ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดตัวเลข คนไทยเสียชีวิต เกี่ยวข้องกับ "ดื่มแอลกอฮอล์"

สังคม
26 ธ.ค. 67
15:16
1,973
Logo Thai PBS
เปิดตัวเลข คนไทยเสียชีวิต เกี่ยวข้องกับ "ดื่มแอลกอฮอล์"

จากกรณี ที่ "แบงค์ เลสเตอร์" คนดังในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการร้องเพลงแร็ปขายพวงมาลัย และล่าสุด "แบงค์ เลสเตอร์" ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อเวลา 03.40 น.วันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการชันสูตรของตำรวจว่าเกิดจากสาเหตุใด 

ไทยพีบีเอส ออนไลน์ พบข้อมูล การเสียชีวิตของคนไทย ที่เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระหว่างปี พ.ศ.2558 - 2564 จัดทำโดย ผศ.ดร.จิราลักษณ์ นนทารักษ์ หัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็น หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง ALCOHOL-ATTRIBUTABLE DEATHS IN THAI PEOPLE FROM 2015 TO 2021 USING THE COMPARATIVE RISK ASSESSMENT APPROACH ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร ALCOHOLISM : CLINICAL AND EXPERIMENTAL RESEARCH(1) และได้รับทุนสนับสนุนจาก ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์

เสียชีวิตจากเหตุเกี่ยวข้องกับดื่มแอลกอฮอล์ แนวโน้มเพิ่มขึ้น

การวิจัยดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากข้อมูลการเสียชีวิต สำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และฐานข้อมูลด้านการแพทย์ และสุขภาพ 43 แฟ้มของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่า

จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ตั้งแต่ปี 2558 - 2564 รวมทั้งสิ้น 140,272 คน เฉลี่ยประมาณ 20,039 รายต่อปี ในผู้ชาย และ 2,312 รายต่อปีในผู้หญิง จำนวนการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และสูงสุดในปี 2562 คือ 21,737 คน

อ่านข่าว : เตือนดื่มสุรามากในระยะเวลาสั้น ออกฤทธิ์รุนแรงอันตรายถึงตาย

ทั้งนี้ การดื่มสุราเกี่ยวข้องกับโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต มากกว่า 200 สาเหตุ ทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  รวมถึงจากการวิเคราะห์การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา 3 อันดับแรกในผู้ชาย ได้แก่ อุบัติเหตุทางท้องถนน โรคตับแข็ง และอุบัติเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจ

ในผู้หญิง ได้แก่ อุบัติเหตุทางท้องถนน โรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ เห็นได้ชัดเจนว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ มีสาเหตุจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และมีความสัมพันธ์กับปริมาณการดื่มและระยะเวลาการดื่มที่ใช้เวลาสะสมยาวนาน  

ถ้าพิจารณาสัดส่วน การเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า สัดส่วนการเสียชีวิตด้วย สาเหตุที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์สูงสุดในกลุ่มอายุ 20-24 ปี ทั้งใน ผู้ชายและผู้หญิง คือ ร้อยละ 33.8 ในผู้ชาย และ ร้อยละ 14.8 ใน ผู้หญิง ตามลำดับ

กลุ่มอายุนี้ คือ กลุ่มวัยทำงานตอนต้นที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศการเสียชีวิตในกลุ่มอายุนี้ทำให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นปัจจัยที่เราสามารถป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรได้ในประชากรไทย

ผศ.ดร.จิราลักษณ์ บนทารักษ์ นักวิจัย ให้ความเห็นว่า "การดื่มเหล้าเป็นฆาตรกรเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยในทุก ๆ ปี และส่งผลกระทบกับนักดื่มเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักดื่มวัยรุ่นที่เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร ทำให้ประเทศสูญเสียทั้งกำลังคนและมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว"

อ่านข่าว : เตือนนักดื่ม รู้จักภาวะ "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" เสี่ยงถึงตาย

"วัยรุ่น - วัยทำงานตอนต้น" ดื่มแอลกอฮอล์มากสุด

การศึกษาล่าสุดนี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แนวโน้มการเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นในสังคมไทยและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น ที่มีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในสังคมไทย

ดังนั้น มาตรการและนโยบายด้านสุขภาพในการส่งเสริมป้องกันโรคจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น การลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของประชาชนไทย จะช่วยทำป้องกันและส่งเสริมสุขภาพประชาชน จากการพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพนี้ได้

ทั้งนี้ ผู้วิจัย ยังเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรมีการดำเนินการที่ชัดเจนในการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้ให้เห็นถือผลกระทบทางสุขภาพต่อตนเองทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่เกิดจากการดื่ม และผลกระทบต่อผู้อื่นจากการดื่มของนักดื่มเองโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว

ขณะที่ จากรายงาน ข้อเท็จจริงและตัวเลข เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ. 2562 -2564 จัดทำโดย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งเผยแพร่ การสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพประชากร พ.ศ.2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า 

ชายไทยเกือบครึ่งเป็น "นักดื่มประจำ"

ในปี พ.ศ.2564 ประชากรไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไปจำนวน 6.99 ล้านคน เป็นนักดื่มประจำ (ดื่มอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์) ซึ่งคิดเป็นความชุกของการดื่มประจำเท่ากับร้อยละ 12.26 (ร้อยละ 23.15 ในประชากรชาย และร้อยละ 2.12 ในประชากรหญิง ) เมื่อคิดเป็นจำนวนประชากรจะพบว่า ในปี 2564 มีนักดื่มประจำ เพศชายอยู่ 6.36 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นกว่า 10 เท่า ของจำนวนนักดื่มประจำเพศหญิงที่มีอยู่ 0.63 ล้านคน

ทั้งนี้ นักดื่มปัจจุบันชาวไทยมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 56.21 ของนักดื่มประจำทั้งหมดจะดื่มเป็นครั้งคราว หรือ ดื่มน้อยมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า นักดื่มเพศหญิงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80.39 ของนักดื่มปัจจุบันเพศหญิง) เป็นนักดื่มเป็นครั้งคราว ในขณะที่นักดื่มปัจจุบันเพศชายนั้น ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50.15) ดื่มเป็นครั้งคราว และอีกครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49.85 ) ดื่มประจำ

นอกจากนี้ ยังพบว่า นักดื่มปัจจุบันมากถึงร้อยละ 11.01 ดื่มสุราทุกวัน (7 วันต่อสัปดาห์) ร้อยละ 4.2 ดื่มเกือบทุกวัน (5-6 วันต่อสัปดาห์) ร้อยละ 9.38 และร้อยละ 19.16 ดื่ม 3-4 วัน และ 1-2 วันต่อ สัปดาห์ตามลำดับ โดยสัดส่วนของนักดื่มปัจจุบันเพศชายที่ดื่มสราทุกวันหรือเกือบทุกวันสูงถึงร้อยละ 12.66 และร้อยละ 4.85 ในขณะที่นักดื่มปัจจุบันเพศหญิงเพียงร้อยละ 4.44 และร้อยละ 1.82 เท่านั้นที่ดื่มสุราทุกวันหรือเกือบทุกวัน

เมื่อพิจารณาลักษณะทางประชากรของนักดื่มประจำ พบว่า นักดื่มประจำเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 91.03) เป็นผู้ชาย และอยู่ในกลุ่มวัยทำงานตอนต้น (อายุ 25-44 ปี) เป็นสัดส่วนสูงที่สุด (ร้อยละ 42.97) เป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าเป็นสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 46.25) และต่ำสุดในผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า (ร้อยละ 8.56) และนักดื่มประจำส่วนใหญ่มาจากภาคกลาง (ไม่รวม กทม.) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งรวมกันได้ประมาณร้อยละ 60.64 

ทั้งนี้ นิยามของกลุ่มนักดื่ม มีดังนี้

นักดื่มประจำ (Regular drinkers) หมายถึง ผู้ที่ดื่มสุราด้วยความถี่อย่างน้อย 1 ครั้งต่อ สัปดาห์ ในรอบ 12 เดือนก่อนการสำรวจ

นักดื่มหนัก (Heavy/binge drinkers) หมายถึง ผู้ที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาณ 5 หน่วยดื่มมาตรฐานขึ้นไปในช่วงเวลาของการดื่มหนึ่งครั้ง 

สำหรับในประเทศไทย 1 หน่วยดื่มมาตรฐาน หมายถึง ปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คิดเป็นปริมาณเอธานอลบริสุทธิ์เท่ากับ 10 กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับ เบียร์ (ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ 4.5-5%) ประมาณ 300 มล. เหล้าขาว/เหล้าสี (ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ 40%) ประมาณ 30 มล. หรือไวน์ (ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ 12-13%) ประมาณ 100 มล.

ผลสำรวจพบ คนไทยนิยมดื่ม "เบียร์" มากที่สุด

ขณะที่ ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ.2564  พบว่า นักดื่มร้อยละ 55.96 นิยมดื่มเบียร์มากที่สุด รองลงมา คือ สุราประเภทต่าง ๆ ได้แก่ สุราขาว/สุรากลั่นชุมชน สุราสี/สุราแดง และยาดองเหล้า/สุราจีน/วอดก้า/ อื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 40.98 และไวน์คูลเลอร์/สุราผสมน้ำผลไม้/เหล้าปั่น คิดเป็นร้อยละ 1.83 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในประเทศไทย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตในประชากรไทย ถึง 21,843 คน คิดเป็นร้อยละ 8.54 ของการเสียชีวิตทั้งหมด (จำนวนตายทั้งสิ้น 255,694 คน) ในปี พ.ศ.2557 สาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากที่สุดมาจากโรคมะเร็ง การบาดเจ็บ ความผิดปกติทางจิต เป็นต้น และก่อให้เกิดภาระโรคมากที่สุด ที่ 1,039,760 ปีสุขภาวะ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.02 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมดในผู้ชาย

ส่วนในผู้หญิง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งสิ้น 81,580 ปีสุขภาวะ คิดเป็นร้อยละ 1.30 ในปี พ.ศ. 2557 ภาระโรคที่มีสาเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มลดลงในเพศชาย จากร้อยละ 14.0 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมดในปี พ.ศ. 2547 เป็นร้อยละ 12.4 ในปี พ.ศ. 2557 ในขณะที่ภาระโรคที่มีสาเหตุจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลในเพศหญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 1.1 ของการสูญเสียปีสุขภาวะทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2547 เป็นร้อยละ 1.4 ในปี พ.ศ. 2557 ตามลำดับ

เฉลี่ยคนไทยจ่ายค่าเหล้า-เบียร์ 1.6 พันต่อเดือน 

นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ.2564 พบว่า นักดื่มมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยต่อคน เท่ากับ 1,677.23 บ.ต่อเดือน แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายจากการดื่มที่บ้าน 1,119.25 บ. และจากการดื่มที่ร้าน 557.98 บ.ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักดื่มเพศชายจะสูงกว่าของนักดื่มเพศหญิงประมาณ 2 เท่า คือ 1,876.42 บ. เทียบกับ 802.36 บ.ต่อเดือน

นักดื่มประจำเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการดื่มสุรามากกว่านักดื่มเป็นครั้งคราว คิดเป็นอัตราส่วนกว่า 7.6 เท่า กล่าวคือ 3,047.54 บ.เทียบกับ 402.11 บาท โดยนักดื่มประจำเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มที่บ้านมากกว่าการดื่มที่ร้าน (โดยเฉลี่ย 2,120.53 บ.ต่อเตือน เทียบกับ 927.01 บ.ต่อเดือน) ในทางกลับกัน นักดื่มเป็นครั้งคราวเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มที่ร้านมากกว่าการดื่มที่บ้านเล็กน้อย คือ 243.68 บ. และ 158.43 บ.ต่อเดือน ตามลำดับ

สำหรับผู้ดื่มหนักเป็นประจำมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการดื่มมากกว่านักดื่มปัจจุบันที่ไม่เคยดื่มหนัก ประมาณ 3 เท่า คือ 3,722.19 บ.ต่อเดือน เทียบกับ 1,415.82 บ.ต่อเดือน และมีค่าใช้จ่ายในการซื้อมาดื่มที่บ้านสูงกว่าการดื่มที่ร้าน นั่นคือ 2,466.68 บ.ต่อเดือน และ 1,255.51 บ.ต่อเดือน ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่านักดื่มปัจจุบันที่ไม่เคยดื่มหนักเลย และแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของนักดื่มปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า และแนวโน้มของการซื้อมาดื่มที่บ้านสูงมาก ขึ้นในรอบการสำรวจปี พ.ศ. 2560 และ 2564

ข้อมูล : ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา  

อ่านข่าว : "แบงค์ เลสเตอร์" คนดังโซเชียล เสียชีวิตหลังถูกจ้างดื่มเหล้า 

จ้าง ด.ญ.วัย 13 ปี ดื่มเหล้าช็อกหมดสติ หามส่ง ICU  

"หมอแล็บแพนด้า" เตือนกระดกแอลกอฮอล์เพียว-หมดไว ระวังถึงตาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง