ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เอกชนหวั่นโลกผันผวนกระทบธุรกิจ กังวล “เด็กเกิดน้อย-กฎระเบียบรัฐแข็งตัว”

เศรษฐกิจ
18 ธ.ค. 66
09:42
336
Logo Thai PBS
เอกชนหวั่นโลกผันผวนกระทบธุรกิจ กังวล “เด็กเกิดน้อย-กฎระเบียบรัฐแข็งตัว”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตัวแทนธุรกิจเอกชนอภิปรายสถานการณ์-ปัญหาเศรษฐกิจไทย ใน “วันธรรมศาสตร์” สะท้อนปัญหาทรัพยากร-โครงสร้างประชากร จำนวนแรงงานที่ยังไม่สอดคล้องความต้องการ

ย้ำอุปสรรคด้านกฎหมาย-กฎระเบียบของรัฐ จำเป็นต้องลดความซับซ้อน ด้าน ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ยันบทบาทมหาวิทยาลัยต้องมีส่วนเข้าไปแก้ไข ตอบโจทย์อุตสาหกรรม-ช่วยขับเคลื่อนประเทศ

นายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) กล่าวในการอภิปรายหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทย ในยุคดิจิตอล” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวันธรรมศาสตร์ 10 ธ.ค.2566 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ

โดยระบุตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันแม้สถานการณ์ของโลกจะอยู่ในความยุ่งเหยิง ซับซ้อน และไม่แน่นอน แต่หนึ่งในสิ่งที่แน่นอนคือจำนวนทรัพยากรบนโลกที่ร่อยหรอน้อยลงทุกวัน เมื่อหารเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรที่มีมากขึ้นหลายเท่าจากในอดีต

อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือสมัยก่อนพ่อมีลูก 8 คน ยังเลี้ยงได้ แต่คนรุ่นหลังแค่มีลูกคนเดียวยังแทบตาย ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ประเมินได้บนความไม่แน่นอน คือทิศทางของอนาคตที่จะอยู่บนการแย่งชิงฐานทรัพยากร และพยากรณ์ได้ว่ามนุษย์จะลำบากขึ้นอย่างแน่นอน

นายพิชัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้จำนวนการบริโภคจะเพิ่มขึ้น แต่กำลังการผลิตของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะฝั่งเอเชียก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่แข่งขันในเชิงการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และการใช้เทคโนโลยีจะน่ากลัวมากขึ้น ขณะเดียวกันท่ามกลางภูมิทัศน์การเมืองโลกที่มีการแบ่งขั้ว การกีดกันการค้า ตลอดจนกระแสของการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เหล่านี้ จึงเป็นโจทย์ที่เราจะต้องนำมาคิดและปรับตัว

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ไทยในฐานะที่เป็นประเทศขนาดเล็ก คงจะต้องวางตัวและเดินตามกระแสเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็ควรจะต้องพึ่งพากำลังการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นบทเรียนที่เห็นได้จากสถานการณ์โควิด-19 ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตที่เพิ่มความทันสมัย พร้อมกันนั้นก็จะต้องลดข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบบางอย่างที่เก่ามาก และบางอันก็ขัดกันเอง ซึ่งทำให้คนทำธุรกิจมีความยากลำบาก

ด้าน นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจเผชิญในปัจจุบัน คือความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในหลากหลายมิติ

ไม่มีสูตรตายตัวอีกต่อไปว่า ทำสิ่งใดแล้วจะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะบทเรียนสำคัญจากช่วงโควิด-19 คือไม่มีใครทราบได้ว่า สถานการณ์จะเป็นไปอีกนานเท่าไร จึงแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถมีแผนธุรกิจเดียวได้ แต่จำเป็นจะต้องมีแผนสำรองถัดไปเตรียมเอาไว้ด้วย

นางศุภจี กล่าวว่า ขณะเดียวกันในโลกธุรกิจก็มีความทับซ้อนกันมากยิ่งขึ้น จนไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะอยู่รอดปลอดภัยไปได้ตลอด ตัวอย่างเช่นธนาคาร ปัจจุบันไม่ได้แข่งขันกับธนาคารด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังมีผู้เล่นใหม่ๆ ในสายเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อที่เข้ามาเป็นคู่แข่งด้วย รวมไปถึงอีกปัญหาสำคัญในขณะนี้คือความขัดแย้งทางความคิด ที่มีความแตกต่างกันระหว่างคนหลากหลายเจนเนอเรชั่น อันเป็นสิ่งที่หลายองค์กรพบเจอในปัจจุบัน

ภาคธุรกิจไทยยังเจอกับแรงกดดันต่าง ๆ เช่น ภูมิทัศน์ของโลกที่ปัจจุบันมีแนวคิดเปลี่ยนจากโลกาภิวัฒน์ กลับมาสู่การพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่จะทำให้มีคนเข้าสู่ระบบแรงงานน้อยลง แต่ขณะเดียวกันก็มีความไม่สอดคล้องกันระหว่างทักษะที่ภาคธุรกิจต้องการ กับปริมาณแรงงานที่ถูกผลิตออกมาด้วย ซึ่งตรงนี้อาจต้องพึ่งมหาวิทยาลัยในการช่วยผลิตคน หรือให้ข้อเสนอแนะแก่ภาคส่วนต่างๆ ในฐานะสถาบันวิชาการ

นางศุภจี ยังกล่าวอีกว่า แม้จะเผชิญกับแรงกดดันต่าง ๆ แต่ก็ยังมีโอกาสหากทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันผลักให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาต่อไปได้ จึงอยากฝาก 6 ข้อเสนอถึงรัฐบาล ที่ประกอบด้วย “3 สร้าง” ได้แก่ สร้าง Branding ประเทศไทย เช่นการเข้าสู่ตลาดพรีเมียมมากขึ้น, สร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว, สร้างมาตรฐานยกระดับแรงงาน ผนวกกับ “2 กระตุ้น” คือ กระตุ้นประสิทธิภาพ เช่นให้สิทธิประโยชน์ภาคธุรกิจมากขึ้น, กระตุ้นความยั่งยืน และ “1 ลด” คือ ลดความซับซ้อน โดยเฉพาะกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ

ด้าน ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากมุมมองของตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำในครั้งนี้ ทำให้ได้พบถึงภาพปัญหาที่เห็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโครงสร้างประชากร หรือความซ้ำซ้อนยุ่งยากของกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็พบว่ายังมีอีกหลายเรื่องซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องเข้าไปมีบทบาท

ตัวอย่างเช่น ปัญหาความไม่ได้สมดุลของตลาดแรงงาน ที่สถาบันการศึกษาไม่ได้ผลิตคนตามความต้องการของตลาด ผลิตได้มากแต่ตลาดไม่ต้องการ หรือที่ตลาดต้องการกลับมีไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานของทรัพยากรบุคลากรที่ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องได้รับการยกระดับมาตรฐาน ที่มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องทำมากขึ้น และยังรวมไปถึงบทบาทการวิจัยและพัฒนาในด้านต่าง ๆ

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวว่า จากมุมมองอันมีค่าของภาคธุรกิจนี้ ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยไทย และถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองจะต้องเดินหน้าพูดคุยกับภาคธุรกิจเอกชนอย่างจริงจัง เพื่อนำมุมมองข้อเสนอที่ได้มาปรับปรุงหลักสูตร พัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม และช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่จะยกระดับการพัฒนาของประเทศต่อไปได้

อ่านข่าวอื่นๆ

ลุ้นปีหน้า! ก.พลังงานมอบของขวัญปีใหม่คนไทย "ลดค่าไฟ"

ที่พักเต็ม! จองยาวข้ามปี นักท่องเที่ยวแห่เดินทางรับลมหนาว

จับตา 20 ธ.ค.ประชุมบอร์ดค่าจ้าง ปรับสูตรขึ้นค่าแรงใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง