Edward Stone นักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลัง “โครงการวอยเอเจอร์” ร่วม 50 ปี


Logo Thai PBS
แชร์

Edward Stone นักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลัง “โครงการวอยเอเจอร์” ร่วม 50 ปี

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1302

Edward Stone นักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลัง “โครงการวอยเอเจอร์” ร่วม 50 ปี
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ข่าวการเสียชีวิตของ Dr. Edward Stone ได้ถูกเผยแพร่ในชุมชนวิทยาศาสตร์และอวกาศ หลายคนต่างเสียใจกับการจากไปของเขา มาร่วมทำความรู้จักนักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการวอยเอเจอร์ถึง 50 ปีเพื่อเป็นการรำลึกถึงชายผู้อุทิศชีวิตเพื่อวิทยาศาสตร์คนนี้

Edward Carroll Stone นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการวอยเอเจอร์ เขาจบการศึกษาปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์อวกาศจากมหาวิทยาลัยชิคาโก เข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ในสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย หรือ CalTech ระหว่างนั้นเขาก็ได้รับงานเสริมมาทำในเวลาว่าง นั่นคือการเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ในโครงการวอยเอเจอร์

ภาพถ่าย Edward Stone ในช่วงปี 1972 ที่เขาได้รับตำแหน่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการวอยเอเจอร์

เขาเข้าร่วมการเป็นหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ในโครงการวอยเอเจอร์เมื่อปี 1972 ตั้งแต่ตัวโครงการสำรวจได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และตัวโครงการยังไม่ได้มีชื่อว่าวอยเอเจอร์ (Voyager) ในช่วงเริ่มต้นมันมีชื่อ Mariner Jupiter-Saturn โครงการยานฝาแฝดที่มีภารกิจหลักในการสำรวจดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ และดวงจันทร์ไททัน และภารกิจรองกับการเดินทางสำรวจดาวเคราะห์วงนอกครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กับเส้นทาง Planetary Grand Tour ที่ยานอวกาศเพียงลำเดียวสามารถเดินทางไปสำรวจยังดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ขนาดใหญ่ทั้งสี่ดวง

ในเวลานั้นเขาแค่คิดว่าอยากทำงานกับ NASA ในเวลาว่างหลังจากการสอนที่ Caltech ซึ่งหลังจากที่ยานวอยเอเจอร์ทั้งสองลำออกเดินทางสู่ห้วงอวกาศ หน้าที่ของเขาคือการดูแลคณะนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนร่วมกับโครงการวอยเอเจอร์ทั้งหมด 11 ทีม ที่มีกันมากกว่า 200 ชีวิต ด้วยหน้าที่ที่เขาเป็นหัวหน้าซึ่งดูแลงานด้านวิทยาศาสตร์ อีกหนึ่งงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการกลายเป็นโฆษกของโครงการวอยเอเจอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยานวอยเอเจอร์เดินทางโฉบผ่านดาวเคราะห์เป้าหมาย เช่น ในช่วงที่ยานวอยเอเจอร์ 1 โฉบผ่านดาวพฤหัสบดี ในคืนที่วอยเอเจอร์ 1 เข้าสู่ระยะของดาวพฤหัสบดี ในคืนนั้นเขาเลือกที่จะทำงานล่วงเวลาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและเตรียมการนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการโฉบผ่านดาวพฤหัสบดีโดยทันที เพราะเขารู้ดีว่าสื่อมวลชนย่อมตื่นเต้นกับข่าวการเดินทางโฉบดาวพฤหัสบดีครั้งแรกของยานวอยเอเจอร์ 1 อย่างแน่นอน

เพราะการที่เขามองเห็นความสนใจของมวลชนที่มีต่อตัวโครงการอวกาศแล้วใช้มันอย่างถูกวิธี ทำให้โครงการวอยเอเจอร์กลายเป็นโครงการที่อยู่ในความทรงจำเกี่ยวกับอวกาศของใครหลาย ๆ คน สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชนที่ติดตามข่าววิทยาศาสตร์อยู่จากทางบ้าน และถึงแม้ข่าวมันจะออกไปแล้ว Stone ก็ไม่ได้หยุดแค่หลังจากที่ข่าวออกไปแล้ว เขายังทบทวนการนำเสนอข่าวของเขาว่าการนำเสนอเหมาะสมหรือไม่แล้วมีจุดบกพร่องอย่างไรบ้างเพื่อเตรียมตัวในการทำการนำเสนอในวันถัดไป

เพราะการออกแบบการดำเนินการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเขาทำให้ยานวอยเอเจอร์เป็นหนึ่งในยานอวกาศที่เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญกลับมาได้มากมาย ซึ่งกลายเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับวงการวิทยาศาสตร์และอวกาศในโลกเป็นอย่างมาก ทำให้หลังจากการปฏิบัติภารกิจโฉบผ่านดาวเนปจูนของวอยเอเจอร์ 2 สิ้นสุดลง เขาได้รับรางวัลในฐานะนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมากมาย แต่เขาเลือกที่จะกล่าวว่าหลังจากที่วอยเอเจอร์ 2 ผ่านดาวเนปจูนไปแล้ว แต่งานของเขายังไม่จบ วอยเอเจอร์ยังมีงานที่จะต้องทำต่อคือการสำรวจสภาพอวกาศห้วงลึกที่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์

ภาพถ่าย Edward Stone กับยานวอยเอเจอร์สำรองเป็นฉากหลัง

ในปี 1991-2001 เขาเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น หรือ Jet Propulsion Laboratory (JPL) เขาเป็นผู้นำที่พาองค์กรฝ่าวิกฤติและเป็นผู้ดูแลโครงการสำคัญในช่วงเวลานั้นต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Mars Pathfinder และ Mars Global Surveyor รวมถึงโครงการอื่น ๆ ในเวลานั้น ถึงแม้ว่าเขาจะทำงานในฐานะระดับสูงในองค์กรที่เขาทำงานรับใช้มาโดยตลอดแล้ว เขาก็ยังคงใส่ใจในงานที่เขาปลุกปั้นมาโดยตลอดอย่างการดูแลเรื่องข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากยานวอยเอเจอร์ที่กำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะอย่างต่อเนื่องด้วย

แม้ในวันที่ยานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางออกไปจนสุดขอบของระบบสุริยะในช่วงปี 2011 เขาก็ยังมีส่วนร่วมในการตัดสินใจผลการวิเคราะห์ข้อมูลและการออกแบบการตรวจวัดกระแสลมสุริยะในจุดที่เรียกว่า Heliopause ที่เป็นจุดที่นักดาราศาสตร์นิยามไว้ว่าคือขอบของระบบสุริยะของเรา

และด้วยการทำงานของเขาทำให้เขากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับยานวอยเอเจอร์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ เขาเกษียณตัวเองในปี 2022 รวมระยะเวลาทำงานกับโครงการวอยเอเจอร์ทั้งหมดคือ 50 ปี ตลอดช่วงอายุของเขา เขาก็มักจะพูดติดตลกว่า “ตัวเขาหรือยานวอยเอเจอร์ใครจะไปก่อนกัน” เสมอ แต่คำตอบกลับเป็นตัวเขาที่จากไปก่อนยานวอยเอเจอร์

Edward Stone จากเราไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2024 ด้วยอายุรวม 88 ปี เกินครึ่งหนึ่งของชีวิตเขานั้นได้อยู่ร่วมกับยานอวกาศที่เขารักและได้ปลุกปั้นมันขึ้นมากับมือ ถึงแม้ว่าเขาจะจากเราไปแล้ว และอีกไม่นานยานอวกาศทั้งสองลำก็จะต้องหยุดทำงานลงไปด้วยเหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งตัวเขาและยานอวกาศได้มอบให้กับเราคือการทำให้เราได้รู้จักการส่งต่อความรู้ เพราะตัวเขาทุ่มเทพลังในการทำงานของเขาไม่ใช่กับแค่งานวิทยาศาสตร์ แต่เขายังทุ่มเทให้กับการสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ออกไปให้กับสาธารณชนด้วย และนั้นทำให้ยานวอยเอเจอร์กลายเป็นหนึ่งในยานที่เป็นยานที่โดดเด่นและอยู่ในความทรงจำของใครหลาย ๆ คน

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : spaceth, NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Edward StoneEdward Carroll Stoneโครงการวอยเอเจอร์Voyagerนักวิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomyอวกาศ
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด