ไข่ใหญ่กว่าพันธุ์อื่น 2 เท่า ! “แม่หมึก” อุ้มไข่ด้วยหนวด เพื่อลูกปลอดภัย


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

18 มิ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ไข่ใหญ่กว่าพันธุ์อื่น 2 เท่า ! “แม่หมึก” อุ้มไข่ด้วยหนวด เพื่อลูกปลอดภัย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1296

ไข่ใหญ่กว่าพันธุ์อื่น 2 เท่า ! “แม่หมึก” อุ้มไข่ด้วยหนวด เพื่อลูกปลอดภัย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

โลกใต้ทะเลลึกยังมีสิ่งรอการค้นพบอีกมากมาย ! ทีมนักวิจัยได้ทำการสำรวจอ่าวแคลิฟอร์เนีย ที่ระดับความลึกเกินกว่าแสงแดดจะส่องถึง ด้วยหุ่นยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกล “ROV Doc Ricketts” ได้ประสบพบเจอเข้ากับ “แม่หมึก” ลึกลับไม่ทราบสายพันธุ์ ซึ่งกำลังโอบอุ้มไข่ด้วยหนวดยักษ์เพื่อความปลอดภัยระหว่างรอเด็ก ๆ ลืมตาดูโลก โดยทีมวิจัยได้สังเกตถึงความพิเศษคือ “ไข่หมึก” มีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่นประมาณ 2 เท่า ! แต่ไข่นั้นกลับมีเพียงประมาณ 30 - 40 ฟองเท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับหมึกทะเลลึกสายพันธุ์อื่นที่จะมีไข่รอการฟักเป็นตัว 2,000 - 3,000 ฟองเลยทีเดียว

หมึกยักษ์อุ้มไข่ ภาพจาก MBARI

การวิจัยครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง สถาบันวิจัยทางทะเล “MBARI” (Monterey Bay Aquarium Research Institute), GEOMAR Helmholtz Centre for Ocean Research Kiel และ the University of South Florida ได้ตรวจสอบภาพของ “ROV Doc Ricketts” หุ่นยนต์สำรวจอ่าวแคลิฟอร์เนีย พบว่า ได้เจอเข้ากับ “แม่หมึก” อุ้ม “ไข่ยักษ์” ไว้ด้วยหนวด ที่ระดับความลึก 2,566 เมตร (8,419 ฟุต) บริเวณเขตทะเลน้ำลึก โดยไข่หมึกแต่ละฟองมีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุด 11.7 มิลลิเมตร (0.46 นิ้ว) ทั้งนี้ทีมวิจัยได้สันนิษฐานว่าหมึกตัวดังกล่าวน่าจะเป็นหมึกในวงศ์ Gonatidae

Steven Haddock นักวิทยาศาสตร์จาก MBARI กล่าวว่า ทะเลน้ำลึกเป็นพื้นที่อยู่อาศัยใหญ่ที่สุดในโลก และยังมีอีกมากที่รอการค้นพบ ซึ่งการเผชิญหน้าที่ไม่คาดคิดกับหมึกยักษ์ที่กำลังฟักไข่ยักษ์ ช่วยดึงดูดความสนใจของทุกคนในห้องควบคุมหุ่นยนต์ใต้น้ำ โดยการพบเห็นที่น่าทึ่งนี้เป็นสิ่งตอกย้ำถึงความหลากหลายของวิธีที่สัตว์ต่าง ๆ ปรับตัวเข้ากับความท้าทายเฉพาะตัวในการใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอดในทะเลน้ำลึก

หมึกยักษ์อุ้มไข่  ภาพจาก MBARI

ด้วยความที่ “ไข่หมึก” ที่พบ ใหญ่กว่าหมึกสายพันธุ์อื่นประมาณ 2 เท่า ทำให้ทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นกลยุทธ์ทำให้ “ลูกหมึก” มีชีวิตรอดในทะเลน้ำลึกมากกว่าการฟักไข่ขนาดเล็กจำนวนมาก (หมึกที่เกิดจากไข่ขนาดใหญ่ช่วยเพิ่มโอกาสมีชีวิตรอดจากนักล่า เนื่องจากจะโตได้เร็วกว่าไข่หมึกขนาดทั่วไป พูดให้เห็นภาพก็คือเน้นประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ)

สำหรับการอุ้มไข่ไปรอบ ๆ ของแม่หมึกนั้น อาจเป็นกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยมในการดูแลไข่ให้ปลอดภัยในขณะที่ทารกกำลังพัฒนาก่อนฟักเป็นตัว โดยนักวิจัยประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาระหว่าง 1 ถึง 4 ปี กว่าตัวอ่อนจะพัฒนาเต็มที่ ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงอันยาวนานมาก ดังนั้น หมึกจึงคิดค้นวิธีในการทำให้ไข่อยู่รอดปลอดภัย ถึงขนาดที่แม่หมึกยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อลูก ๆ

📌อ่าน ภารกิจสุดสำคัญ “แม่หมึก” อุ้มไข่เกือบ 3,000 ใบ นานหลายเดือนผ่านมหาสมุทร 

Henk-Jan Hoving นักชีววิทยาทางทะเล GEOMAR Helmholtz Center for Ocean Research Kiel กล่าวว่า ในขณะที่ฟักไข่แล้วไข่ต้องถูกหนวดโอบอุ้มเอาไว้ แม่หมึกจะไม่ยอมวางไข่เพื่อกินอะไรเลย ก่อนจะสิ้นใจหลังจากลูก ๆ ฟักเป็นตัว เป็นการเสียสละเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสที่ลูก ๆ จะรอดชีวิต ซึ่งเป็นการปรับตัวที่น่าทึ่งในการช่วยให้หมึกสามารถอยู่รอดได้ในทะเลลึก ทั้งนี้ หมึกมีบทบาทสำคัญในมหาสมุทร พวกมันเป็นสัตว์นักล่าที่ดุร้ายและเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์หลายชนิดแม้แต่มนุษย์เอง ซึ่งยังมีอีกมากที่เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับหมึกที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก

อนึ่ง ภาพหมึกถูกถ่ายไว้ได้ในปี 2558 ส่วนงานวิจัยเพิ่งถูกเผยแพร่ในวารสาร Ecology เมื่อเร็ว ๆ นี้

เรื่องน่ารู้ส่งท้าย : ตลอดระยะเวลากว่า 37 ปี ในการสำรวจใต้ทะเลลึกของ MBARI พบหมึกผสมพันธุ์และโอบอุ้มไข่เพียง 17 ครั้งเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบเป็นหมึก Armhook Squids (Gonatus sp.)


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : mbari, esajournals.onlinelibrary, sciencealert

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แม่หมึกวิทยาศาสตร์สัตว์ทะเลน้ำลึกThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด