“เจลทรานสเฟอร์โซม” ทางเลือกใหม่ลด “รอยแผลเป็นนูน”


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

2 ก.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
“เจลทรานสเฟอร์โซม” ทางเลือกใหม่ลด “รอยแผลเป็นนูน”

“เจลทรานสเฟอร์โซม” (Transfersomes) ผลงานนักวิจัยไทย ! ทางเลือกใหม่ลดรอยแผลเป็นนูน ผลิตภัณฑ์ทำจากสารสำคัญที่พบได้ในพืชบัวบกผนวกเทคนิคพิเศษ ช่วยลบเลือนรอยแผลเป็นนูนและรอยดำได้ผล ซึ่งจะมีความน่าสนใจอย่างไรตามมาอ่านกันได้เลย

หากพูดถึง “รอยแผล” ที่คนเราไม่อยากให้เกิดมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “รอยแผลเป็น” เพราะเป็นแผลที่หายยาก หรืออาจจะไม่มีวันหายเลยตลอดชีวิต ยิ่งถ้าเป็นแผลเป็นนูน หรือแผลเป็นที่อยู่นอกร่มผ้า เช่น บริเวณใบหน้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเพราะจะทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจ ผู้ที่มีแผลเป็นจึงพยายามหาวิธีรักษารอยแผล ซึ่งในปัจจุบันการรักษารอยแผลเป็นนูนก็มีอยู่หลายวิธี อาทิ ผ่าตัด ฉีดยาสเตียรอยด์ เลเซอร์ และใช้ผลิตภัณฑ์ทาเพื่อลบเลือนรอยแผล

นวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“การฉีดยาสเตียรอยด์จะทำให้ผิวบางลง การเลเซอร์ก็ทำให้เจ็บ ส่วนผลิตภัณฑ์ลบเลือนแผลเป็น โดยมากก็นำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รมย์ฉัตร ชูโตประพัฒน์ ภาควิชาวิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาของการรักษารอยแผลเป็น ซึ่งเป็นที่มาของการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) เก็บกักกรดเอเชียติก” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

“จากโจทย์ดังกล่าว เราจึงค้นคว้าดูว่ามีสมุนไพรไทยอะไรบ้างที่ดูแลเรื่องรอยแผลเป็นนูนได้ แล้วก็พบว่า “กรดเอเชียติก” ในบัวบกมีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนังได้ดี แต่ไม่สามารถนำมาใช้ทาแผลเป็นได้โดยตรง เราจึงพัฒนาวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากสารสำคัญในบัวบกให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด โดยนำกรดเอเชียติกของบัวบกมาบรรจุลงในอนุภาคทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) ในรูปแบบเจลเพื่อให้สามารถเกาะและซึมลงผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น”

รางวัลนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ผลงานนวัตกรรม “เจลทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) เก็บกักกรดเอเชียติก” ได้รับรางวัลเหรียญทอง และถ้วยรางวัลพิเศษ Special Prize for the Best International Invention จาก Korea Invention Promotion Association ในงาน Invention, Innovation and Technology Exhibition 2024 (ITEX 2024) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567

 

นวัตกรรม “ทรานสเฟอร์โซม” คืออะไร

ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตร อธิบายว่า “กรดเอเชียติก” จากพืชบัวบก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนัง ฆ่าเชื้อ และทำให้แผลสมานตัวได้ดี แต่เป็นสารละลายน้ำได้ยาก เมื่อทาลงบนผิวโดยตรง สารดังกล่าวจะไม่สามารถซึมลงสู่ชั้นผิวหนังบริเวณที่เกิดการอักเสบได้ จึงจำเป็นต้องสรรหาเทคโนโลยีที่จะช่วยนำส่ง “สารเอเชียติก” จากบัวบกเข้าไปในผิวหนังบริเวณที่ต้องการรักษา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเรียกว่าทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes)

อนุภาคทรานสเฟอร์โซมเป็นเทคนิคการเก็บกักสารไว้ในอนุภาคขนาดนาโนเมตร อนุภาคมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ดี ทำให้นำส่งสารจากพืชบัวบกเข้าไปในผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผนวกกับการที่ทีมวิจัยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบของเจล ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟิล์มที่สามารถเกาะบริเวณแผลได้ดี ดังนั้น เมื่อกรดเอเชียติกเกาะบริเวณแผลเป็นได้นานขึ้น โอกาสที่สารจะซึมเข้าไปบริเวณแผลก็มากขึ้นเช่นกัน

 

“ทรานสเฟอร์โซม” (Transfersomes) เจลรักษาแผลเป็นนูนได้อย่างไร

การอักเสบเรื้อรังคือจุดสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเป็นนูน ดังนั้น หากสามารถยับยั้งการอักเสบที่มากเกินไปได้ ก็จะช่วยลดการนูนของบาดแผลได้

“เจลทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) เก็บกักกรดเอเชียติก” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบบริเวณผิวหนัง ซึ่งเท่ากับว่าช่วยลดโอกาสการนูนของบาดแผลได้มาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เช้า-เย็นใน 2 สัปดาห์แรก ก็จะเริ่มเห็นผล ร่างกายจะปรับรูปร่างเนื้อที่นูนให้กลับมาใกล้เคียงเดิมมากที่สุด” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตร กล่าวและแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เจลหลังจากเกิดแผล 3 วัน หรือช่วงที่แผลแห้งสนิทแล้ว

นอกจากจะช่วยดูแลเรื่องแผลเป็นนูนแล้ว “เจลทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) เก็บกักกรดเอเชียติก” ยังสามารถใช้กับแผลเป็นที่มีรอยดำ อันเกิดมาจากสิว การแกะเกาแผล หรือแผลตกสะเก็ดได้ด้วย

ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตร กล่าวว่าเจลทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) เก็บกักกรดเอเชียติก จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อใช้กับแผลเป็นที่ไม่เกิน 1 ปี ส่วนแผลเป็นที่นานกว่า 1 ปี ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่อาจต้องใช้ผลิตภัณฑ์ในระยะยาวนานกว่าจะเริ่มเห็นผล

ผู้บริโภคสามารถใช้เจลนี้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการโดยไม่มีอันตรายใด ๆ เนื่องจากเจลทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) มีส่วนประกอบของสารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนใน CosIng EU database ว่า “มีความปลอดภัย เมื่อใช้บนผิวหนัง” ซึ่งแม้ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย ก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

“เจลทรานสเฟอร์โซมเก็บกักกรดเอเชียติก” ภาพจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ความงามและชะลอวัย

อนุภาคทรานสเฟอร์โซม เป็นนวัตกรรมสำหรับการกักเก็บสาร ซึ่งนอกจากกรดเอเชียติกจากบัวบกแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปใช้กับสารสำคัญตัวอื่น ๆ ได้อีก

“ด้วยคุณสมบัติของเจลทรานสเฟอร์โซม (Transfersomes) ที่สามารถลดรอยด่างดำและเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง เราสามารถนำไปปรับสูตรเพื่อต่อยอดกับผลิตภัณฑ์สำหรับการชะลอวัยได้เช่นกัน” ผศ.ภญ.ดร.รมย์ฉัตร กล่าวถึงอนาคตการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีทรานสเฟอร์โซมในอุตสาหกรรมการผลิตยาและเครื่องสำอาง


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เจลทรานสเฟอร์โซมทรานสเฟอร์โซมTransfersomesนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยไทยวิทยาศาสตร์นวัตกรรมInnovationInnovation Tech Thai Innovation Tech WorldThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ