เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2567 รัฐมนตรีสาธารณสุขของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เปิดเผยว่า คาดว่าจะได้รับวัคซีนป้องกันโรค MPox หรือฝีดาษลิงในสัปดาห์หน้า หลังการพูดคุยกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้ทั้ง 2 ชาติให้คำมั่นจะช่วยเหลือคองโก วัคซีนชุดนี้จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างหลังจากการระบาดเมื่อปี 2565 คองโกไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ทั้งที่ในยุโรปและสหรัฐฯ มีวัคซีนให้ใช้อย่างแพร่หลาย
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการระบาดของ MPox ในคองโก เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 500 คนแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ที่คาดว่าติดเชื้อ 15,664 คนและเสียชีวิตแล้ว 548 คน และขณะนี้ในกรุงคินชาซามีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ 11 คน ซึ่งประเทศนี้ถือว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดมากที่สุด หลังจากเกิดการระบาดระลอกแรกตั้งแต่ปลายปี 2565
วัคซีน MPox
การระบาดของ MPox ในคองโกที่แพร่กระจายไปยังอีกหลายประเทศในแอฟริกา ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ตัดสินใจประกาศให้การระบาดของโรค MPox ในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกามีสถานะเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
โดยองค์การอนามัยโลกยังเรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตวัคซีนเพิ่มการผลิตวัคซีน MPox เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมทั้งร้องขอให้ประเทศที่มีสต็อกวัคซีน MPox บริจาคให้กับประเทศที่เกิดการแพร่ระบาดอยู่ด้วย
วัคซีน MPox
อ่านข่าว :
"สวีเดน" พบคนแรกติดเชื้อ "เอ็มพอกซ์" นอกแอฟริกา
WHO ประกาศ "ฝีดาษลิง" ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก
ฟิลิปปินส์พบผู้ป่วย MPox หลัง WHO ประกาศภาวะฉุกเฉิน
ขณะที่วานนี้ (19 ส.ค.2567) หน่วยงานด้านสาธารณสุขฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อ MPox หรือ ฝีดาษลิง เป็นชายชาวฟิลิปปินส์วัย 33 ปี ที่ไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ โดยผู้ติดเชื้อเริ่มมีอาการไข้เมื่อกว่า 1 สัปดาห์ที่แล้ว และอีก 4 วันต่อมาก็พบผื่นขึ้นที่ใบหน้า หลัง ท้ายทอย ลำตัว ขาหนีบ รวมถึงฝ่ามือและฝ่าเท้า การตรวจพบครั้งนี้ถือเป็นการพบผู้ติดเชื้อ MPox คนแรก นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และถือเป็นคนที่ 10 ของประเทศ นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรก เมื่อเดือน ก.ค.2565 โดยขณะนี้กำลังรอผลตรวจจากห้องปฏิบัติการเพื่อระบุสายพันธุ์
ชาวคองโกติดเชื้อกันอย่างแพร่หลาย
ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่ 3 นอกแอฟริกาที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ MPox หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางการสวีเดนและปากีสถานออกมารายงานพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีประวัติเคยเดินทางไปยังแอฟริกาและประเทศแถบตะวันออกกลางตามลำดับ
อ่านข่าว :
รายแรก! "ฝีดาษลิง" ในฟิลิปปินส์ ไม่มีประวัติเดินทางนอกประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญเตือน "ไทย" เตรียมรับมือ "ฝีดาษลิง" สายพันธุ์ใหม่