จากกรณีตรวจพบสาร “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีดาราดังเป็นพรีเซ็นเตอร์ ด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง Thai PBS และ Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำอันตรายจากสารดังกล่าวมาให้ได้ทราบเป็นความรู้ เพื่อห่างไกลสินค้าที่มาส่วนผสมของสาร “ไซบูทรามีน”
เพราะอะไร ? ถึงห้ามใช้ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine)
ด้วยตัวยานี้ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) ออกฤทธิ์ที่ “สมอง” โดยยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทบางชนิด ทำให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น ยานี้ยังกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มี “น้ำหนักตัว” ลดลง จึงเคยถูกนำมาใช้เป็นยารักษา “โรคอ้วน” นำมาใช้เองในทางที่ผิดในผู้ที่อยากผอม ซึ่งจะมีผลข้างเคียงที่พบ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น
การใช้ยานี้ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
📌อ่าน : ออกหมายเรียก "มิค-เบนซ์" รับทราบข้อหาปมโฆษณาอาหารเสริม
เป็นสาเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการยกเลิกใช้ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) ในตำรับยา มาตั้งแต่ปี 2553 เพราะมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงถึงแก่ชีวิต และประกาศให้เป็นสารที่อยู่ในการควบคุมพิเศษ จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559
🎧 ชวนฟัง : PODCAST สารไซบูทรามีนในอาหารเสริม กินเสี่ยงตายอันตรายมาก
ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine)
ชื่อการค้า : Reductil
ข้อมูลทั่วไป : สูตรโมเลกุล C17H26ClN
มวลโมเลกุล : 279.852 g/mol
CAS Number : 106650-56-0
ลักษณะกายภาพ : ของแข็ง (solid)
จุดหลอมเหลว : 191-192 °C
ฤทธิ์เภสัชวิทยา : ยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทบางประเภท เช่น Serotonin, Norepinephrine ทำให้สารเหล่านี้ทำงานนานขึ้น ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น ทั้งกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายด้วย
ข้อบ่งใช้ : ใช้ควบคุมน้ำหนักร่วมกับโปรแกรมควบคุมน้ำหนักในผู้ที่มีมีดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 30 kg/m2 หรือผู้ที่มีมีดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 27 kg/m2 แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และความดัน โลหิตสูงที่ควบคุมได้ โดยแนะนำให้ใช้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อวัน
การใช้ยาในทางที่ผิด : ลักลอบใส่ไซบูทรามีน (Sibutramine) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยส่วนมากพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนัก
การควบคุมทางกฎหมาย : ประเทศไทยจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
📌อ่าน : “เบนซ์” ชี้ผลิตภัณฑ์ อย. ตรวจเป็นของปลอมไม่ใช่ “อิชช่า” ของแท้
รู้จัก “สารอันตราย” ที่มักพบในอาหารเสริม-ยาชุดลดน้ำหนัก
- ไซบูทรามีน (sibutramine) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ลดความอยากอาหาร อิ่มเร็วขึ้น เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ถูกถอนออกจากตลาดไปแล้ว
- เฟนเทอร์มีน (phentermine) ทำให้เบื่ออาหาร มีผลให้ความดันโลหิตและชีพจรสูงขึ้น
- ฟูโรซีไมด์ (furosemide) เป็นยาขับปัสสาวะ ทำให้อ่อนเพลีย เข้าใจผิดว่าน้ำหนักลด ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่
- บิซาโคดิล (bisacodyl) เป็นยาระบาย กระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัว ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่
🎬 ชมคลิปวิดีโอ : ยื่นดำเนินคดี สามี-ภรรยาดารา โฆษณาอาหารเสริม
หากมีปัญหาเรื่อง “น้ำหนักตัว” ลดอย่างไร ? จึงปลอดภัย
เมื่อเรา “น้ำหนักเกิน” ก็ถึงเวลาที่ต้องลดน้ำหนัก ซึ่งการ “ลดน้ำหนัก” นั้นดูเหมือนจะไม่ยาก แต่ความจริงแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการมีวินัยในการกินต้องฝึกจนเป็นนิสัย เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการลดน้ำหนักและสามารถรักษาน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ได้ในระยะยาว ดังนั้นการมีหลักการลดน้ำหนักและเลือกกินอาหารอย่างถูกต้องคือสิ่งที่ต้องตระหนักอยู่เสมอ บทความนี้จึงขอนำ 3 วิธีลดน้ำหนักอย่างปลอดภัย..สบายใจไม่อันตรายมาฝาก
1. ควบคุมอาหาร : ในการลดน้ำหนักการควบคุมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ไม่ว่าจะลดโดยใช้ยาหรือไม่ใช้ยา ถ้าคุมอาหารผิด ๆ จะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าดี เพราะจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง ดังนั้นควรรับประทานอาหารให้ครบสัดส่วนแต่ปริมาณน้อยลง 20% ไม่ควรจะงดอาหารเป็นมื้อ เพียงแต่รับประทานอาหารเย็นให้น้อยลง ไม่รับประทานมื้อดึก หรือรับประทานแล้วนอนเลย รับประทานอาหารวันละหลายมื้อ แต่ประมาณน้อย ๆ จะดีกว่ารับประทานวันละมื้อสองมื้อ แต่มื้อละมาก ๆ
นอกจากนี้การรับประทานอาหารให้ตรงเวลาจะทำให้ร่างกายปรับสมดุลและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย เวลาเรารับประทานอาหารทุกครั้งจะมีฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมน้ำตาลปล่อยออกมา ถ้าไม่รับประทานให้ตรงเวลาเมื่อฮอร์โมนทำงานก็อาจทำให้เรารู้สึกโหย ๆ มือสั่น อยากรับประทานของหวาน ๆ และเมื่อยิ่งกินของหวานก็ยิ่งอ้วน ดังนั้นควรกินอาหารให้ตรงเวลาดีที่สุด เทคนิคที่ใช้ได้ผลดีคือการรับประทานช้า ๆ เคี้ยวช้า ๆ จะทำให้รับประทานได้น้อยลง เมื่อตักเข้าปากเคี้ยวให้ละเอียดอย่างน้อยเคี้ยวให้ได้ 15 ครั้ง แต่ถ้าทำได้เคี้ยวคำละ 32 ครั้ง จะดีเยี่ยม แล้วค่อยกลืน สังเกตได้ว่าคนที่เคี้ยวเร็ว ๆ รับประทานเร็ว ๆ ส่วนใหญ่จะอ้วนง่าย
2. ออกกำลังกาย : ถ้าอยากรับประทานอาหาร ทำให้ได้รับแคลอรีเกินเท่าไร การออกกำลังกายเพื่อให้แคลอรีสมดุลก็ไม่ทำให้อ้วน การออกกำลังกายไม่ได้หมายความว่า จะต้องเข้าฟิตเนส ต้องออกวิ่ง ว่ายน้ำหรือเล่นกีฬา แค่ปรับพฤติกรรมเริ่มแรกเพื่อการลดน้ำหนักก็จำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานให้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากขึ้นลิฟต์มาเป็นขึ้นบันได และเดินไปไหนมาไหนให้มากขึ้น ต้องมีความกระฉับกระเฉงและตื่นตัวที่จะเคลื่อนไหวมากขึ้น จากนั้นค่อย ๆ พัฒนาสู่การออกกำลังกาย เป็นกิจจะลักษณะ ในหนึ่งสัปดาห์ขอให้ออกกำลังกายอย่างน้อย วันเว้นวัน และทำให้ได้ครั้งละ 2-30 นาที หรือ การแกว่งแขน ลดพุง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ก็ช่วยได้เช่นกัน
3. ตัวช่วยในการลดไขมันส่วนเกินและส่วนสัด : ปัจจุบัน มีอาหารเสริมมากมายที่โฆษณาว่าสามารถลดน้ำหนักได้ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะช่วยลดการดูดซึมของแป้งและไขมัน ช่วยการเผาผลาญอาหาร ช่วยให้เกิดความรู้สึกอิ่ม เช่น พวกไฟเบอร์ ช่วยลดความอยากอาหารและช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หรือบางชนิดเพิ่มการขับถ่าย ทั้งปัสสาวะ อุจจาระ ก่อนเลือกซื้อต้องดูว่าต้องมีเลข อย. ถูกต้อง และถึงแม้ว่ามีเลขถูกต้องก็ใช่ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะหากเรามีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วยาหรืออาหารเสริมบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ ดังนั้น อย่าซื้อยาลดความอ้วนมาใช้เองเด็ดขาด หรือถ้าไปรักษาตามคลินิกควรจะสอบถาม ชื่อ ยา กลไก การออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง จดชื่อยาที่รับประทาน เพราะบางครั้งยาที่รับประทานอาจจะไปออกฤทธิ์เสริม หรือต้านกับยาอื่นที่อาจทำให้มีผลข้างเคียง ขณะที่ “ยาลดความอ้วน” บางชนิด หากรับประทานต่อเนื่องนาน ๆ อาจทำให้เกิดประสาทหลอนได้
ทั้งนี้ การ “ลดน้ำหนัก” ให้ได้ผลดีที่สุด คือ ควบคุมการรับประทานอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย จะช่วยให้การลดน้ำหนักได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อได้ สำหรับใครที่มีปัญหาในการลดน้ำหนัก ควรปรึกษาแพทย์และต้องใช้ยาภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น นอกจากนี้ หากพบเห็นผลิตภัณฑ์ต้องสงสัย โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปที่สายด่วน อย. 1556
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), กองควบคุมวัตถุเสพติด, หน่วยคลังข้อมูลยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, สภาองค์กรของผู้บริโภค, สสส.
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech