ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาคปชช.ชี้ช่องโหว่ร่าง กม.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

สังคม
4 เม.ย. 68
14:05
86
Logo Thai PBS
ภาคปชช.ชี้ช่องโหว่ร่าง กม.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว
อ่านให้ฟัง
06:12อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ ชี้ช่องโหว่ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ที่ "พม." เดินหน้าเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนประกบคู่ เพื่อให้กฎหมายสมบูรณ์ขึ้น

วันนี้ (4 เม.ย.2568) วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้แทนเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ระบุว่า กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 รวมระยะเวลา 18 ปี แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา จะมีการเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ถูกแก้

ล่าสุด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้นำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ส่งต่อไปยังสำนักงานกฤษฎีกา และเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่จะมีการขยายสิทธิการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในบางส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคประชาชนเห็นด้วยและสนับสนุน แต่ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับช่องว่างของตัวบทกฎหมายและประสิทธิภาพในการบังคับใช้

ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงเดิมและสถิติความรุนแรง

ผู้แทนเครือข่ายฯ ระบุว่า ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฉบับปี 2550 ถูกนำมาใช้จริงน้อยมาก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ยปีละ 15,000 คน

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวง พม. พบว่ามีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 2,000 – 3,000 คนต่อปี ขณะที่ตัวเลขของผู้ที่ไปแจ้งความดำเนินคดีจริงมีเพียงหลักร้อย เช่น ปี 2565 มีการแจ้งความดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เพียง 158 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายยังขาดประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง

ข้อดีของร่างกฎหมายของกระทรวง พม.

ผู้แทนเครือข่ายฯ ระบุว่า ข้อดีของร่างกฎหมายของกระทรวง พม. คือ มีการขยายความหมายของ "ความรุนแรงในครอบครัว" เพิ่ม "ความรุนแรงทางเพศ" เข้าไปในนิยาม ซึ่งก่อนหน้านี้ กฎหมายฉบับปี 2550 กำหนดเพียงความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ และสุขภาพ

ขยายขอบเขตของผู้ได้รับการคุ้มครอง แต่เดิมกำหนดเฉพาะคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่ร่างกฎหมายของกระทรวง พม. ครอบคลุมถึง "คู่รัก" ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ ข้อดีอีกข้อคือ มีการเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิดซ้ำ หากกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปี จะมีการเพิ่มโทษ

ช่องว่างของร่างกฎหมายฯและข้อกังวลของภาคประชาชน

ผู้แทนเครือข่ายฯ ระบุว่า แม้ว่าร่างกฎหมายของกระทรวง พม. จะมีการปรับปรุง แต่ยังมีข้อกังวลสำคัญ คือ แนวคิดพื้นฐานของกฎหมาย เช่น กฎหมายฉบับเดิมมุ่งเน้นให้ครอบครัวกลับมาอยู่ร่วมกันมากกว่าการคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ซึ่งขัดกับแนวทางสากลที่มองว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

รวมไปถึงข้อกังวลเรื่องอัตราโทษที่ไม่เหมาะสม คือปัจจุบัน กฎหมายกำหนดโทษสูงสุดสำหรับความรุนแรงในครอบครัวเพียงจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 60,000 บาท หากเทียบกับกฎหมายอาญามาตรา 295 ที่กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี สำหรับการทำร้ายร่างกายทั่วไป แต่เมื่อเป็นกรณีในครอบครัวกลับมีโทษเบากว่า ส่วนเรื่องการยอมความ กฎหมายยังคงเปิดช่องให้มีการยอมความได้โดยไม่มีเงื่อนไขที่ชัดเจน ทำให้ผู้กระทำผิดสามารถหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ

รวมทั้งมาตรการบังคับใช้ที่ไม่จริงจัง มองว่า ร่างกฎหมายของกระทรวง พม. ยังคงอนุญาตให้ผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการบำบัดหรือทำงานบริการสาธารณะ แทนการรับโทษทางอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำผิดหลุดรอดจากการรับผิดได้ และอีกประเด็นคือ การสนับสนุนผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่ยังขาดงบประมาณและกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ข้อเสนอจากภาคประชาชน

ผู้แทนเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ ระบุว่า ทางเครือข่ายฯ ซึ่งประกอบด้วย 9 องค์กรที่ทำงานด้านความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ มีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายในประเด็นให้ยึดหลักกฎหมายอาญาเป็นมาตรฐานในการกำหนดโทษ และให้จำกัดการยอมความเฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายร้องขอเองโดยสมัครใจ รวมทั้งการกำหนดมาตรการลงโทษที่ชัดเจนและจริงจังต่อผู้กระทำผิด และควรมีการเพิ่มงบประมาณและมาตรการสนับสนุนผู้ถูกกระทำ เช่น กองทุนช่วยเหลือ

เครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ ยื่นร่างฯภาคประชาชน

ผู้แทนเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงฯ ระบุว่า เพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์มากขึ้น ภาคประชาชนได้เสนอร่างกฎหมายฉบับของตนเอง โดยจะเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนในเดือน พ.ค. และยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาควบคู่ไปกับร่างของกระทรวง พม.

อ่านข่าว : วิกฤต ! ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเท่าตัว 

เสนอ 9 กลไกคุ้มครองตามกฎหมาย ป้องกันเหตุรุนแรงในครอบครัว

 เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว "แม่ - เมีย" ถูกทำร้ายสูงขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง