ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เทคฮอร์โมน” กับเส้นทางชีวิตที่เลือกเดิน : “เกรซ ลูกเสี่ยเจียง”


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

29 มิ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“เทคฮอร์โมน” กับเส้นทางชีวิตที่เลือกเดิน : “เกรซ ลูกเสี่ยเจียง”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1337

“เทคฮอร์โมน” กับเส้นทางชีวิตที่เลือกเดิน : “เกรซ ลูกเสี่ยเจียง”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ว่าด้วยเรื่อง “เทคฮอร์โมน” Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech พาไปทำความเข้าใจการ “ข้ามเพศ” ด้วยการรับฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย จากประสบการณ์จริงของ “เกรซ” นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ อดีตนักแสดงเด็กจากภาพยนตร์เรื่องข้าวเหนียวหมูปิ้ง, เอ๋อเหรอ โดยนอกจากมีผลงานการแสดงแล้วยังเป็นที่รู้จักเนื่องจากเป็น “ลูกเสี่ยเจียง” สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ แห่งค่ายหนังสหมงคลฟิล์มฯ มาถ่ายทอดเป็นองค์ความรู้ - กรณีศึกษา เนื่องในโอกาส Pride Month 2024

เทคฮอร์โมน คืออะไร ?

รศ.พญ. ฉันท์สุดา พงศ์พันธุ์ผู้ภักดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ระบุว่า การเทคฮอร์โมน เป็นศัพท์ที่ใช้กันในกลุ่มบุคคลข้ามเพศ ที่อาจจะมีความรู้สึกนึกคิดว่าตัวตนของตนเองเกี่ยวกับเรื่องเพศ ไม่ตรงกับเพศกำเนิด การเทคฮอร์โมนรวมถึงการใช้ฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นการกิน หรือว่าการฉีดฮอร์โมน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้เป็นเพศที่เหมาะสมกับตนเองหรือว่าอาจจะใช้ศัพท์เทคนิคว่า "อัตลักษณ์ทางเพศ"

รศ.พญ. ฉันท์สุดา พงศ์พันธุ์ผู้ภักดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิธีการใช้ฮอร์โมนกับกลุ่มคนข้ามเพศ

สำหรับวิธีการใช้ฮอรโมน ขึ้นอยู่กับเพศที่จะเป็น เช่น หญิงข้ามเพศ หรือที่เรียกกันว่า "กะเทย" ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแล้วก็ต้องการเป็นเพศหญิง ก็จะใช้ยาคุมกำเนิดในสมัยโบราณ หรือว่าในยุคนี้ก็จะมีการใช้ยาเพื่อกดฮอร์โมนเพศชายแล้วก็ใช้ฮอร์โมนเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นการกิน การทาเจล หรือว่าการฉีดฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย เพื่อยับยั้งฮอร์โมนเพศเดียว และทำให้ลักษณะของเพศใหม่ที่เป็นเพศหญิงชัดเจนขึ้น

ส่วนกลุ่มชายข้ามเพศ หรือที่เรียกกันว่า "ทอม" หมายถึง คนที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิง แต่ว่าอัตลักษณ์ทางเพศหรือว่าความรู้สึกตัวตนในเรื่องเพศของตนเอง เป็นเพศชาย กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ ก็จะใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนเพศชายเข้าสู่ร่างกายเป็นหลัก แต่ว่าก็มีบ้างที่ใช้การกิน การทายา ทาเจล ทาครีม

“ประสิทธิภาพของการใช้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของยา คล้าย ๆ กับกินยาลดความดัน ซึ่งยาแต่ละตัวก็อาจจะมีกลไกแตกต่างกัน แต่ว่าปัจจุบันก็มียาเพียงแค่กลุ่มเดียวที่ได้รับการยืนยัน และได้รับการรับรองทางการแพทย์ สำหรับใช้เพื่อการข้ามเพศ ไม่ใช่ว่ายาทุกตัวใช้ได้เหมือนกัน มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยเท่ากัน” รศ.พญ. ฉันท์สุดา อธิบาย

ทำไมไม่ควรใช้ “ยาคุมกำเนิด” เพื่อ “เทคฮอร์โมน”

รศ.พญ. ฉันท์สุดา กล่าวว่า โดยทั่วไปทางการแพทย์ ไม่แนะนำที่จะให้ใช้ “ยาคุมกำเนิด” เพื่อเป็นการเพิ่มลักษณะทางเพศหรือว่าเพื่อยืนยันเพศสภาพ แต่ว่าปัจจุบันนี้ที่เราใช้กันทางการแพทย์ จะเป็นฮอร์โมนที่สังเคราะห์ขึ้นมาที่เลียนแบบได้ใกล้เคียงกับฮอร์โมนที่มีในร่างกายของเพศหญิงมากขึ้น เพราะฉะนั้นผลข้างเคียงหรือว่าอันตรายที่จะเกิดกับอวัยวะต่าง ๆ ก็จะน้อยลง

ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นกลุ่มหรือว่าเป็นบุคคลข้ามเพศต้องเทคฮอร์โมน จริง ๆ การข้ามเพศ ถ้าเกิดเป็นบุคคลข้ามเพศ แต่ว่าสามารถปรับตัวได้กับร่างกายที่เป็นอยู่หรือว่าใช้วิธีการอื่นเพื่อที่จะให้ลักษณะนี้ไปทางเพศที่ตรงกับใจหรือว่ากับตัวตนมากขึ้น 

เช่น อาจจะแต่งหน้าทำผมแต่งตัว หรืออะไรที่ทำให้มีความสุข กลุ่มนี้ไม่ได้จำเป็นจะต้องได้รับฮอร์โมน เพราะว่าการได้รับฮอร์โมนมันก็มีความเสี่ยง เพราะไม่ใช่สารที่สร้างขึ้นโดยร่างกายเรา แต่ว่ากลุ่มที่ต้องการฮอร์โมนจริง ๆ หรือว่าฮอร์โมนมีประโยชน์กับเขาจริงๆ ก็คือกลุ่มที่มีความทุกข์ใจอย่างมากในการที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับสิ่งที่ใจต้องการที่จะเป็นมากกว่า

“การเทคฮอร์โมนด้วยตนเอง โดยที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์ หรือไม่ได้มีการติดตาม ในระยะยาวอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้” 

 

อยาก “เทคฮอร์โมน” เรื่องที่ต้องรู้มากกว่า “รู้ตัวเอง” 

เพราะทุกคนสามารถเลือกเพศของตัวเอง “เกรซ” นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ เผยใจออกมาให้ทุกคนได้เข้าใจว่า ด้วยความที่รู้ใจตัวเองว่าเราเป็น T (Transgender) จึงมีการไปพบจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาในเรื่องดังกล่าว เช่น รู้สึกว่าไม่ประสาน-สอดคล้องกับร่างกายตัวเอง ไม่อยากเป็นเพศที่เรากำเนิดมา เป็นต้น เพื่อหาที่มาว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร

เมื่อเข้าใจ-มั่นใจแล้วว่าเราเป็นเพศอะไร อยากให้เราตั้งสติว่าปัจจุบันมีเพศที่อยากหลากหลายมาก เช่น LGBTQIAN+ ซึ่งการเป็น เช่น T (Transgender) ก็เป็นหนึ่งในเพศที่อยู่ในนั้น เราจะรู้สึกสบายใจขึ้น ใน Spectrum ที่ตรงไหนคือเรา

จากความเข้าใจ-รู้ตัวเองในเรื่องดังกล่าว แล้วมั่นใจว่าอยาก “เทคฮอร์โมน” จึงปรึกษากับแพทย์หรือสถานพยาบาล เพราะการ “ข้ามเพศ” ด้วยการรับฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ร่างกายของเราเปลี่ยนไป (หญิงข้ามเพศ, ชายข้ามเพศ) โดยขึ้นอยู่กับเราว่าพอใจ หรือรู้สึกกับเพศสภาพของเราอย่างไร ซึ่งบางคนอาจจะต้องการข้ามเพศ 100% เป็นต้น (ความต้องการของแต่ละคนไม่เท่ากัน)

สำหรับคนที่ตัดสินใจ “เทคฮอร์โมน” ตัวเอง ต้องขออนุญาตผู้ปกครอง (กรณียังไม่บรรลุนิติภาวะ) รวมถึงต้องหาข้อมูล หาศูนย์ปรึกษาใกล้บ้าน เพื่อการเทคฮอร์โมนที่ถูกต้อง
 

“เกรซ นวรัตน์” แชร์ประสบการณ์เทคฮอร์โมน

ในการเทคฮอร์โมน “เกรซ นวรัตน์” อธิบายว่า การข้ามเพศจะมีหลายแบบ เช่น หญิงไปชาย ชายไปหญิง ซึ่งวิธีจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่ที่หมอแนะนำ ว่าวิธีไหนที่จะเข้าและเหมาะกับร่างกายบุคคลนั้น ๆ เนื่องจากไม่มีวิธีการตายตัวว่าจะต้องฉีด หรือกิน เป็นต้น

สำหรับผู้หญิงเพิ่มฮอร์โมนเพื่อเป็นผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นการฉีด ส่วนผู้ชายเป็นผู้หญิงจะมีทั้งการฉีดการกิน ซึ่งอยู่ที่ร่างกายของคน ๆ นั้น รวมถึงกระบวนการ-ขั้นตอนที่อาจจะไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของ “เพศสภาพ” ที่เราต้องการขนาดไหน จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนเรียงเหมือน ๆ กัน

ซึ่งในส่วนของ “เกรซ” คือเริ่มจากการเข้าไปพบจิตแพทย์ ก่อนที่จะมีการ “เทคฮอร์โมน” โดยการ “ฉีด” โดยก่อนเริ่มฉีดฮอร์โมนนั้น จะมีการตรวจเลือด แล้วจึงเพิ่มฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย ส่วนความถี่ในการฉีดจะเฉพาะบุคคล ซึ่งมีทั้งแบบรายสัปดาห์ รายเดือน รวมถึงควรทำตามคำแนะนำจากคุณหมอหรือสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัดด้วย

การเทคฮอร์โมน พูดให้เห็นภาพก็คือการเติมฮอร์โมนในตัวเราไปเรื่อย ๆ ซึ่งต้องดูค่าเลือดและค่าอื่น ๆ ควบคู่กันไป 

 

“เทคฮอร์โมน” ต้องฉีดฮอร์โมนบ่อยแค่ไหน ?

เรื่องนี้ “เกรซ นวรัตน์” ให้ความรู้ว่า การ “เทคฮอร์โมน” ไม่จำเป็นต้องทำไปตลอด แล้วแต่ความพอใจของแต่ละคน อย่างเช่น บางคนอาจพอใจที่ตัดหน้าอกเหมือนผู้ชายอย่างเดียว ก็อาจไม่ต้องเทคฮอร์โมน แต่เกรซต้องการมากกว่านั้น จึงมีการเทคฮอร์โมนเพิ่มเติม

เกรซตัดสินใจตัดสิ่งผลิตฮอร์โมนเพศหญิงก็คือ รังไข่ออก ทำให้ต้องเทคฮอร์โมนไปตลอด แต่สำหรับคนที่สนใจเทคฮอร์โมนที่อายุยังน้อย แพทย์อาจจะมีคำแนะนำว่า ร่างกายยังสามารถผลิตฮอร์โมนเองได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องตัดรังไข่ออก ก็สามารถเทคฮอร์โมนน้อยลง ซึ่งตรงนี้อยู่ที่ความพอใจของแต่ละคน ว่าต้องการขนาดไหน เช่น อยากไปให้สุดเหมือนผู้ชาย 100% ซึ่งตนเองคิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงจุดนั้น

สำหรับ “ค่าใช้จ่าย” จะขึ้นอยู่กับโดสฮอร์โมน อยู่ที่ความพอใจของเรา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากบางทีเติมฮอร์โมนมากเกินไป อาจผลเสียต่อร่างกายได้ เหมือนกับเวลาที่เรากินอะไรเยอะเกินไป ก็จะส่งผลเสีย เช่น เกิดการสวิงเกิดขึ้น เป็นต้น

อยากฝากถึงคนที่สนใจเรื่องเทคฮอร์โมน เกรซมองว่าเรื่องการข้ามเพศ ยังเป็นความรู้ในกลุ่มเฉพาะ ซึ่งการจะข้ามเพศ นอกจากเราจะต้องมีความมั่นใจ รู้ตัวเราเอง อยากจะทำแล้ว ยังต้องปรึกษาคนรอบข้าง ปรึกษาแพทย์ด้วย
 

เกิดเอฟเฟกต์อะไรบ้าง เมื่อเรา “เทคฮอร์โมน”

“เกรซ นวรัตน์” เล่าว่า อาการเอฟเฟกต์มีอยู่แล้วแต่จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น มีสิวขึ้น เป็นต้น สำหรับตนเองในเชิงกายภาพมีเอฟเฟกต์ เช่น เสียงเปลี่ยน ผิวมันขึ้น ส่วนในเชิงอารมณ์ ค่อนข้างน้อยแต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่บุคคล ซึ่งอาจมีในเรื่องของกรรมพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

เนื่องจากเกรซตัดรังไข่ออก สิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับมาได้ แต่ถ้าไม่ได้ตัดรังไข่ออก ก็จะมีการย้อนกลับมา ร่างกายก็จะเริ่มผลิตฮอร์โมนตามเพศธรรมชาติ 

 

“เทคฮอร์โมน” กับค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายไม่ได้แพงมาก “เกรซ นวรัตน์” เอ่ย ก่อนเสริมว่า ด้วยความที่การเทคฮอร์โมนคือการเพิ่มฮอร์โมนที่เราอยากจะเป็นเพศนั้น ให้มีฮอร์โมนเพศที่อยากเป็นมากกว่าฮอร์โมนเพศธรรมชาติ ซึ่งจุดเริ่มต้นการเทคฮอร์โมนมาจากการบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้ชายและผู้หญิงเมื่ออายุมากฮอร์โมนเพศจะลดลงจึงต้องมีการเพิ่มฮอร์โมนเพื่อพยุงไม่ให้ฮอร์โมนต่ำ ด้วยการเทคฮอร์โมน หรือ Hormone Replacement Therapy (HRT) เพราะเมื่อฮอร์โมนน้อยลงก็จะทำให้เราเหนื่อยง่าย เกิดผลกับร่างกาย จึงต้องมีการเสริมสร้างฮอร์โมนขึ้นมา ซึ่งตรงนี้เป็นการบำบัดของมนุษย์อยู่แล้ว

ท้ายการสัมภาษณ์ “เกรซ นวรัตน์” เปลื้องใจว่า ไม่อยากให้มองการ “เทคฮอร์โมน” เป็นการโปรโมต แต่อยากให้มองเรื่องการให้โอกาสให้เขาได้เป็นเพศที่อยากจะเป็นจริง ๆ โดยที่คนรอบข้างเข้าใจและซัปพอร์ต เกรซคิดว่าหากเราไม่ได้เป็นคนที่ประสบปัญหานี้อยู่ เราจงเป็นคนที่ทำให้พื้นที่นี้น่าอยู่ หมายถึงว่าคนรอบข้างที่ฟังอยู่อาจจะไม่ได้ identify กับการเป็น Spectrum ของเพศอื่น ๆ ถ้าเราเป็นผู้หญิง-ผู้ชาย เป็นคนธรรมดา ควรทำพื้นที่นี้คนที่ประสบปัญหานี้รู้สึกปลอดภัย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสบายใจ มีอิสรภาพทางเพศและความสุข

 


📌 อ่านเรื่องที่น่าสนใจเพิ่มเติม

5 ผลกระทบ “เทคฮอร์โมน” เมื่อการข้ามเพศ มีราคาต้องจ่าย ! 
Gender Binary กรอบการแบ่งเพศแบบหญิง-ชายที่ทำร้ายคนทุกเพศ 
5 ข้อควรรู้ เข้าใจสิทธิ “การแปลงเพศ” อย่างรอบด้าน  

 

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

LGBTQIAN+เทคฮอร์โมนทรานส์เจนเดอร์TransgenderPride Monthวิทยาศาสตร์Thai PBSThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด