ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือน! วัยรุ่นน้ำท่อม ป่วยโรคไตพุ่ง-ชี้ฉี่เหลืองเข้มพบหมอด่วน

สังคม
27 มิ.ย. 66
13:04
2,548
Logo Thai PBS
 เตือน! วัยรุ่นน้ำท่อม ป่วยโรคไตพุ่ง-ชี้ฉี่เหลืองเข้มพบหมอด่วน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอหมู-วีระศักดิ์" เตือนอีกรอบ กรณีพบวัยรุ่นเข้ารับการรักษาอาการไตมากขึ้นจากการดื่มน้ำกระท่อมในปริมาณมาก เป็นเวลานาน แนะหากพบฉี่สีเข้ม ผิวเหลือง บ่งชี้ภาวะตับถูกทำลายจนไตทำงานหนัก เสี่ยงไตวาย

กรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กเติ้ล บ้านฉาง ออกมาระบุว่า ชื่นใจ ไตลำบาก เตือนคนที่คุณรัก แจ้งจากสถานพยาบาล ตอนนี้เริ่มมีวัยรุ่นเข้ามา รพ.ด้วยอาการไต จนได้ฟอกไต พบประวัติดื่ม น้ำกะท่อมโรงพยาบาลจะต้องเจอคนไข้โรคไตเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

วันนี้ (27 มิ.ย.2566) รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โพสต์ผ่าน เฟชบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ ว่า ข้อมูลทางการแพทย์ พบว่าการดื่มน้ำกระท่อม ในปริมาณมากเป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายต่อตับและไต

โดยสัญญาณเตือนที่สำคัญ คือ ปัสสาวะสีเข้มมากและผิวสีเหลือง ซึ่งเมื่อตับถูกทำลาย ไตจะทำหน้าที่พิเศษในการกรองสารพิษออกจากร่างกายแทน ส่งผลให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะไตวายในผู้ที่มีความเสียหายของตับ

หากท่านใด ดื่มน้ำกระท่อมมานาน แล้วพบว่า มีปัสสาวะเข้มมากและผิวสีเหลือง ควรหยุดดื่ม และรีบไปพบแพทย์

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามที่โรงพยาบาลบ้านฉาง จ.ระยอง ระบุว่าพบมีกลุ่มผู้ป่วยวัยรุ่นที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และตรวจเจอภาวะไตวาย ต้องฟอกไต จากเดิมผู้ป่วยเป็นกลุ่มสูงอายุที่เข้าฟอกอาการโรคไตจากโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน 

เบื้องต้นจากการซักประวัติพบมีความเชื่อมโยงกับการดื่มน้ำกระท่อม รวมทั้งกัญชา สาเหตุอาจมาจากการเข้าถึงได้ง่าย เพราะไม่ได้เป็นยาเสพติด 

สำหรับผลข้างเคียงที่เกิดจากการดื่มน้ำใบกระท่อม จะมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ สมองเบลอ ไม่มีสมาธิ และอาการรุนแรงสุดก็คือ อาเจียนเป็นเลือด วิธีรักษาคือล้างสารพิษของใบกระท่อมออกจากร่างกาย

สำหรับสารเสพติดที่พบในใบกระท่อม คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD และยาบ้า

ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ รายงานว่าปี 2566 มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด จำนวน 4,669 คน โดยเป็นเพศชาย 4,189 คนหรือ 89.72% ส่วนเพศหญิง 480 คน หรือ 10.28%

โดยกลุ่มอายุที่เข้ารับการบำบัดมากสุด คือช่วง 25-29 ปี จำนวน 23.39% รองลงมา 20-24 ปี จำนวน 22% ส่วนประเภทของยาเสพติดเป็นเฮโรอีน 29.77% รองลงมา ยาบ้า 26.94% และกัญชา 13.71% นอกจากนี้พบว่ามีผู้บำบัดจากกระท่อมในปี 2566 จำนวน 72 คน หรือ 1.54%  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หามส่งเด็ก ม.2 ดื่มน้ำใบกระท่อมอาเจียนเป็นเลือด

เคี้ยว "ใบกระท่อม" ไม่ดีด-แค่เมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง