แม้พรรคก้าวไกลจะถูกผลักออก แต่ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยจะตัดไมตรีเสียทีเดียว แม้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะยอมรับว่า เพื่อไทยมีข้อจำกัดอย่างมาก ในการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล
แต่ขณะเดียวกันก็เคารพเอกสิทธิของพรรคก้าวไกลว่า จะมาสนับสนุนเลือกนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ และเพื่อไทยก็ปรารถนาจากทุกพรรคทุกส่วน
ขณะที่ปฎิกิริยาของพรรคก้าวไกล หลังถูกทอดทิ้ง คงมีเพียง พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคฯ ที่โยนหินถามทางไปยัง สส.รุ่นใหม่ของพรรคฯว่า หากต้องการปิดสวิตช์ สว.และพรรค 2 ลุง อาจจะช่วยมือโหวตให้เพื่อไทยหรือไม่ ทำให้ สส.หลายคนในพรรคต้องไปทำโพลถามชาวบ้านในพื้นที่ และได้คำตอบว่า ไม่ยกมือให้ เช่นเดียวกับคนในพรรค
การเปิดประเด็นโดยใช้วาทกรรมของ สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “เพื่อไทยไม่ได้ข้ามขั้ว ขั้วอื่นข้ามมาหาเราเอง”จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า จริงหรือขั้วอื่นข้ามมาหาเพื่อไทยเอง
เพราะในข้อเท็จจริง พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กที่ถูกส่งเทียบเชิญมาร่วมรัฐบาลนั้น ต่างได้รับสายตรงติดต่อจากทางเพื่อไทยมากกว่า
เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็จับมือกับ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่าจะร่วมรัฐบาลด้วยกัน 212 เสียง
วันต่อมา 8 ส.ค.2566 พรรคเพื่อไทย แจ้งนัดหมายสื่อมวลชนว่า วันที่ 9 ส.ค.พรรคเพื่อไทย จะแถลงข่าวร่วมกับพรรคการเมืองอีก 10 พรรค ที่จะมาร่วมรัฐบาล
และวันนี้( 9 ส.ค.) เกิดความเคลื่อนไหวก่อนการแถลงข่าวของพรรคเพื่อไทย มีรายชื่อพรรคที่จะร่วมแถลง 5 พรรคเล็กคือ ประชาชาติ เสรีรวมไทย เพื่อไทยรวมพลัง พลังสังคมใหม่ ท้องที่ไทย
โดยเมื่อช่วง 09.00 น. นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนากล้า ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ว่า ได้รับการทาบทามจากพรรคเพื่อไทย แต่ยังไม่สรุปว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องรอพูดคุยกันในพรรคก่อน
เวลาผ่านไปแต่ยังไม่ถึงครึ่งวันเจ้าของพรรคตัวจริง สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนากล้า ก็ไปโผล่ที่รัฐสภา เพื่อเตรียมแถลงข่าวร่วมกับพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา บอกเมื่อวานนี้ (8 ส.ค.) ว่า ยังไม่ได้รับเทียบเชิญจากพรรคเพื่อไทย แต่ในวันพรุ่งนี้ (10 ส.ค.2566) เวลา 09.30 น. นัดหารือกับเพื่อไทย และจะนั่งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกันตอน 10 โมงตรง
ถ้านับจนถึงปัจจุบันพรรคร่วมภายใต้การนำของเพื่อไทยมีแล้ว 9 พรรค ประกอบด้วย เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาชาติ เสรีรวมไทย เพื่อไทยรวมพลัง พลังสังคมใหม่ ท้องที่ไทย ชาติพัฒนากล้า ชาติไทยพัฒนา
ส่วนพรรคที่มีแนวโน้มว่าจะไปเป็น “ฝ่ายค้าน” นอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว พรรคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะร่วมเป็นฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม
ส่วนที่เหลืออีก 2 พรรค ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปทางไหนแน่ ก็เห็นจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับ พรรคร่วมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
ท่ามกลางความสับสนว่า เพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ และพรรค 2 ลุง จะเดินไปทางไหน ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทั้ง 3 พรรคการเมือง “ก้าวไกล -พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ” ใครจะเป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ด้วยเหตุพรรคทั้งหมดนี้ “ไม่มีหัวหน้าพรรค”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีถือหุ้นไอทีวี จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลาออก เพราะไม่ได้จำนวน ส.ส.ตามเป้าหมาย
ขณะที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ลาออก เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ในพรรคเติบโต
อย่างไรก็ตาม หากดูตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ระบุว่า “ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทน ราษฎร”
ดังนั้นอย่าว่าแต่การออกล่าหาเสียงสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง ภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังบอกว่า พร้อมขอโทษพรรคก้าวไกล และจะขอเสียงสนับสนุนด้วย เพราะไม่มีอะไรแน่นอน
ไม่แปลกใจว่า “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” จะเป็นใคร เพราะแม้แต่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่เหมือนจะเป็นของตาย แบบไม่ต้องโหวตของก้าวไกล ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร
สงครามการเมืองยังอีกยาวไกล เมื่อสงครามยังไม่จบ...อย่าเพิ่งนับว่า เป็นศพของใคร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉบับเต็ม! รัฐบาลสมานฉันท์เพื่อไทยจับมือ 6 พรรค "สลายขั้วการเมือง"
"มุข" ยัน "วันนอร์" ไม่เลือกปฎิบัติ ยึดตามหลักการ ชี้รธน.บิดเบี้ยว