รู้หรือไม่ ? ว่า “ร่างกายของเรา” มักได้รับสารพิษสะสมเข้าไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เช่น โลหะหนัก ต่าง ๆ (อะลูมิเนียม, แคดเมียม, ตะกั่ว, ปรอท, สารหนู) เมื่อร่างกายมีการสะสมในปริมาณที่มากเกินจะส่งผลต่อสุขภาพ เช่น เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ (NCDs) รวมถึงการเกิดมะเร็งได้
ใคร ? ควรตรวจ “โลหะหนัก”
- ผู้ที่อยากดูแลสุขภาพ
- ผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ หรือใกล้แหล่งโรงงาน
- ผู้ที่เผชิญฝุ่นควันและมลภาวะบนท้องถนนเป็นประจำ
- ผู้ที่ชอบทำสีผม ทำเล็บ รวมถึงช่างทำผม
- ผู้ที่ชอบรับประอาหารทะเลเป็นประจำ
- ผู้ที่มีวัสดุอุดฟันที่ทำจากสารอะมัลกัม (วัสดุอุดฟันสีเงิน)
ช่องทาง “โลหะหนัก” เข้าสู่ร่างกาย
- การรับประทาน
- ทางเดินหายใจ
- สัมผัสทางผิวหนัง
“อาการเตือน” เมื่อโลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อ่อนแรง
- ปวดศีรษะบ่อย
- นอนไม่หลับ สมาธิไม่ดี
- ผื่นภูมิแพ้ ลมพิษ
- หอบหืด หายใจติดขัด
- ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน
นอกจากนี้ การมีโลหะหนักตกค้างในร่างกายมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง ได้อีกด้วย
📌อ่าน : 5 โลหะหนัก พบบ่อยในชีวิตประจำวัน
มีความเสี่ยงจากพิษโลหะหนักหรือไม่ ? รู้ได้ด้วยการตรวจ
หากมีข้อสงสัยว่าตัวเองอาจได้รับพิษจากโลหะหนักมากเกินไป จนอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย แนะนำให้เข้ารับการตรวจสารโลหะหนักที่อยู่ในร่างกาย โดยสามารถทำได้หลายวิธีทั้งจากเลือด ปัสสาวะ และเหงื่อ แต่วิธีที่นิยมที่สุดก็คือการ “ตรวจเลือด” เนื่องจากทำได้ง่ายและวิเคราะห์ผลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการตรวจสารโลหะหนักแม้จะไม่ใช่วิธีการรักษาโรค แต่เป็นการตรวจเพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของปริมาณโลหะหนักในร่างกาย
ทั้งนี้ การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ ต้องใช้ระยะเวลาในการรอผลจากห้องปฏิบัติการ 5-7 วัน โดยผู้เข้ารับการตรวจต้องงดน้ำงดอาหาร และควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งขั้นตอนในการตรวจก็จะมีการเจาะเลือด และเก็บตัวอย่างปัสสาวะเหมือนการตรวจสุขภาพทั่วไป
วิธีกำจัด “โลหะหนัก” ในร่างกาย
แม้ว่าโดยทั่วไป ร่างกายของเราจะสามารถกำจัด “โลหะหนัก” ออกไปเองได้ โดยผ่านทางเหงื่อและทางปัสสาวะ แต่จะใช้เวลานาน เพราะโลหะมักจะจับตัวอยู่ในเนื้อเยื่อสำคัญ เช่น ในสมอง ทำให้ไม่สามารถขับออกมาแบบปกติได้ ต้องอาศัยตัวช่วยในการจับออกมา
ดังนั้น “แนวทางในการรักษา” อาจต้องรับประทานยาซึ่งเป็นการรักษาในระยะยาว โดยทำควบคู่ไปกับการใช้สารที่กำจัดโลหะหนักผ่านทางหลอดเลือด รวมถึงอาจต้องใช้วิธี Toxic Clearing ซึ่งก็คือ นวัตกรรมการบำบัดโดยการล้างพิษและขจัดของเสียที่สะสมภายในร่างกายผ่านวิตามินบำบัดสูตรกำจัดสารพิษ (Chelation) ด้วยการให้วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ทางหลอดเลือดดำ (IV Drip) เพื่อเข้าไปจับสารโลหะหนักที่เป็นพิษและขับออกมาผ่านทางปัสสาวะ โดยใช้เวลาการให้วิตามินประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
🎧 อัปเดตข้อมูแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี โรงพยาบาลพญาไท 2, พญ.กานต์พิชชา พตั่งฮวดพาเจริญ ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 3
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech