ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จักความหมาย "ทัวร์นกขมิ้น" กิจกรรมที่นายกฯ หลายยุคสมัยนิยมทำ


Insight

18 พ.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จักความหมาย "ทัวร์นกขมิ้น" กิจกรรมที่นายกฯ หลายยุคสมัยนิยมทำ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1171

รู้จักความหมาย "ทัวร์นกขมิ้น" กิจกรรมที่นายกฯ หลายยุคสมัยนิยมทำ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนได้เห็นภาพข่าว “นายกฯ เศรษฐา” เดินทางลงพื้นที่ในหลายจังหวัด เพื่อตรวจราชการ จนมีคำหนึ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย นั่นคือ “ทัวร์นกขมิ้น” คำนี้มีอายุการใช้งานมาตั้งแต่ปี 2547 Thai PBS ชวนย้อนที่มาที่ไปของคำ ๆ นี้ และหัวใจสำคัญของ “ทัวร์นกขมิ้น” คืออะไร ?

“ทัวร์นกขมิ้น” คืออะไร ?

อธิบายโดยง่าย ทัวร์นกขมิ้น คือ การลงปฏิบัติงานราชการของนายกรัฐมนตรี ในพื้นที่หลาย ๆ จังหวัดของประเทศไทย โดยมีคอนเซปต์สำคัญ นั่นคือ การพักค้างคืนที่เรียกว่า “ค่ำไหนนอนนั่น” 

ส่วนเหตุที่มาของการใช้คำ ๆ นี้ เราได้พูดคุยกับ เสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์ บรรณาธิการโต๊ะข่าวการเมืองแห่ง Thai PBS เธอบอกว่า ที่มาของทัวร์นกขมิ้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อราวปี 2547 สมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมืองไทย

“คุณทักษิณเป็นคนผุดไอเดียนี้ขึ้นมา ด้วยความที่งานราชการของนายกรัฐมนตรีมีอยู่แทบทุกวัน แต่ปกติไม่เคยมีแบบที่เดินทางไปที่ไหนก็นอนที่นั่น ช่วงนั้นคุณทักษิณจึงนำเอาภารกิจนายกฯ เดินสายพบประชาชน แบบที่ไปต่อเนื่องหลาย ๆ วัน มารวมกับวิธีการเดินทางแบบค่ำไหนนอนนั่น และเรียกภารกิจนี้ว่า ทัวร์นกขมิ้น”

ทักษิณ ชินวัตร ภาพจาก www.thaksinofficial.com

เหตุการณ์ที่เรียกว่า ทัวร์นกขมิ้น เริ่มต้นในช่วงปี 2547 เป็นการจัดทัวร์ของนายทักษิณ ลงพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสาน รวมทั้งพาคณะเข้ากราบนมัสการหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ก่อนจะพาชาวคณะนอนค้างคืนที่นั่น 

ภาพจากเฟซบุก Thaksin Shinawatra

อีกครั้งหนึ่งคือในปี 2549 นายทักษิณ ลงพื้นที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งถูกเลือกเป็นพื้นที่นำร่องศึกษาและแก้ปัญหาความยากจนของคนชนบท เป็นที่มาของ “อาจสามารถโมเดล” ครั้งนั้นนายทักษิณ เดินทางมาร่วมใช้ชีวิตกับชาวบ้าน เพื่อรับฟังและสั่งการให้เร่งแก้ปัญหา แถมยังมีการถ่ายทำเป็นเรียลริตี้แก้จนของนายกฯ ทักษิณอีกด้วย 

“ถ้ายังจำกันได้ ตอนอาจสามารถโมเดล เราได้เห็นทักษิณนุ่งผ้าขาวผ้า ถือขันน้ำ หรือแม้แต่ขี่มอเตอร์ไซค์นำชาวบ้าน เจตนาของกิจกรรมเหล่านี้ คือภาพของการเข้าถึงประชาชนนั่นเอง”

“ทัวร์นกขมิ้น” หวังผลอะไร ?

อย่างที่ เสาวลักษณ์ บอก ทัวร์นกขมิ้น คือการลงพื้นที่แบบค่ำไหนนอนนั่นของคณะนายกรัฐมนตรี นัยยะหนึ่ง คืองานตรวจราชการตามหน้าที่ของผู้นำประเทศ ส่วนนัยยะที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือการสร้างภาพลักษณ์อันดีที่มีต่อประชาชน

“ในความเป็นผู้นำ หรือในความเป็นนักการเมืองมืออาชีพ การที่ได้สร้างภาพแบบค่ำไหนนอนนั่น อยู่ที่ไหนก็ได้ กินแบบไหนก็ได้ มันทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เขาไม่ได้ห่างไกลกับนายกฯ มากนัก” เสาวลักษณ์บอก

เสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์ บก.โต๊ะข่าวการเมือง Thai PBS

“นักการเมืองอาชีพ ต้องมีฐานที่เป็นมวลชน หรือฐานเสียงทางการเมือง จะผ่านแค่หัวคะแนนไม่ได้ ภาพลักษณ์ของตัวเองจึงต้องเป็นคนที่เข้าถึงและสัมผัสได้ ต้องให้ประชาชนรู้สึกว่า เขากับนักการเมืองไม่ได้อยู่ไกลกันมาก ดังนั้น การได้เห็นภาพนักการเมืองหรือผู้นำนุ่งผ้าขาวม้า ถือขัน แปรงฟัน ขี่มอเตอร์ไซค์ นั่งรถอีแต๋น มันก็ทำให้รู้สึกว่า นายก ฯ ก็ไม่ได้อยู่ไกลกับเรา”

จาก “ทักษิณ” สู่ โมเดลทัวร์นกขมิ้นอีกมากมาย

หลังการเกิดคำว่า “ทัวร์นกขมิ้น” ในยุคทักษิณ ชินวัตร ในรัฐบาลต่อ ๆ มา เคยมีการนำโมเดลนี้มาใช้อีกเช่นกัน อาทิ สมัยรัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึงช่วงที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ช่วยพรรครวมไทยสร้างชาติหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง 2566   

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

กระทั่งล่าสุด ภาพข่าวนายกฯ เศรษฐา เดินทางลงพื้นที่แบบค่ำไหนนอนนั่น กลายเป็นที่มาของการใช้คำว่า “ทัวร์นกขมิ้น” อีกครั้ง เกิดประเด็นคำถามต่อมาว่า นี่คือการใช้โมเดลเดียวกันกับอดีตนายกฯ ทักษิณ หรือไม่ เรื่องนี้เสาวลักษณ์มองว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะทักษิณกับเศรษฐามีความคล้ายคลึงกันในเรื่องหนึ่ง

“คุณเศรษฐาเขาเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาฯ ระดับหมื่นล้าน เหมือนคุณทักษิณที่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน ดังนั้น เวลาจะหาเสียงอะไร จึงต้องทำให้รู้สึกว่า เขาไม่ได้รวยเกินที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเข้าถึงตัวยาก จึงต้องมีภาพแบบนี้เกิดขึ้น มีการสัมผัสประชาชนมากขึ้น ซึ่งเขาน่าจะคิดว่า วิธีนี้น่าจะใช้ได้ผลดี”

“ทัวร์นกขมิ้น” ใช้งบอะไร ?

การลงพื้นที่พบปะประชาชนแบบค่ำไหนนอนนั่น หรือ ทัวร์นกขมิ้น ถือเป็นการปฏิบัติภารกิจของข้าราชการทางการเมือง งบประมาณที่ใช้ในภารกิจดังกล่าว จึงเป็นงบบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีอยู่ตามปกติ

“งบพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นงบที่เรียกว่า งบติดตามนโยบาย เป็นงบกลางที่สามารถใช้ในภารกิจเหล่านี้ได้ คล้าย ๆ กับ ครม.สัญจร ซึ่งการขอเคาะงบพวกนี้ ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในทำเนียบอย่างเป็นทางการ โดยปกติงบบริหารราชการแผ่นดินแบบนี้ จะแบ่งสรรทั้ง 77 จังหวัด สำหรับใช้ในเวลาฉุกเฉิน หรือสำหรับพัฒนาพื้นที่ ซึ่งงบติดตามนโยบาย ก็น่าจะอยู่ในงบกลางเหล่านี้นี่เอง”

หากก้าวข้ามชื่อ “ทัวร์นกขมิ้น” ไป การได้เข้าไปสัมผัสกับประชาชนอย่างจริงแท้ และได้ยินเสียงของ “ปัญหา” อย่างแท้จริง ช่วยทำให้นายกฯ มองเห็นความต้องการของประชาชนได้ชัดเจน ประการที่สำคัญ ทำให้การเดินทางแบบ “ค่ำไหนนอนนั่น” ไม่สูญเปล่า และเกิดประสิทธิผลสูงสุด

อ่านข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
-เดินสาย 10 วันรวด "เศรษฐา" เยือนฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น 
-จับตา "ทัวร์นกขมิ้น" ครม.เทงบภาคกลางตอนล่าง 514 ล้านบาท 
-ทัวร์นกขมิ้นวันที่ 3 "เศรษฐา" ลุยตลาดราชบุรีห่วงของแพง ตกใจพริก ก.ก.ละ 500 
-ทัวร์นกขมิ้น "เศรษฐา" ลุยกาญจนบุรี ถกความมั่นคง-แก้น้ำท่วม 
-"เศรษฐา" ทัวร์นกขมิ้น ประเดิม "บุรี" แรก สุพรรณฯ 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ทัวร์นกขมิ้นครม.สัญจรนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินทักษิณ ชินวัตร
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด