วันนี้ (7 มี.ค.2567) ชาวบ้านร่มฟ้าไทย ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย พร้อมหน่วยงานในพื้นที่ อ.เทิง และเจ้าเมืองปากทา เมืองคอบ ประเทศลาว ร่วมกันทำแนวกันไฟตามแนวชายแดนภูชี้ฟ้า ที่มักประสบปัญหาไฟป่าลามข้ามพรมแดนทุกปี
เป็นความร่วมมือกลไกระดับชายแดน ด้าน อ.เชียงแสน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับ เมืองต้นผึ้ง เมืองห้วยทราย เมืองปากทา ประเทศลาว

การแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันข้ามแดนที่ผ่านมา จะมีการลงนามความร่วมมือระหว่าง จ.เชียงราย กับแขวงบ่อแก้ว ครั้งนี้ลงลึกร่วมมือระดับนายอำเภอ กับเจ้าเมืองร่วมกันแก้ลงไประดับท้องถิ่น ชุมชน
นายประเสริฐ จิตพลีชีพ รองผู้ว่าฯ เชียงราย มองกลไกความร่วมมือครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในอนาคต หมุดหมายแรกที่ทำคือ ต้องเร่งสร้างความใจ และให้ตระหนักในผลกระทบของฝุ่น แก้ไปที่ต้นเหตุของฝุ่น จากเกษตรกรรม เผาป่า ฯลฯ

สอดคล้องกับ นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ที่เตรียมทั้งโครงการ งบประมาณ ทำงานร่วมกับประเทศลาว และประเทศลุ่มน้ำโขง ทำงานแก้ฝุ่น ชูโมเดลแก้ปัญหาฝุ่นควันที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่ส่งผลกระทบควันข้ามแดนในสิงค์โปร์ และมาเลเซีย จนเกิดกลไกอาเซียนแก้ปัญหา

โจทย์ใหญ่ ๆ การทำงานเรื่องฝุ่น ผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต กล่าวว่า ต้องเปลี่ยนกลไกการผลิต รูปแบบ การตลาด อาจมีมาตรการยกเลิกรับซื้อสินค้าที่เกิดจากการเผา เช่น อ้อย ที่ก่อให้เกิดมลพิษ อาจต้องขอให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ เช่น น้ำอัดลมรายใหญ่ของสหรัฐฯ งดรับซื้ออ้อยที่เกิดจากการเผา
ขณะที่การแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี ปกรณ์ เพ็ชรประยูร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จีสด้า) เปิดเผยว่า ในลาว มีการเซ็น MOU ร่วมกัน แผนอนาคตอาจเห็นการรายงานไฟป่าและฝุ่นควันร่วมกัน และจะค่อยๆ ขยายไปประเทศในลุ่มน้ำโขง ที่ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเป็นฐานข้อมูลในการรายงาน

ด้านนายสุไล ดวงพาคำ เจ้าเมืองปากทา ประเทศลาว ระบุว่า แม้การแก้ปัญหาในลาว ต้นเหตุจากการเผาการเกษตร และพื้นที่ป่า อาจทำได้ยากจากกระบวนการผลิต แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีจุดเริ่มต้นของการสร้างการรับรู้ และตระหนักในผลกระทบจากฝุ่นที่เกิดขึ้น
สอดคล้องกับนายคำแยง ดอนไชยสิทธิ์ เจ้าเมืองต้นผึ้ง ระบุว่า ทำได้ยากแต่ต้องทำ เพราะรัฐบาลลาวก็มีนโยบายด้านนี้ชัดเจน เช่น การห้ามเผาในช่วงนี้ และเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศร้อยละ 70 แสวงหาความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา
อ่านข่าว : เปิดร่าง MOU กรมอุทยานฯ-ส.ป.ก.ปมพิพาทที่ดิน