ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ชาติเอเชีย" งัดกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตกำแพงภาษีสหรัฐฯ

เศรษฐกิจ
3 เม.ย. 68
13:35
254
Logo Thai PBS
"ชาติเอเชีย" งัดกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตกำแพงภาษีสหรัฐฯ
อ่านให้ฟัง
08:01อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ชี้สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสูงเพื่อบีบให้ประเทศคู่ค้าเจรจา-แก้ปัญหาที่กระทบกับสหรัฐฯ พร้อมมองกลยุทธ์ชาติเอเชียฝ่าวิกฤต

การประกาศขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เพื่อปลดแอกประเทศ สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก เดิมที่สหรัฐฯ ประกาศจะขึ้น Universal Tariff ไว้ที่ 10-20% แต่เมื่อเปิดออกมากลับกลายเป็นขึ้นภาษีแบบครึ่งหนึ่งของภาษีที่แต่ละประเทศเก็บกับสหรัฐฯ จึงได้เห็นภาพกัมพูชาถูกขึ้นภาษีเกือบ 50%

ขณะที่ประเทศไทยถูกตั้งกำแพงภาษีนำเข้า 36% ส่วนหนึ่งเพราะไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ 72% แต่ในการพิจารณายังรวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น กฎหมายและสิทธิมนุษยชนด้วย

อ่านข่าว : สะเทือนทั้งโลก "สหรัฐฯ" เคาะตัวเลขภาษีตอบโต้คู่ค้า ไทยโดน 36%

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เปิดรายชื่อประเทศและอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บ เพื่อตอบโต้ประเทศคู่ค้าทั่วโลก

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เปิดรายชื่อประเทศและอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บ เพื่อตอบโต้ประเทศคู่ค้าทั่วโลก

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เปิดรายชื่อประเทศและอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บ เพื่อตอบโต้ประเทศคู่ค้าทั่วโลก

รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ยอมรับว่า ขึ้นสูงกว่าที่คาดและเคยประกาศ Universal Tariff ซึ่งการประกาศสูงแบบนี้มีสาเหตุและมีหลักคิด โดยใช้วิธีที่เรียกว่า Maximarism คือตั้งกำแพงสูงมากไว้ก่อน เพื่อบีบให้เจรจาแก้ปัญหาทั้งเรื่องดุลการค้า บีบให้คุยเรื่องมิติอื่นที่นอกเหนือจากการนำเข้า-ส่งออก เช่น การส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน 

และมิติอื่น เช่น การลดข้อกำหนดมาตรฐานและข้อบังคับต่างๆ และบีบให้แก้ปัญหาที่กระทบกับสหรัฐฯ อย่างกรณีเม็กซิโก บีบให้จัดการสินค้ายาเสพติด หรือกับจีน บีบให้แก้ปัญหา TiKTok เป็นต้น

การตั้งกำแพงสูงเพื่อบีบให้เจรจา ท้ายที่สุดสหรัฐฯ อาจจะลดภาษีลงมาครึ่งหนึ่งจากที่ตั้งไว้ เช่นของไทย 36% ก็อาจจะลงมาที่ 15-18% ได้เช่นกัน

สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีในลักษณะที่สูงไว้ก่อนหรือ Maximarism และดำเนินไปสู่การเจรจา เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เขาใช้ แต่การเจรจาไม่ได้เจรจามิติเดียว แต่เป็นการเจรจาด้วยมิติต่างตอบแทน คือด้านหนึ่งแก้ปัญหาเรื่องดุลการค้าด้วยการนำเอาบริการพวกไอทีหรือเทคโนโลยีด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ กลับเข้ามามาก รวมทั้งมิติทางด้านความมั่นคงด้วย

ประเทศไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯ ในลำดับต้นๆ คือลำดับ 10 ดังนั้นจึงได้เห็นว่ารัฐบาลพยายามวางแผนรับมือ แต่ก็มองกันว่าช้าไปหรือไม่ที่เป็นแบบนั้น เพราะหลายประเทศในเอเชียมีการลงมือทำเพื่อป้องกันผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ไปแล้ว

"อินเดีย" เกินดุลอันดับ 11 สิ่งที่ทำแล้วคือ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน ก.พ. และได้ข้อตกลงว่าจะซื้อพลังงานและอาวุธนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มการค้ากับสหรัฐฯ เป็น 2 เท่าที่ 500,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 16.79 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 และจะลดภาษีที่ทรัมป์มองว่าไม่เป็นธรรม เช่น ภาคยานยนต์ สิ่งทอ เครื่องหนัง เภสัชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และภาคการเกษตร

"ญี่ปุ่น" เกินดุลอันดับ 7 นายกฯ ญี่ปุ่นไปพบทรัมป์และประกาศจะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ อีกทั้งยังกล่าวถึงแผนการลงทุนในสหรัฐมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะสร้างงานในสหรัฐฯ อีกหลายตำแหน่งผ่านการตั้งโรงงานผลิตของโตโยตา มอเตอร์ และอีซูซุ มอเตอร์ รวมทั้งจะเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก เช่น พลังงาน เหล็กและปัญญาประดิษฐ์ (AI)

อ่านข่าว : นายกฯ ยันมีแผนรับมือสหรัฐรีดภาษี 36% ไม่ต้องห่วงเชื่อต่อรองได้

"ไต้หวัน" เกินดุลอันดับ 6 บริษัท TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ประกาศจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ เพิ่มอีก 5 แห่ง

"เกาหลีใต้" เกินดุลอันดับ 8 ก็เตรียมจะเพิ่มภาษีเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งอาจจะเรียกเก็บภาษีเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน 38% และส่งหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมและพลังงาน เข้าไปเจรจาหารือกับผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ แล้ว

"เวียดนาม" เกินดุลอันดับ 3 เตรียมตัวรองรับฐานการผลิตที่จะกระจายเข้ามาในพื้นที่ รองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตภายในประเทศ มอบเงินอุดหนุนสูงสุด 50% ของมูลค่าโครงการให้แก่โครงการลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร พิจารณานำเข้าสินค้าเกษตร เครื่องบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ ก๊าซธรรมชาติเหลวและเภสัชภัณฑ์จากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น และยังออกใบอนุญาตเปิดทางให้สตาร์ลิงก์ (Starlink) ของอีลอน มัสก์ ให้บริการอินเทอร์เน็ตในเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าจะลดภาษีรถยนต์ลงเหลือ 32% จากเดิม 64%, ลดภาษีก๊าซ LNG เหลือ 2% จาก 5%, ลดภาษีเอธานอลเหลือ 5% จาก 10% และจะลดนำเข้าสินค้าเกษตรจำพวกไก่แช่เแข็ง อัลมอนด์และเชอรี่

หลายประเทศในแถบเอเชียดำเนินการล่วงหน้าไปแล้ว จึงต้องกลับมาพิจารณาวิธีรับมือของไทย ซึ่งสหรัฐฯ ได้แบ่งเทียร์ประเทศที่จะตอบโต้ทางภาษี อย่างเทียร์แรกมีทั้ง จีน เม็กซิโก แคนาดา อินเดีย เวียดนาม สหภาพยุโรป โดยประเทศกลุ่มนี้มีการเจรจาและมีการรับมือเชิงรุกไปแล้ว แต่สำหรับไทยก็มีหลายอย่างที่ทำได้ แต่ต้องเร็ว เพราะสหรัฐฯ ประกาศจะใช้ภาษีใหม่ในวันที่ 9 เม.ย.นี้

             "รัฐบาลคงเตรียมในระดับหนึ่ง ยกตัวอย่างสินค้าบางอย่างที่ถูกเล่นงานหนัก เช่น สินค้าเกษตร อาจเป็นตัวที่ช่วยได้ เพราะสินค้าเกษตรต่างๆ ถ้าถูกเล่นงานจะมีประเด็นปัญหาอย่างเรื่องข้าวโพด ถั่วเหลือง ซึ่งสินค้าเกษตรเป็นส่วนหนึ่งที่เราสามารถต่อสู้ได้ในระดับหนึ่ง และรัฐบาลคงพร้อมที่จะผ่านปรนในการนำเข้า ตั้งแต่เรื่องน้ำมัน แก๊ส หรือเครื่องมือต่างๆ

สิ่งที่ตั้งกำแพงภาษีไว้มีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือ นำเอาการลงทุนไปลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งหากเรามีการพูดคุยกับเอกชนและมีโครงการที่จะไปลงทุนในสหรัฐฯ ก็นำมาเจรจรได้ หรืออีกมิติคือเรื่องการผ่อนปรนทางด้านกฎหมาย ซึ่งไทยมีกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อบริษัทอเมริกัน คือให้เอาบริษัทอเมริกันถือครองได้ 100% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง" รศ.สมชาย กล่าว

อ่านข่าว

นายกฯ เตรียมข้อเสนอปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีนำเข้า 36%

ทรัมป์ขึ้นภาษี ไทยสูญ 8 พันล้าน เอกชนจี้ "เพิ่มนำเข้า-เจรจา FTA"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง