ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สปสช.เปิดเกณฑ์เยียวยาอาการไม่พึงประสงค์ฉีด "ไฟเซอร์นักเรียน"

สังคม
7 ต.ค. 64
19:21
11,180
Logo Thai PBS
สปสช.เปิดเกณฑ์เยียวยาอาการไม่พึงประสงค์ฉีด "ไฟเซอร์นักเรียน"
สปสช.เปิดเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยากรณีฉีดวัคซีนไฟเซอร์ นักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ยื่นขอรับเงินช่วยหลือได้ ขณะที่ภาพรวมมีผู้ปกครองอนุมัคิลงทะเบียนแล้ว 3.6 ล้านคน ฉีดกว่า 7 หมื่นคนท่ามกลางกระแส #ไฟเซอร์นักเรียน บนทวิตเตอร์

วันนี้ (7 ต.ค.2564) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า  ตามที่รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยเป้าหมาย 5,048,000 คนทั่วประเทศ เริ่มต้นฉีดเมื่อวันที่ 4 ต.ค.เป็นวันแรก โดยเป็นวัคซีนไฟเซอร์ และหากมีอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีน ทั้งนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 ระดับ

  • ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท
  • ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ หรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 240,000 บาท
  • ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 400,000 บาท

 

นพ.เจด็จ กล่าวว่า สำหรับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของเรา แต่หากเกิดขึ้นจำเป็นต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้นโดยเร็ว

หลักการจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นของสปสช.ไม่ไช่การพิสูจน์ถูกผิด หรือชี้ชัดว่าเป็นผลที่เกิดจากการฉีดวัคซีน แต่เป็นเงินเยียวยาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น

สำหรับขั้นตอนหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน COVID-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

  • โรงพยาบาลที่ฉีด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)
  • สำนักงาน สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต

โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

เอ็นดู ผู้ปกครอง-หมอลุ้นนักเรียนกลัวเข็ม

ขณะที่การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในหลายจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ รายงานเบื้องต้นมีนักเรียนประสงค์ฉีดวัคซีน 3,600,000 คน คิดเป็นร้อยละ 71 จากทั้งหมดกว่า 5,000,000 คน จะเริ่มฉีดให้กับสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัด อาทิ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี 

#ไฟเซอร์นักเรียน -แนะสังเกตอาการ

ข้อมูลล่าสุดวันที่ 6 ต.ค.เผยตัวเลขเด็กอายุ 12-17 ปี รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่ 1 จนถึงวันที่ 6 ต.ค. แล้ว 74,501 คน ทั้งนี้พบว่านักเรียนบางคนกลัวเข็ม จนผู้ปกครอง ครู และหมอ ต้องช่วยกันลุ้นและปรบมือให้หลังการฉีดวัคซีนแล้วเสร็จ 

ทั้งนี้โซเชียลติดแท็ก#ไฟเซอร์นักเรียน ขึ้นเป็นอันดับ 1 วันนี้มีการสะท้อนปัญหาการไม่อยากฉีดวัคซีน  ส่วนหนึ่งเพราะมีการให้ข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงเช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และข่าวปลอมในแอปพลิเคชัน TikTok ที่บ่งชี้ถึงผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์ ที่มีต่อเด็กจำนวนมาก รวมทั้งพบโรงเรียนบางแห่งถูกเลื่อนการฉีดวัคซีน แต่ชาวโซเชียลจำนวนมากก็แนะนำให้เด็กๆกลับไปเข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ 

 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน COVID-19 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ความเสี่ยงหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนพบได้น้อยมาก แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ อาการของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือเจ็บเวลาหายใจ ใจสั่น เป็นลม

ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA ควรสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการเหล่านี้ภายใน 1 สัปดาห์หลังฉีด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ 

นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่เกิดจากวัคซีนชนิด mRNA มักพบในเข็มที่ 2 มากกว่า เข็มที่ 1 พบเพศชายที่มีอายุ 12-17 ปี จะมีอัตราการเกิดสูงสุด รองลงมาในช่วงอายุ 18-24 ปี ยังไม่มีพบในผู้สูงอายุ การวินิจฉัย โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกเรย์ปอด และการตรวจเลือดดูโปรตีนของกล้ามเนื้อหัวใจ ถ้าสงสัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์โรคหัวใจเพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.เปิดไทม์ไลน์ "ยาโมลนูพิราเวียร์" ถึงไทยธ.ค.-ม.ค.65

สธ.ชงสูตรฉีดวัคซีนใหม่แอสตราเซเนกา-ไฟเซอร์

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง