนม ทำให้คุณสมบัติที่เป็นคอลลอยด์เดิมของนมเปลี่ยนแปลงไป รสชาติ รสสัมผัส จึงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยนั่นเอง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากนมไม่ผ่านกระบวนการการอาบรังสีเหมือนกับอาหารประเภทอื่น

ดังนั้นอาหารที่ผ่านกระบวนการการอาบรังสีอย่างถูกต้องตามมาตรฐานจึงเป็นอาหารที่ปลอดภัยและสามารถรับประทานได้เลย เช่น แหนมสดอนามัยอาบรังสี เพราะอาหารที่อาบรังสีและอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เรียบร้อยย่อมปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีหรือสารกัมมันตรังสีตกค้าง รับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อยหายห่วง

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : otop.dss, mhesi, nkc.tint, foodnetworksolution

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อาหารอาบรังสีอาบรังสีเทคโนโลยีTechnologyนวัตกรรมInnovationThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ