ทำความรู้จักดาวเทียม GOES-U ดาวเทียมพยากรณ์อากาศดวงใหม่


Logo Thai PBS
ทำความรู้จักดาวเทียม GOES-U ดาวเทียมพยากรณ์อากาศดวงใหม่

ดาวเทียม GOES-U ดาวเทียมพยากรณ์อากาศขนาด 5 ตันกำลังจะเดินทางออกนอกโลก “ดาวเทียมพยากรณ์อากาศ” ที่ใหญ่โตนี้มีความพิเศษอย่างไร แล้วทำไมสหรัฐฯ จึงลงทุนในเทคโนโลยีระบบ “พยากรณ์อากาศ” อย่างมากมายมหาศาล

ดาวเทียม GOES-U เป็นดาวเทียมในตระกูล Geostationary Operational Environmental Satellites (GOES) ซึ่งเป็นขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) ซึ่งมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Falcon Heavy ในวันที่ 25 มิถุนายน 2024 ตัวดาวเทียมได้ออกแบบให้อยู่ที่ระดับวงโคจรค้างฟ้า และมีตำแหน่งที่โคจรค้างอยู่เหนือท้องฟ้าบริเวณซีกตะวันตกของทวีปอเมริกา นับเป็นดาวเทียมดวงสุดท้ายในตระกูล GOES

ภาพการตรวจสอบดาวเทียม GOES-U ของวิศวกร NASA ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี

ความพิเศษของดาวเทียมดวงนี้คือการที่มันใหญ่มาก ๆ ซึ่งขนาดของมันเมื่อรวมกับขนาดของแผงสุริยะที่ใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว มันใหญ่พอ ๆ กับบ้านหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งเลยทีเดียว และดาวเทียมดวงนี้ยังมีน้ำหนักที่มากถึง 5 ตัน และต้องขึ้นไปโคจรอยู่ในวงโคจรระดับสูงรอบโลก นั้นทำให้มันต้องถูกส่งขึ้นไปด้วยจรวด Falcon Heavy

ภาพถ่ายดาวเทียม GOES-U ที่ถูกบรรจุลงในห้องสัมภาระของจรวด Falcon Heavy

ดาวเทียม GOES-U มีการติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์มากมาย แต่ตามหน้าที่หลักที่ทำหน้าที่ในการสำรวจสภาพอากาศในชั้นบรรยากาศ มันมีหน้าที่ในการถ่ายภาพก้อนเมฆที่ลอยอยู่เหนือชั้นบรรยากาศ และตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศแบบทันท่วงที (Real-time) และด้วยความที่กล้องถ่ายภาพของ GOES-U นั้นมีความละเอียดที่สูงมาก มันสามารถตรวจจับรายละเอียดของกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งปกติและไม่ปกติ เช่น เหตุการณ์ไฟป่า การปะทุของภูเขาไฟ หรือหมอกควัน และแจ้งเตือนเข้าสู่ระบบทางภาคพื้นดินเป็นลำดับต่อไป

ดาวเทียมดวงนี้ยังติดตั้งกล้องถ่ายภาพปรากฏการณ์ฟ้าแลบและฟ้าผ่าในชั้นบรรยากาศอีกด้วย ซึ่งเหตุผลที่ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับฟ้าผ่าก็เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ฝนฟ้าคะนองเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะและชนิดของเมฆกับฝนฟ้าคะนอง ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากในการศึกษาความสัมพันธ์ของอากาศที่จะแปรปรวนมากยิ่งขึ้นจากภาวะโลกเดือด

ภาพถ่ายโลกทั้งใบจากดาวเทียม GOES-T ที่ถ่ายจากบริเวณซีกตะวันตกของทวีปอเมริกา

นอกจากอุปกรณ์เพื่อใช้สำรวจสภาพในชั้นบรรยากาศของโลกแล้ว ดาวเทียมยังติดตั้งอุปกรณ์เพื่อศึกษาดวงอาทิตย์และสภาพอวกาศอีกด้วย บนดาวเทียมได้ติดตั้งกล้องถ่ายภาพที่จะทำหน้าที่หันไปทางดวงอาทิตย์เพื่อคอยถ่ายภาพและจับตาดูปรากฏการณ์บนพื้นผิวของดวงอาทิตย์และแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุพายุสุริยะเคลื่อนที่มาทางโลก เพื่อให้โลกเตรียมรับมือกับการเดินทางมาถึงของพายุสุริยะ

ดาวเทียม GOES-U นั้นมีขนาดที่ใหญ่มากเป็นเพราะว่าดาวเทียมถูกออกแบบให้มีอายุการใช้งานบนวงโคจรอยู่ที่ 15 ปี ทำให้ต้องบรรทุกเชื้อเพลิงเข้าไปในตัวดาวเทียมเป็นจำนวนมากเพื่อให้เพียงพอกับอายุการใช้งาน นอกจากนี้กล้องถ่ายภาพของดาวเทียมดวงนี้ก็มีประสิทธิภาพที่สูงมากจึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่รองรับการติดตั้งกล้องถ่ายภาพ ดังนั้นนี่คือสาเหตุว่าทำไมดาวเทียมดวงนี้จึงมีขนาดที่ใหญ่เป็นพิเศษ

ภาพวาดดาวเทียม GOES-U จาก NOAA

การที่สหรัฐอเมริกาและชาติมหาอำนาจอื่น ๆ เลือกที่จะลงทุนในระบบอุตุนิยมวิทยาและการพยากรณ์อากาศเป็นเพราะว่าประเทศเหล่านั้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศ ชีวิตของผู้คนนั้นขึ้นอยู่กับกิจกรรมลม ฟ้า อากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝนตก น้ำท่วม พายุ หรือแม้แต่ภัยแล้ง สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบกับชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งนั่นส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย การพยากรณ์อากาศจัดว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้ผู้คนสามารถวางแผนบริหารความเสี่ยงในชีวิตของตัวเองได้ วางแผนเพาะปลูก ไปจนถึงวางแผนทางเศรษฐกิจในรายไตรมาสได้ ดังนั้นนี่คือเหตุผลสำคัญของการที่ชาติมหาอำนาจเลือกที่จะลงทุนในระบบอุตุนิยมวิทยาที่มีราคาแพง

เพราะความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ราคาแพงมากกว่าการลงทุนในความรู้ที่จะจัดการกับความเสี่ยงเสมอ

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : noaa

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวเทียม GOES-UGOES-Uดาวเทียมพยากรณ์อากาศดาวเทียมพยากรณ์อากาศNOAAThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech เทคโนโลยีTechnologyนวัตกรรมInnovationInnovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends