ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ทักษิณ-จันทร์ส่องหล้า” เปิดแนวรบ ชี้ชะตา(รอบใหม่)การเมืองไทย

การเมือง
26 ธ.ค. 67
15:05
317
Logo Thai PBS
 “ทักษิณ-จันทร์ส่องหล้า” เปิดแนวรบ ชี้ชะตา(รอบใหม่)การเมืองไทย

เด็ดทุกเม็ด เผ็ดทุกดอก “ฮาบ่ละมันไว้เป๋นป้อ แม้ฮาจะแก่แล้ว คิงซัดฮามา ฮาซัดคิงไป” วาทะเดือดก่อนสิ้นปี 2567 ของอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อครั้งขึ้นเวทีปราศรัยช่วย ผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทยที่ จ.เชียงใหม่ หากถอดรหัสคำพูดไม่ต่างจากสำนวน “ 10 ปี กลับมาล้างแค้น ไม่สาย”

ปฏิบัติการเอาคืนของ “ทักษิณ” หลังจากแผ่นดินไทยนานถึง 17 ปี หากไล่เรียงนับจากออกจากชั้น 14 รพ.ตำรวจ และได้รับการแต่งตั้งในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อไทย แทบไม่พบร่องรอยคนแก่วัย 75 ปี ซึ่งเคยมีอาการป่วยหนัก ทุกกิริยาคำพูดและการกระทำ ไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น หากเกิดขึ้นตั้งแต่  “เศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จนต้อง “ตกม้าตาย” เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นตำแหน่ง

“เศรษฐา- แพทองธาร”สองนายกฯเพื่อไทย ในเงา“ชินวัตร”

การก้าวเข้าสู่ในสนามการเมืองของ “เศรษฐา” ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของรัฐบาลเพื่อไทย ได้หรือเสีย คุ้มหรือไม่ ไม่มีใครตอบแทนได้ นอกจากเจ้าตัว แต่วันเวลา 358 วัน ได้บันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้วว่า เป็นอดีตนายกคนหนึ่งของประเทศ

หลังถูกสอยด้วยข้อหาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ถัดจากนั้น 4 วัน แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เข้ามารับไม้ต่อ เป็นนายกคนที่ 31 เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2567 แม้จะดูเหมือน “มะม่วงจำบ่ม” แต่การเมืองไทยและประเทศไทย ไร้ทางเลือกและต้องเดินหน้าต่อไป

ปฎิเสธไม่ได้ ช่วงเวลา“เศรษฐา” เป็นนายกฯ อยู่ในห้วงเดียวที่ “ทักษิณ” กลับเข้าไทย ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.2566 แม้จะต้องโทษและถูกคุมขัง เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี แต่ด้วยระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่เอื้อให้กับนักโทษชราอายุเกิน 70 ปี เข้าเกณฑ์ผู้ต้องขังสูงวัย

ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว โดยกรมราชทัณฑ์ได้ส่งเข้ารพ.ตำรวจและรักษาตัวที่ชั้น 14 ด้วยอาการโรคกระดูกเสื่อม เส้นเอ็นเปื่อยยุ่ย เกินขีดความสามารถที่รพ. ราชทัณฑ์จะแบกรับ  อดีตนายกฯจึงอยู่ในสถานะถูกคุมขังนอกเรือนจำนานถึง 4 เดือน จนครบกำหนดปล่อยตัว เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2566

ตั้งแต่ออกจากรพ.ตำรวจ “ทักษิณ” ไม่ได้กลับมาเลี้ยงหลานตามที่เคยประกาศไว้ ประตูบ้านจันทร์ส่องหล้ายังคงเปิดรับแขกและนักการเมืองมากมาย ทั้งซีกฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่น ๆ รวมทั้ง สมเด็จ ฮุน เซน อดีตผู้นำกัมพูชา ฯลฯ

เช่นเดียวกับ “เศรษฐา” ซึ่งยังคงทำหน้าที่นายกฯภายใต้ร่มเงาของพรรคเพื่อไทยต่อไป บริหารงานไม่ถึงปีแต่มีการปรับครม.ถึง 2 ครั้ง ไม่เพียงเฉพาะเศรษฐาและสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ต่างทราบดีว่า ศูนย์รวมอำนาจในการบริหารราชการจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ “ทำเนียบรัฐบาล แต่อยู่บ้านจันทร์ส่องหล้ามากกว่า

แน่นอน รวมถึงการลาออก อย่างกระทันหันของ “ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร”รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ทันทีที่ถูกปรับพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ยากอนุมานเกิดจากสาเหตุใด

“ทักษิณ” โรดโชว์-เปิดแนวรบ-ท้าชนรอบทิศ

ส่วน“แพทองธาร” เมื่อก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ เต็มตัว มี ”ทักษิณ” บิดา ทำหน้าที่ไม่ต่างจาก “นายกฯเงา”กำกับดูแลเบื้องหลัง ล่าสุดสื่อประจำทำเนียบรัฐบาลให้ฉายา “รัฐบาลพ่อเลี้ยง” โดยลีลาการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ”ทักษิณ”ได้เพิ่มความเข้มข้นตามลำดับ หลังศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับคำร้อง “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ไว้วินิจฉัยตามมาตรา 49 ในข้อกล่าวหา“ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” มีพฤติ กรรมล้มล้างการปกครอง โดยชี้ว่ายังไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ และการกระทำที่เกิดยังไกลเกินเหตุ

“ทักษิณ” จึงมีความพร้อมในเปิดหน้ารบกับทุกฝ่าย ที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ยังร่วมอยู่ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่เว้นแม้แต่พรรคภูมิใจไทยของครูใหญ่ “เนวิน ชิดชอบ” อดีตลูกคนสนิท

แนวรบแรกที่เปิดหน้าชก คือ การสลัดพรรคพลังประชารัฐ ในซีกของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ไปเป็นฝ่ายค้าน มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตสส.พรรคเพื่อไทย พร้อมพวกอีก 20 คน ตีจาก”พลังประชารัฐ”และนำทัพมาอยู่พรรคกล้าธรรม ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคฯให้ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หัวหน้าพรรคฯ และรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ก่อน ร.อ.ธรรมนัส จะตีฝ่าพรรคพลังประชารัฐออกมาได้ก็ยืดเยื้อหลายเดือน จนเกิดปัญหาคนข้างกาย “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” อดีตรองโฆษกฯพรรคฯและสมาชิกพรรคพปชร.เข้าไปพัวพัน คดีดิไอคอน กรุ๊ป ขณะที่ “คนข้างใจ” ลุงป้อม ถูกขุดเส้นทางเงินเกี่ยวพันคดีบุกรุก “ภูนับดาว”

ก่อนที่เรื่องจะจางหายไป พร้อม ๆ กับคำปฏิเสธของ “ทักษิณ” เมื่อถูกถามถึง “ลุงป้อม” เมื่อครั้งลงพื้นที่ช่วยหาเสียงนายก อบจ.อุบลราชธานี ว่า “เขาเป็นใคร ผมไม่รู้จัก”

“ทำลายศัตรู-คู่แข่ง” ทวงคืนพื้นที่การเมือง

แนวรบนี้ ไม่เพียง ทำให้พรรคพลังประชารัฐแตก แต่ยังทำลายค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม พรรคประชาธิปัตย์ “คู่แค้น”เก่าที่ผละจากการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านมาร่วมรัฐบาล ซึ่งในอนาคตยังไม่รู้ว่าจะส่งผลระยะยาวต่อการล่มสลายและกลายเป็นพรรคต่ำสิบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่

แนวรบที่สอง เปิดหน้าชนพรรคภูมิใจไทยในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ในหลายจังหวัดทางภาคอีสานและภาคตะวันออก หลังจากพรรคเพื่อไทยแพ้หมดรูปในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ทั่วประเทศ ส่งผลให้ค่ายสีน้ำเงินยึดสภาสูงได้กว่าค่อนสภา

“ทักษิณ”เดินสายขึ้นเหนือ-ลงอีสาน หวังทวงพื้นที่สีแดงกลับคืนให้กลุ่ม “บ้านใหญ่” ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่, ศรีษะเกษ ,อุบลราชธานี ,นครราชสีมา ,นครพนม ,มหาสารคาม ฯลฯ และหวังปิดตำนาน “บ้านใหญ่” จ.ปราจีนบุรี หลังเกิดเหตุสังหาร “สจ.โต้ง” ชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ ภายในบ้านพักของ “โกทร” สุนทร วิลาวัลย์ นายกอบจ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2567

ประกาศหนุน สจ.จอย “ณภาภัช อัญชสาณิชมน” ภรรยา สจ.โต้ง ลงสมัครชิงเก้าอี้ นายก อบจ.ปราจีนบุรี ในนามพรรคเพื่อไทย ขณะที่ “โกทร”ยังถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำ ทำให้ศึกชิงนายกอบจ.ปราจีนบุรี ในปีหน้ากร่อยไปถนัดตา

ไม่ฉพาะแค่จ.ปราจีนบุรี เท่านั้น แต่ความเป็น “บิ๊กบอส”ตัวจริงของพรรคเพื่อไทยที่มี “ร.อ.ธรรมนัส”อดีตสส.เพื่อไทยมือทำงานคนสำคัญ ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ได้ขยายอาณาเขตคลุมจังหวัดลุ่มน้ำภาคตะวันออก ทั้งจังหวัดน้ำเค็มและน้ำกร่อย บริหารจัดการกลุ่มการเมืองท้องถิ่น หนุนแดง-เพื่อไทย ไม่ให้ชนกันเอง

กรณี “นายกไก่” กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ยอมโยนผ้า ประกาศหนุน “นายกก้อย” กลยุทธ์ ฉายแสง เข้าชิงตำแหน่งนายก อบจ.เมืองแปดริ้ว คนเดียว คือ ตัวอย่างที่ชัดเจน

แนวรบนี้ พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ข้อสรุป จะสามารถชนยกกระดานนายก อบจ.สายสีแดงได้กี่จังหวัด เพราะที่ผ่านมาหลายตระกูล”บ้านใหญ่”สายสีน้ำเงิน ก็กวาดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 7-8 จังหวัด ดังนั้นในสนามท้องถิ่นปีหน้า ใครจะอยู่-ใครจะ ระหว่างเพื่อไทย-ภูมิใจไทยอีกไม่กี่อึดใจจะได้รู้กัน

ขยี้พรรคร่วมรัฐบาล วางแผนเขี่ยทิ้ง “รทสช.”

แนวรบที่สาม คือ การขยี้พรรครวมไทยสร้างชาติ

(รทสช.) หลังจาก “ทักษิณ” ออกมาตำหนิแทนรัฐบาล ว่า “ผมเป็นคนเกลียดพวกอีแอบ ตรงไปตรงมาง่ายๆ อยู่ก็อยู่ ไม่อยู่ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าอยู่ก็ต้องสู้ด้วยกัน เมื่อเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน คุณยกมือเห็นด้วย พอได้เก้าอี้รัฐมนตรีค่อยๆ หลบมือออก ไม่ได้ ต้องตรงไปตรงมา”

ทำให้พรรครทสช.นั่งไม่ติดเก้าอี้ ส่ง “อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์” โฆษกพรรคฯ ออกมาชี้แจงว่า “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯและรมว.กระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. และ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมช.พาณิชย์ แจ้งลาประชุม ครม.ต่อสำนักเลขาธิครม.ล่วงหน้าล้วงหน้าแล้ว

ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งต่อในบริหารงานของ “พีระพันธ์” ด้านนโยบายพลังงาน ทั้งการสั่งเบรกประ มูลไฟสะอาด-กฟผ. ขนถ่านหินแม่เมาะ-สรรหาบอร์ด กกพ.-เก็บภาษีคาร์บอนน้ำมัน สร้างความไม่พอให้ใจต่อรัฐบาลเพื่อไทยมาก และน่าจับตาว่า นับจากนี้รัฐบาลแพทองธาร จะใช้วิธีการใดจัดการกับรทสช.

พันธมิตรของเศัตรู “สงครามครั้งสุดท้าย” ชน“ทักษิณ”

แต่การเมือง คือ เรื่องผลประโยชน์ และใครหักหลัง ใครก่อน ถือเป็นผู้ชนะ จึงมีคำถามว่า จากแนวรบที่”ทักษิณ”เดินเกมเปิดหน้าต่อเนื่อง จะทำให้พรรคเพื่อไทย มีชัยในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม หรือมีเหตุให้ต้องยุบสภาก่อน

มีการวิเคราะห์ในแวดวงการเมืองว่า ในปี 2568 การเมืองไทยจะรุนแรงเพิ่มขึ้น หลังจาก “ทักษิณ”พยายามทำทุกอย่างเพื่อปิดบ้านป่าของ “ลุงป้อม” พล.อ. ประวิตร ให้พ้นวงโคจรทางการเมือง ก็จะทำให้พรรคพลังประชารัฐฮึดสู้ ในสง ครามครั้งสุดท้ายเช่นเดียวกัน 

แต่การปิดจบลุงบ้านป่าอาจไม่ง่าย แม้จะพลาดท่าหลาย ๆ เรื่อง แต่คอการเมืองเชื่อกันว่า “เสือเฒ่า”ต้องไม่ทิ้งลาย และคงต้องทำทุกวิถีในการต่อสู้กับกลุ่มคนที่พยายามโค่นล้ม ด้วยการใช้“นิติสงคราม” และดึงพันธมิตรของศัตรูที่กำลังรวมตัวเคลื่อนไหวเข้ามาต่อกร

ไม่ว่าจะเป็นสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำจากเครือบ้านพระอาทิตย์, จตุพร พรหมพันธ์ อดีตแกนนำนปช., พิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท., แก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ,เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ , นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และเครือข่ายอดีตกลุ่มพันธมิตรฯ -กปปส. เพื่อกดดันป.ป.ช.เร่งรัดเอาผิด 12 จนท.รัฐ “ราชทัณฑ์-กรมตำรวจ” คดีทักษิณชั้น 14 รพ.ตำรวจ

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อไฟที่พร้อมจะจุดติด อีกหลายประเด็น ทั้งปัญหาเกาะกูด-พื้นที่ทับทางทะเล -MOU 44 และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ โดยเฉพาะการนำ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”กลับบ้านในช่วงสงกรานต์ปี 2568 จึงต้องจับตาดูว่า “ทักษิณ-เพื่อไทย” จะเล่นเกินเบอร์กว่านี้หรือไม่ ที่สำคัญพรรคภูมิใจไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ยังอยากจะไปต่อกับรัฐบาลหรือไม่ หากมีการนำชนวนไฟเหล่านี้มาสุมฟืน

และหากในปี 2568-2569 ไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน และรัฐบาลแพทองธาร อยู่ครบเทอม ไม่มีปัจจัยอื่นแทรกซ้อน แบ่งปันผลประโยชน์เกาะกูด เอ็มโอยู 44 ลงตัว หาก “ทักษิณ” จะ”หักดิบ”และไม่เห็นความจำเป็นที่จะรับใช้กลุ่มอำนาจเก่า โอกาสที่จะได้เห็นพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาชน ก็เป็นไปได้สูง

จึงไม่แปลก หากพรรคประชาชนจะสงวนท่าทีในการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย และหากจะคาดหวังให้พรรคประชาชน โชว์ศักยภาพในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ไล่ขยี้รัฐบาลในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในปี 2568 เป็นสิ่งที่ต้องทำใจ

อย่างไรก็ตาม หลังผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศเสร็จสิ้นลง คงต้องรอดูสัญญาณการขยับของ “ทักษิณ”และพรรคเพื่อไทยอีกคำรบหนึ่งว่า จะนำการเมืองจะเข้าสู่ไคลแมกซ์ หรือฉุดลงสู่จุดวิกฤต 

อ่านข่าว : 10 ฉายาตำรวจ บิ๊กต่าย “กัปตันเรือกู้” - สารวัตรแจ๊ะติดโผ “อย่าเล่นกับระบบแจ๊ะ”

สื่อสภาตั้งฉายา ปี 67 สส. "เหลี่ยม(จน)ชิน" - "ประวิตร-ธิษะณา" คว้าคู่ "ดาวดับ"

"เมืองทอง ยูไนเต็ด" เตรียมฟ้องผู้เผยแพร่ Fake News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง