Astroscale กับภาพถ่ายขยะอวกาศที่ใกล้ที่สุด กับความหวังห้วงอวกาศสะอาด


Logo Thai PBS
แชร์

Astroscale กับภาพถ่ายขยะอวกาศที่ใกล้ที่สุด กับความหวังห้วงอวกาศสะอาด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1314

Astroscale กับภาพถ่ายขยะอวกาศที่ใกล้ที่สุด กับความหวังห้วงอวกาศสะอาด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ขยะอวกาศกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมอวกาศและการสำรวจอวกาศ ตอนนี้มีหลายบริษัท Startup ที่พัฒนาแนวคิดการจัดการกับขยะอวกาศ หนึ่งในนั้นคือ Astroscale บริษัท Startup ของญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นไปที่การเก็บขยะอวกาศ และทางบริษัทได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปเพื่อทดลองปรับวงโคจรเข้าไปใกล้กับขยะอวกาศมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ปัจจุบันข้อมูลปริมาณขยะอวกาศจากการคาดการณ์ขององค์การบริหารอวกาศมีอยู่ที่ประมาณ 170 ล้านชิ้น ซึ่งส่วนมากเป็นขยะชิ้นเล็กที่มีขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร ขยะเหล่านี้เป็นอันตรายกับดาวเทียมและยานอวกาศที่อยู่ในวงโคจรเป็นอย่างมาก ถึงแม้พวกมันส่วนมากจะมีขนาดที่เล็ก แต่ว่าหากมันพุ่งชนเข้ากับยานอวกาศ มันก็ก่อให้เกิดความเสียหายได้ เช่น ความเสียหายของกระจกกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ STS-7 ที่ถูกขยะอวกาศขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตรพุ่งชน

ภาพถ่ายร่องรอยการถูกขยะอวกาศชนของกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ในเที่ยวบิน STS-118

อุตสาหกรรมอวกาศในตอนนี้กำลังกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของขยะอวกาศภายในวงโคจรของโลก ทำให้เกิดบริษัท Startup ขึ้นมามากมายที่ดำเนินมุ่งเน้นธุรกิจไปที่การจัดการกับขยะอวกาศในวงโคจรของโลก หนึ่งในนั้นคือบริษัท Astroscale บริษัท Startup ด้านอวกาศของญี่ปุ่นที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้เก็บขยะอวกาศในวงโคจรต่ำของโลก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการกำจัดขยะอวกาศอยู่

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทางบริษัทได้ส่งยาน ADRAS-J หรือ Active Debris Removal by Astroscale-Japan ด้วยจรวด Electron ของ Rocket Lab เดินทางสู่อวกาศ มีเป้าหมายสาธิตการเดินทางไปเจอกับขยะอวกาศบนวงโคจรโดยอาศัยข้อมูลจากหลายด้านในการจัดปรับวงโคจรเพื่อเดินทางไปถึงเป้าหมาย เป้าหมายแรกของ ADRAS-J คือชิ้นส่วน Upper Stage ของจรวด H-II ของ JAXA ซึ่งตัวยานสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายในระยะห่างประมาณหลายกิโลเมตรในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ภาพถ่ายกระจกของกระสวยอวกาศชาร์เลนเจอร์เที่ยวบินที่ STS-7 ถ_ูกพุ่งชนด้วยขยะอวกาศขนาดเล็กในวงโคจร

และเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมาทางบริษัทได้เผยภาพถ่ายขยะอวกาศดังกล่าวจากระยะห่างเพียงแค่ 50 เมตร และได้ใช้อุปกรณ์บนยานวิเคราะห์ตัวขยะชิ้นนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บขยะอวกาศในอนาคต ทาง Astroscale ระบุว่ายังไม่มีแผนดำเนินการใด ๆ กับขยะอวกาศชิ้นดังกล่าว แต่นับว่าเป็นก้าวสำคัญของมนุษยชาติกับการดำเนินการกับขยะอวกาศที่อยู่บนวงโคจรรอบโลกที่นับวันมีแต่จะมากขึ้นจากความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมอวกาศในปัจจุบัน

การเดินทางไปยังขยะอวกาศนั้นยากและท้าทายกว่าการเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติหรือยานอวกาศที่ยังปฏิบัติการอยู่ในวงโคจร เนื่องจากเราไม่ทราบแน่ชัดว่าตัวชิ้นส่วนขยะอวกาศอยู่ที่ตำแหน่งใดและวงโคจรใดอย่างแน่นอน ทำให้สิ่งที่ทำได้คือการคาดการณ์จากข้อมูลที่มีอยู่จากเส้นทางการปล่อย วงโคจรก่อนสูญเสียการติดต่อ อัตราสูญเสียความเร็วจากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศ และข้อมูลการสังเกตจากภาคพื้นดิน ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องถูกนำมาประกอบกันเพื่อสร้างเส้นทางวงโคจรใหม่ของขยะอวกาศชิ้นนั้น ถึงแม้จะคาดคะเนข้อมูลเหล่านี้ได้แต่ก็ยังไม่เป็นข้อมูลที่ไม่แน่นอน และยากต่อการส่งยานอวกาศเดินทางเข้าไปใกล้จริง

ภาพถ่าย Upper stage ของจรวด H-II ของ Jaxa ที่ถูกถ่ายโดยยาน ADRAS-J ของ Astroscale ในระยะห่างเพียง 50 เมตร

ในอนาคตทางบริษัท Astroscale คาดหวังว่าจะสามารถสร้างยานอวกาศที่สามารถเข้าไปจับกับขยะอวกาศแล้วดำเนินการกับขยะอวกาศชิ้นนั้นต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับขยะชิ้นนั้น จนไปถึงการลากมันกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเพื่อให้เผาไหม้

Astroscale เป็นบริษัท Startup อวกาศที่น่าจับตามองในด้านความแปลกใหม่ เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ในช่วงปี 2019-2020 และได้รับเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนญี่ปุ่นและนานาชาติ จากแนวคิดในการดำเนินการจัดการกับขยะอวกาศ ซึ่งผลจากการดำเนินการส่งยานอวกาศเข้าไปใกล้กับขยะอวกาศในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะพามนุษยชาติเข้าใกล้วันที่เราสามารถทำให้อวกาศเหนือท้องฟ้าของเรากลับมาสะอาดได้อีกครั้ง

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : astroscale, esa, esoc.esa

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ขยะอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด