เมื่อครบกำหนด 2 เดือน กกต.เมียนมา ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่าได้มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง 40 พรรค หนึ่งในนั้นคือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ นางอองซาน ซูจี อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่แล้วเคยเป็นหัวหน้าพรรค และขณะนี้ถูกจำคุกหลังเกิดรัฐประหาร 33 ปี จากความผิดหลายคดี ทั้งการละเมิดกฎหมายความลับของรัฐ และยุยงปลุกปั่นทำให้เมียนมา เหลือพรรคการเมืองล่าสุด 63 พรรค
ทันทีที่ถูกสั่งยุบพรรค สมาชิกพรรค NLD ได้ออกมาตอบโต้ เราตั้งใจแล้วว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขณะนี้มีนักการเมือง และนักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกจับ ส่วนประชาชนก็ถูกทรมานโดยทหาร
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สภาความมั่นคงแห่งชาติเมียนมา ประกาศขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งทางพลโทเอวิน สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา (SAC) ยอมรับกับตัวแทนชาติพันธ์ และประชาชนรัฐฉาน ที่มาร่วมงานวันชาติไทใหญ่ บนดอยไตแลง รัฐฉาน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า แม้กระบวนการสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธ์นั้นคืบหน้า แต่เนื่องจากเกิดเหตุวุ่นวาย รวมทั้งมีการมีสร้างสถานการณ์ความรุนแรงจากกลุ่มชาติพันธ์ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสร้างสันติภาพ ทำให้เราต้องมีประกาศควบคุมต่อสถานการณ์ ไปอีกระยะหนึ่ง
เดิมรัฐบาลเมียนมาชุดปัจจุบัน ได้กำหนดการเลือกตั้งไว้เดือนสิงหาคม 2566 แต่หลังขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน จนถึงวันนี้ (29/3/2566) ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน
2 เหตุการณ์ใหญ่ คือ ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และอีก 3 เดือนถัดมาสั่งยุบ 40 พรรคการเมือง ทำให้เมียนมา วันนี้ดูจะคงห่างไกล “ประชาธิปไตย” ไปอีกนาน แม้รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งมาจากการยึดอำนาจ จะอนุญาตให้มีการเลือกตั้งจริง แต่การเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ และได้รับการยอมรับหรือไม่ เพราะพรรคที่ถูกมองว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย อย่างพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ถูกสั่งยุบพรรค ส่วน นางอ่องซาน ซูจี สัญญาลักษ์การต่อสู้เพื่อประธิปไตย ยังถูกจองจำ ด้วยข้อหาสารพัด
ส่วนฝั่งกลุ่มชาติพันธ์ติดอาวุธ ทั้งกลุ่มที่ทำสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) และไม่ได้ทำสัญญาหยุดยิง คงทำใจได้ยาก เพราะคนที่ได้รับเลือกตั้ง และรัฐบาลคนใหม่ จะยังหนีไม่พ้นกองทัพ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) แต่กองทัพยังคงส่งทหารไปรบกับกลุ่มชาติพันธ์ ที่ทำ NCA ขณะเดียวกระบวนการสันติภาพที่ทำมาตั่งแต่ปี 2558 ยังไม่ไปถึงไหน ถูกกระตุกโดยกองทัพอยู่เนืองๆ
ไหนจะมีกลุ่มกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ที่ตั้งโดยคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ของเมียนมา ซึ่งอ้างว่าอาศัยอำนาจตามกฎบัตรแห่งสหภาพ (Federal Democracy Charter) พยายามรักษาอำนาจ และความชอบธรรมของรัฐบาลพลเรือน ที่ถูกกองทัพยึดอำนาจไป เคลื่อนไหวโดยอ้างเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมากลับคืน
ดังนั้นใครที่อยากเห็นประชาธิปไตยในเมียนมา คงต้องรออีกพักใหญ่ๆ และต้องจับตาว่า ใครหรือประเทศไหนจะขี่ม้าขาวนำพา ”ประชาธิปไตย”ที่แท้จริงมาให้เมียนมา