การให้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ ส่งผลให้ผู้รับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงพฤติกรรมและบทบาททางสังคม
อย่างหญิงข้ามเพศ การเทคฮอร์โมน ทำให้ผิวหนังมีความละมุนขึ้น, เต้านมขยายใหญ่ขึ้น, ขนาดของกล้ามเนื้อเล็กลง, การกระจายตัวของไขมันสะสมจะคล้ายกับผู้หญิงเพศกำเนิด
ส่วนชายข้ามเพศ การเทคฮอร์โมน ทำให้กล้ามเนื้อขยายใหญ่ขึ้น, เสียงทุ้มขึ้น, ขนเยอะ, ผิวมัน, มีสิว, ประจำเดือนขาด ลักษณะไปในทางเพศชาย
ทว่าก่อนเริ่มใช้ฮอร์โมน ผู้ใช้ควรได้รับการประเมินสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อร่างกาย, จิตใจ และพฤติกรรม เพราะหากได้รับฮอร์โมนทั้ง ๆ ที่มีสภาพร่างกายไม่เหมาะสม ร่างกายอาจได้รับความเสี่ยง !
ข้อควรระวัง เทคฮอร์โมนเพศ เสี่ยงอะไรบ้าง ?
คนข้ามเพศควรได้รับคำแนะนำการเทคฮอร์โมนอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล จากผู้เชี่ยวชาญหรือสถานบริการที่มีมาตรฐาน ไม่ควรซื้อฮอร์โมนเพศมาใช้เอง อาจร่างกายเสี่ยงได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น มีโรคตับชนิดรุนแรง, โรคมะเร็งบางชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศ หรือเป็นโรคระบบหัวใจ, หรือเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดรุนแรง
เทคฮอร์โมน “เอสโตรเจน” สำหรับหญิงข้ามเพศ เสี่ยงอะไรบ้าง ?
- โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
- หลอดเลือดดำอุดตัน/ลิ่มเลือดที่ปอด
- มะเร็งเต้านม
- ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) สูงรุนแรง (ควรระวังการใช้เอสโตรเจนชนิดรับประทาน)
- การทำงานของตับหรือไตผิดปกติ
เทคฮอร์โมน “เทสโทสเตอโรน” สำหรับชายข้ามเพศ เสี่ยงอะไรบ้าง ?
- โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
- หลอดเลือดดำอุดตัน/ลิ่มเลือดที่ปอด
- มะเร็งเต้านม, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea)
- ภาวะเลือดข้น (ความเข้มข้นเลือดสูงกว่า 50%)
- ไขมันในเลือดสูงรุนแรง (LDL, total cholesterol, triglyceride)
5 ผลกระทบระยะยาว หลังเทคฮอร์โมนข้ามเพศ ?
ข้อมูลผลกระทบการได้รับฮอร์โมนข้ามเพศในระยะยาว หรือของงานวิจัยผลกระทบจากฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศสูงอายุมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จึงมาจากประสบการณ์ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือการศึกษาแบบรายงานผู้ป่วย และไม่สามารถเทียบเคียงกับผลการได้รับฮอร์โมนชดเชย ของผู้ป่วยที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนเพศได้
โดย 5 ผลกระทบระยะยาวของการได้รับฮอร์โมนข้ามเพศ ต่อระบบร่างกาย พร้อมคำแนะนำ ดังนี้
1. มะเร็งและเนื้องอก
ผลของการได้รับฮอร์โมนชดเชย มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหรือเนื้องอกที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก, มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ดังนั้นการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศเป็นระยะเวลานาน และในขนาดที่สูงกว่าการให้ฮอร์โมนชดเชย จึงต้องมีความระมัดระวัง
จึงแนะนำ ได้แก่
- ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งและเนื้องอกเช่นเดียวกับคนทั่วไป
- กรณีที่ไม่ได้ผ่าตัดหน้าอก ให้ประเมินด้วยการตรวจ mammogram เช่นเดียวกับหญิงเพศกำเนิดทั่วไป คือ เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ให้ทำทุก 1 ปี
- กรณีที่ทำการผ่าตัดหน้าอกแล้ว ให้ทำการตรวจร่างกายประจำทุกปี
- ตรวจภายใน (pelvic examination) ประจำปี พิจารณาการตรวจ endometrium ultrasound เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่, การดื่มสุรา, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง
2. ระบบหัวใจ สมอง และหลอดเลือด
เป็นที่ทราบกันว่าชายเพศกำเนิดมีอัตราการเสียชีวิต จากโรคหลอดเลือดเลือดหัวใจสูงกว่าเพศหญิง ขณะที่ผลการศึกษาพบว่าการให้ฮอร์โมนในหญิงข้ามเพศ ไม่ได้ทำให้เกิดโรคดังกล่าวน้อยลงกว่าผู้ชายเพศกำเนิดทั่วไป ขณะที่ชายข้ามเพศพบความชุกขอการเกิดโรคดังกล่าวสูงกว่าผู้หญิงทั่วไป ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของไขมัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายผู้ชายเพศกำเนิดมากขึ้น
จึงแนะนำ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการสูบบุหรี่
3. ระบบเมแทบอลิซึม (metabolism)
ผลต่อระบบของเมแทบอลิซึมจากการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ มีดังนี้
- ระดับไขมันในเลือด
- ฮอร์โมน testosterone ทำให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิด HDL (high-density lipoprotein) ลดลง แต่ระดับไขมัน triglyceride และ LDL (low-density lipoprotein) สูงขึ้น
- เบาหวาน ผลของฮอร์โมน testosterone ไม่เพิ่มภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) แต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รังไข่ คล้ายภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (polycystic ovarian syndrome: PCOS) ขณะที่ผลของฮอร์โมน estrogen ทำให้ภาวะดื้ออินซูลินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลไม่พบผลกระทบการเทคฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ ต่อความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานโดยตรง
ความดันโลหิตสูง - พบว่าฮอร์โมน estrogen ทำให้น้ำหนักขึ้นและบวม และอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
4. ภาวะหลอดเลือดดำอุดตันและความเข้มเลือดเพิ่มขึ้น
พบความสัมพันธ์ของภาวะหลอดเลือดดำอุดตันกับการใช้ฮอร์โมนเพศหญิง โดยมักพบในกรณีที่ได้รับฮอร์โมนในปริมาณที่สูงและเป็นระยะเวลานาน ส่วนของฮอร์โมนเพศชายจะสัมพันธ์กับความเข้มข้นของเลือดที่เพิ่มขึ้น
จึงแนะนำ ได้แก่
- ควรเลือกใช้รูปแบบฮอร์โมนที่มีระดับในกระแสเลือดค่อนข้างคงที่ ได้แก่ ชนิดทาผิวหนัง หรือยาฉีดที่ออกฤทธิ์ระยะยาว และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือด เช่น การสูบบุหรี่
- ประเมินความเข้มของเลือด 1-2 ครั้งต่อปี
5. ผลต่อกระดูก
โดยทั่วไปกระดูกของผู้ชายจะหนาและใหญ่กว่าของผู้หญิง
ในส่วนหญิงข้ามเพศ จากการศึกษาพบว่ามีมวลกระดูกต่ำกว่าประชากรทั่วไป ตั้งแต่ก่อนเริ่มฮอร์โมนข้ามเพศ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ อาจเกิดจากกิจกรรมกลางแจ้งน้อยกว่า ทำให้ระดับวิตามินดีต่ำกว่า โดยผลของการได้รับฮอร์โมนสำหรับหญิงข้ามเพศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่พบว่าจะทำให้กระดูกหักเพิ่มขึ้น แต่พบว่าในกรณีหยุดเทคฮอร์โมน โดยเฉพาะผู้ที่ผ่าตัดอัณฑะออกแล้ว จะทำให้กระดูกบางลงมากขึ้น
ส่วนชายข้ามเพศ เมื่อได้รับฮอร์โมนพบว่าขนาดของกระดูกจะใหญ่และหนาขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกไปในทางของผู้ชายเพศกำเนิด สำหรับกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดรังไข่ออก การได้รับฮอร์โมนเพศชายสามารถป้องกันการลดลงของมวลกระดูกทั้งในระยะสั้นและยาว และไม่มีผลต่อการเกิดกระดูกหัก
จึงแนะนำ ได้แก่
- รับประทานแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอ ควรมีระดับวิตามินดีมากกว่า 30 ng/mL โดยควรได้รับวันละ 800-1,000 IU และปริมาณแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่มีผลเสียต่อกระดูก เช่น การสูบบุหรี่, การดื่มสุรา, น้ำหนักตัวน้อย, การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
- ควรออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก (weight-bearing activity) ให้เพียงพอ
- การตรวจและรักษาภาวะกระดูกบาง ให้พิจารณาเหมือนประชากรกลุ่มเสี่ยงทั่วไป โดยควรเริ่มตรวจมวลกระดูกถ้าไม่มีความเสี่ยง ให้เริ่มตรวจที่อายุ 65 ปี เป็นต้นไป
- สำหรับกลุ่มหญิงข้ามเพศที่แปลงเพศ หรือตัดอัณฑะแล้ว แนะนำให้ตรวจทันทีหากมีการหยุดใช้ฮอร์โมนเพศหญิง หรือใช้ฮอร์โมนไม่สม่ำเสมอ
คนข้ามเพศ ไม่เทคฮอร์โมน ก็มีความสุขได้
ถึงตรงนี้หลายคนคงจะทราบดีแล้วว่าผลกระทบจากการเทคฮอร์โมนมีอะไรบ้าง ให้ได้ตัดสินใจ แต่รู้หรือไม่ว่าจริงคนข้ามเพศไม่ต้องเทคฮอร์โมนก็ได้ หากจิตใจมีความสุขอยู่แล้ว เป็นคำแนะนำของ รศ. พญ.ฉันท์สุดา พงศ์พันธุ์ผู้ภักดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“จริง ๆ การข้ามเพศ ถ้าเกิดเขาสามารถปรับตัวได้กับร่างกายที่เป็นอยู่ หรือว่าใช้วิธีการอื่น เพื่อที่จะให้ลักษณะนี้ไปทางเพศที่ตรงกับใจ หรือว่ากับตัวตนมากขึ้น เช่น อาจจะแต่งหน้า ทำผม แต่งตัว ฯลฯ อะไรเรามีความสุข หรือว่าไม่ได้มีความทุกข์ในใจ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเทคฮอร์โมนก็ได้”
คุณหมอฉันท์สุดากล่าวและเสริมว่า เพราะว่าการได้รับฮอร์โมน มันก็มีความเสี่ยง เนื่องจากมันไม่ใช่สารที่สร้างขึ้นโดยร่างกายเรา แต่ทั้งนี้ ก็มีกลุ่มคนที่เขาต้องการฮอร์โมนจริง ๆ หรือฮอร์โมนมีประโยชน์กับเขาจริง ๆ คือกลุ่มที่มีความทุกข์ในใจ ว่าเพศสภาพไม่ตรงกับจิตใจ จึงอยากปรับให้ตรง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มคนข้ามเพศ ได้รับข้อมูลกันจากอินเทอร์เน็ตค่อนข้างเยอะ ทำให้มีความเข้าใจผิดหลาย ๆ อย่าง เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนหรือว่าเทคฮอร์โมน บางครั้งก็ทำตามคนอื่น ซึ่งมีความเสี่ยงเพราะร่างกายคนไม่เหมือนกัน ปริมาณที่ต้องได้รับฮอร์โมนจึงแตกต่างกัน หมอจึงอยากแนะนำให้คนได้รับรู้และเข้าใจ จากผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญและมีมาตรฐาน ก่อนตัดสินใจใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ
ข้อมูล : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เกาะติดข่าวสารการเฉลิมฉลอง Pride Month 2024 กับ Thai PBS
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง