ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขข้อข้องใจ ! อะไรเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์บ้าง ?


Insight

6 มิ.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

ไขข้อข้องใจ ! อะไรเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์บ้าง ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1257

ไขข้อข้องใจ ! อะไรเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์บ้าง ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ที่ผ่านมามีข่าวการ “ทารุณกรรมสัตว์” เกิดขึ้นบ่อยครั้ง 

จากกรณีข่าว “หมวยเล็ก” สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกี โดนน้ำร้อนราด ถึงกรณีวางยาสลบ “แมวดำ” เพื่อใช้ในการถ่ายทำ ทำให้มีการหยิบยกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสัตว์ หรือที่ชื่อว่า พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “การทารุณกรรมสัตว์”

Thai PBS ชวนมาทำความเข้าใจ บริบทต่าง ๆ ของการทารุณกรรมสัตว์ แบบไหนที่เข้าข่าย และบทลงโทษเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

การทารุณกรรมสัตว์คืออะไร ?

ตามที่ระบุในกฎหมายคุ้มครองสัตว์เลี้ยง หรือ พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 การทารุณกรรมสัตว์ คือ การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บป่วย ทุพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย

ความหมายนี้ ยังรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์อีกด้วย

นอกจากนี้การใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานเกินสมควร หรือใช้ให้ทำงานในตอนที่สัตว์เจ็บป่วย ยังเด็กหรือแก่เกินไป ทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นทารุณกรรมสัตว์เช่นกัน

สำหรับการกำหนดบทลงโทษ โทษสูงสุด จำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรายละเอียดของกรณีที่เกิดขึ้นนั่นเอง
 

ป้องกันตัวจากสัตว์ ผิดหรือไม่ ?

เมื่อสัตว์เข้ามาทำร้าย แล้วต้องป้องกันตัว จะมีความผิดหรือไม่ ? กรณีนี้ถือเป็นข้อกังวลหลักของใครหลายคนกับกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ ตัวกฎหมายมีระบุไว้ว่า หากคนถูกสัตว์ทำร้ายสามารถป้องกันตัวได้

โดยมีการระบุไว้ในมาตราที่ 21 (6) ว่า การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สิน ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์นั้น

ทว่า ยังมีรายละเอียดหลายประการที่ควรรู้ไว้ เช่น ความรุนแรงของการป้องกันตัวนั้น ควรกระทำในระดับต่ำที่สุด ขึ้นอยู่กับขนาดและสายพันธุ์ของสัตว์ที่เข้ามาทำร้ายด้วย

หากสัตว์ขนาดเล็กสามารถทำอันตรายได้เพียงเล็กน้อย การป้องกันตัวต้องกระทำในระดับที่ใกล้เคียงกัน หากกระทำเกินกว่าเหตุ ถือว่าเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ได้

ยกกรณีตัวอย่าง เข้าข่ายทารุณสัตว์หรือไม่ ?

มีหลายกรณีที่คนกระทำต่อสัตว์ ซึ่งเป็นที่สงสัยว่า เข้าข่ายทารุณสัตว์หรือไม่ ? มีกรณีที่น่าสนใจดังนี้

1. ลงโทษเพื่อฝึกสัตว์เลี้ยง การลงโทษสัตว์เลี้ยงระหว่างการฝึก ส่วนใหญ่จะมีหลักที่เป็นวิชาการที่ได้รับการยอมรับ ทว่าการลงโทษที่สร้างความเสียหายต่อสัตว์มากเกินไป เช่น ทำให้เกิดแผลบาดเจ็บโดยไม่เป็นจำ หรือส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต เหล่านี้ถือว่าเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ได้

2. ขับรถชนสัตว์ อุบัติเหตุที่ทำให้สัตว์บาดเจ็บ อาทิ การขับรถชน หากคนขับรถไม่เจตนา ไม่ถือว่าผู้ขับขี่มีความผิด แต่หากคนขับมีเจตนา กรณีนี้เข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ได้

3. สัตว์เลี้ยงทำร้ายคนอื่น เจ้าของสัตว์ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 แม้จะไม่เข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ แต่มีความผิดตามมาตรา 32 ที่เจ้าของสัตว์ห้ามปล่อยปละละเลยจากการดูแล มีโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท นอกจากนี้ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 ที่ต้องชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอีกด้วย ความผิดที่เข้าข่ายลักษณะนี้ รวมกรณีสัตว์เลี้ยงไปสร้างความเสียหายอื่น ๆ ด้วย เช่น ทำลายทรัพย์สิน หรือไปก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

4. การไม่สามารถให้การดูแลสัตว์ได้ หากเจ้าของสัตว์ไม่สามารถจัดหาสวัสดิการ อาหารและน้ำ รวมถึงการดูแลที่เหมาะสมกับสัตว์ได้ ไม่ถือว่าเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ แต่ถือว่ามีความผิดในส่วนของการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมีโทษปรับ และหากผิดซ้ำ ศาลอาจสั่งให้เจ้าของมอบสัตว์ดังกล่าวให้หน่วยงานรัฐและบุคคลอื่นครอบครองต่อ

5. กรณียกเว้น ตัวกฎหมายมีการกำหนดกรณียกเว้น และไม่เข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ เช่น การฆ่าสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับการปศุสัตว์ การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายเพื่อควบคุมสัตว์ ควบคุมโรคระบาด และการฆ่าสัตว์ตามคำวินิจฉัยของแพทย์ เช่น สัตว์ป่วยหนักจนไม่สามารถรักษาชีวิตได้ เป็นต้น
 

นอกจาก พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ในต่างประเทศยังมีกฎหมายที่รองรับสวัสดิการของสัตว์อีกมากมาย กฎหมายเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนว่า เมื่อ “มนุษย์” ได้ประโยชน์จาก “สัตว์” ไม่ว่าจะเป็นความสุขทางใจ หรือการเลี้ยงเพื่อใช้งาน มนุษย์ก็ควรมีจิตสำนึกพื้นฐาน ในการคุ้มครองดูแลสัตว์เหล่านั้น ด้วยสวัสดิภาพที่ดีเช่นกัน...

เจ้าของควรดูแลให้สัตว์เลี้ยงมีสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดี

อ้างอิง
กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 423 : ทำร้ายสัตว์เลี้ยงมีโทษสูงสุด จำคุก 2 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท
พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
สัตว์เลี้ยงสร้างปัญหา เจ้าของต้องรับผิดชอบหรือไม่? โดย สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บังคับขอพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แจ้งความเจ้าของหมา "หมวยเล็ก" โดนน้ำร้อน-ได้บ้านใหม่
สุนัขไซบีเรียนฯ อาการดีขึ้น หลังถูกหญิงราดน้ำร้อนใส่ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หมวยเล็กทารุณกรรมสัตว์กฎหมายคุ้มครองสัตว์กฎหมายป้องกันการทารุณสัตว์ไซบีเรียนโดนราดน้ำร้อน
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด