จากกรณีที่พบว่าเยาวชนมักประสบปัญหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไปจนถึงมีความเสี่ยงที่จะไปเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากปัญหาอาชญากรรมด้านต่าง ๆ ส่วนหนึ่งพบว่า เยาวชนเหล่านี้บางส่วนอยู่ในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ โดยพ่อแม่ต้องออกไปแสวงหาโอกาสและทำงานในต่างพื้นที่เพื่อส่งรายได้กลับมาจุนเจือครอบครัว โดยปล่อยให้บุตรต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย หรือที่เรียกว่า "ครอบครัวแหว่งกลาง"
"ครอบครัวแหว่งกลาง" จากบ้านไกลไปต่างถิ่นหารายได้
ผศ.ดร.ธัญมัชฌ สรุงบุญมี หัวหน้าสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในทีมวิจัย เรื่อง บทบาทของสภาพครัวเรือนต่อการพัฒนาคุณภาพกำลังแรงงานในอนาคต ในชุดโครงการ พัฒนาองค์ความรู้และนโยบายเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยระบุว่า ครอบครัวที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงานต่างพื้นที่และให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูลูก หรือ ที่เรียกว่า "ครอบครัวแหว่งกลาง" นั้น ข้อดี คือ ช่วยในการบริหารทรัพยากรหารายได้ให้ครัวเรือนในการดูแลบุตร โดยส่วนมากจะช่วยดูแลเด็กในช่วงอายุ 0-5 ปี

แต่ข้อเสียก็มี เนื่องจากปู่ย่าตายายอาจไม่มีพละกำลังเพียงพอในการดูแลเด็ก เพราะอายุมาก รวมถึงการพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์อาจจะน้อยกว่าพ่อแม่ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อพัฒนาการในเด็ก รวมถึงความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กอาจไม่ได้อัปเดต หรืออาจไม่เหมาะกับยุคสมัย และปู่ย่าตายายเหล่านี้อาจไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีของเด็กในยุคนี้
การสื่อสาร ภาษา หรือการพูดส่งผลสำคัญต่อพัฒนาการเด็กเพราะเป็นจุดเริ่มต้นต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ซึ่ง เด็กในครอบครัวแหว่งกลางก็อาจจะมีพัฒนาการเหล่านี้น้อยกว่าครอบครัวที่มีพ่อแม่ เพราะเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ก็จะมีคามใกล้ชิดและพูดคุยกับพ่อแม่มากกว่า
นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่อยู่ครอบครัวแหว่งกลางระดับการศึกษาสุดท้าย จะต่ำกว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ โดยเฉลี่ย 1 - 1 ปี ครึ่ง เช่น เด็กที่อยู่กับครอบครัวอาจจะจบชั้น ม.6 แต่เด็กที่ครอบครัวแหว่งกลางจบการเรียนชั้นสุดท้ายที่ ม.4 หรือ ม.5 แต่ก็ยังมีหลายตัวแปรที่ส่งผลต่อการสำเร็จการศึกษาของเด็กในครอบครัวแหว่งกลางเหล่านี้
ผล "บวก-ลบ" ครอบครัวแหว่งกลาง
สอดคล้องกับข้อมูล จากโครงการวิจัย การศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาในครอบครัวแหว่งกลาง โดยใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐาน โดย สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 6 สำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยอ้างอิง กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึง ผลกระทบทางจิตสังคมของครอบครัวข้ามรุ่นทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ
ผลกระทบเชิงบวก คือ ปู่ย่าตายายมีสุขภาพดีขึ้น การได้เลี้ยงดูหลานจะส่งผลสุขภาพโดยรวม อาทิ ภาวะซึมเศร้าน้อยกว่า และมีความพอใจในชีวิตสูงว่ากลุ่มที่ไม่มีหน้าที่ดูแลหลาน และยิ่งปู่ย่าตายายได้ดูแลหลานนานขึ้นเท่าไหร่ ผลในเชิงบวกเหล่านี้ยิ่งเด่นชัดมากขึ้น ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากการที่บิดามารดาเด็กส่งเงินกลับมาให้ปู่ย่าย

ผลกระทบเชิงลบ คือ ความผูกพันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ กล่าวคือ เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผูกพันแน่นแฟ้นกับพ่อแม่เมื่อเทียบกับเด็กที่ได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้า นอกจากนี้ เด็กอาจต้องรับผิดชอบดูแลปู่ย่าตายาย วัยชรา รวมถึงมีช่องว่างระหว่างวัย อาจทำให้การสื่อสารแบบเปิดใจในเรื่องสำคัญต่าง ๆ อาทิ การเริ่มเป็นหนุ่มสาว และเรื่องเพศ เป็นเรื่องที่ยากลำบากหรือต้องห้าม
พัฒนาการและการศึกษาต่อ เนื่องจากเด็กเหล่านี้ มีโอกาสเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาน้อยกว่า พัฒนาการของเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยปู่ย่าตายายนั้นมีโอกาสด้อยกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดามารดา และเด็กวัยเรียนที่อยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นผู้ย้ายถิ่น
ครอบครัว หวังหนุน 6 ด้าน
นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าว ยังชี้ให้เห็นถึงความต้องการของครอบครัวแหว่งกลาง ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้การเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากอัตราการเกิดคุณภาพมีต่ำเกินไป จะทำให้ขาดดุลทางโครงสร้างประชากรในอนาคต อาทิ การลดหย่อนภาษีรายได้สำหรับผู้มีบุตรในอัตราก้าวหน้าและแม่ที่ต้องทำงาน หรือสวัสดิการช่วยเหลือการมีบุตร 2.การสนับสนุนสถานรับดูแลเด็กก่อนวัยเรียนที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความลำบากของพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดูบุตรระหว่างออกเดินทางไปทำงาน
3.รัฐบาลควรสนับสนุนรณรงค์ให้ครอบครัวมีบุตรเมื่อมีความพร้อม เพื่อลดปัญหาจำนวนบุตร 4.ภาครัฐควรส่งเริ่มภาคเอกชนให้สนับสนุนการทำรทำงานแบบ Work Life Balanced เน้นประสิทธิภาพมากกว่าเวลาในการทำงาน เพื่อให้แรงงานสามารถจัดสรรเวลาในการดูแลบุตรหรือผู้สูงอายุได้ 5.ชุมชน ภาครัฐ (โดยเฉพาะ อปท. หน่วยงานระดับพื้นที่) รวมถึงภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและช่วยดูแลผู้สูงอายุ และให้ความรู้ในด้านการรักษาสุขภาพ รวมถึงสุขอนามัย เพื่อการดูแลเด็กให้มีคุณภาพ และ 6.รัฐควรกระจายความเจริญไปยังห้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อเริ่มการมีงานทำในพื้นที่
แนวโน้มครอบครัวแหว่งกลางเพิ่ม - รัฐเร่งแก้
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า จากข้อมูลการวิจัยดังกล่าวยังพบว่า ปรากฏการณ์ครอบครัวแบบใหม่ที่เรียกว่า "ครอบครัวแหว่งกลาง" จากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 100,000 ครอบครัว ในปี พ.ศ.2530 เพิ่มขึ้นเป็น 400,000 ครอบครัว ในปี พ.ศ.2556 โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 76 อยู่ในชนบท ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 47 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้หญิงร้อยละ 90 มากกว่า มากกว่าครึ่งอายุ 60 ปีขึ้นไป และ ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปก็เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4 ในปี พ.ศ.2530 เพิ่มขึ้นเป็น 8% ในปี พ.ศ.2556

ทั้งนี้ ภาครัฐได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 - 2570) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ สร้างโอกาสความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แผนยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.ศ.2565 -2570) และแผนปฏิบัติการด้านครอบครัว พ.ศ. 2566 - 2570 มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง มีหลักประกันที่มั่นคง ขจัดความรุนแรงในครอบครัว และส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาวะ และสัมพันธภาพที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางการส่งเสริม