ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนนักดื่ม รู้จักภาวะ "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" เสี่ยงถึงตาย

สังคม
26 ธ.ค. 67
15:57
4,920
Logo Thai PBS
เตือนนักดื่ม รู้จักภาวะ "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" เสี่ยงถึงตาย
การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาที่สั้นและเร็ว อาจเกิดภาวะ "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" เช็กปริมาณระดับไหนอันตราย เสี่ยงเสียชีวิต

จากกรณี "แบงค์ เลสเตอร์" คนดังในโซเชียล เสียชีวิต เสียชีวิตกะทันหัน ส่วนสาเหตุนั้นคาดว่า เกิดจากการดื่มเหล้าเพียว 1 แบนรวดเดียว แลกเงิน 30,000 บาท จนร่างกายช็อกและเสียชีวิต แม้ทางการแพทย์ยังไม่ยืนยันได้ว่า การเสียชีวิตเกิดจากการดื่มสุราหรือไม่ ต้องรอการพิสูจน์ก่อน แต่การดื่มสุราในรูปแบบนี้ เกิดผลกระทบกับร่างกายแน่นอน แล้วปริมาณแอลกอฮอล์ มากน้อยส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง 

อ่านข่าว : "แบงค์ เลสเตอร์" คนดังโซเชียล เสียชีวิตหลังถูกจ้างดื่มเหล้า

กระดกเหล้าปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว เสียชีวิตมาแล้วหลายเคส ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้น เพราะร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนไม่เป็นไรแต่บางคนเสียชีวิต 

"แอลกอฮอล์เป็นพิษ" คืออะไร  

ในประเด็นนี้มีข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ หรือ Alcohol poisoning คือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในปริมาณมากและดื่มแบบรวดเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ตับไม่สามารถขับสารนี้ออกจากเลือดได้ทัน ระบบการทำงานของร่างกายรวน จนเกิดภาวะช็อกที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้    

สาเหตุของภาวะ "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" เกิดขึ้นได้อย่างไร

การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดจนมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้

  • ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในแต่ละชนิดของเครื่องดื่ม
  • การดูดซึมสารในร่างกายของแต่ละบุคคล
  • เพศหญิงจะมีปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ได้ไวกว่าผู้ชาย

อ่านข่าว : เปิดตัวเลข คนไทยเสียชีวิต เกี่ยวข้องกับ "ดื่มแอลกอฮอล์"

อาการของภาวะ แอลกอฮอล์เป็นพิษ

  • สับสน พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่สามารถทรงตัวได้
  • ง่วงซึม นอนหลับเยอะกว่าปกติ
  • อาเจียน หายใจผิดปกติ
  • เกิดอาการชัก การเคลื่อนไหวของดวงตาเร็วกว่าปกติ
  • ตัวเย็นจัด ผิวหนังซีด กลายเป็นสีม่วง
  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เกิดภาวะกึ่งโคม่า ร่างกายไม่สามารถตอบสนองได้
  • หัวใจวายเฉียบพลัน หยุดหายใจ

ดื่มเหล้าเกินขนาด เสี่ยงตายได้ 

เช็กระดับแอลกอฮอล์ในเลือด จะเกิดอะไรขึ้น (หน่วยเป็น มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)

20 - 49 (มก.%) : อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และการตัดสินใจช้าลงเล็กน้อย

50 - 99 (มก.%) : เริ่มเสียการทรงตัว ควบคุมตัวเองได้น้อยลง และตอบสนองช้าลง

100 - 199 (มก.%) : เดินเซ กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน

200 - 299 (มก.%) : คลื่นไส้ อาเจียน การรับรู้ลดลง และจำเหตุการณ์ไม่ได้

300 - 399 (มก.%) : หมดสติ ชีพจรลดลง และอุณหภูมิร่างกายลดลง

มากกว่า 400 (มก.%) : มีโอกาสหยุดหายใจและเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่อระดับแอลกอฮอล์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แม้ระดับจะน้อยกว่า 400 มก.% ก็อาจเสี่ยงจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือการนอนหลับลึกในท่าผิดปกติที่อุดกั้นทางเดินหายใจได้ เช่น การนอนคอพาดกับระเบียงจนกดทางเดินหายใจ

การดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อย่างไร

นอกจากนี้ยังมีคำอธิบายว่า การดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อย่างไรบ้างดังนี้ 

  • หัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่แข็งแรง เกิดหัวใจวายได้ง่าย
  • ตับ เกิดโรคตับแข็ง ตับที่ถูกทำลายจากแอลกอฮอล์จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี 
  • ผิวหน้า หลอดเลือดขยายตัว ผิวหน้าจะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนออกจากทางผิวหน้า บางครั้งอาจเกิดอาการหนาวสั่นหรือเกิดโรคปอดบวมได้ง่ายในฤดูหนาว
  • สมอง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดการทำงานของสมองจะทำให้ความจำเสื่อม การตัดสินใจไม่ดี สมาธิเสีย โกรธง่าย พูดช้าลง สายตาพร่ามัว และเสียการทรงตัว
  • กระเพาะอาหารอักเสบฉับพลันบางครั้งทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • ระบบสืบพันธุ์ เพศชายเกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ 

นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า หาก ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มอย่างไรถึงปลอดภัย

  • ไม่ควรดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • กินอาหารรองท้องก่อนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมได้เร็วเมื่อท้องว่าง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแบบแก้วต่อแก้วหรือดื่มครั้งละมาก ๆ
  • เมื่อมีอาการมึนหัวให้ลดปริมาณการดื่มหรือหยุดดื่มทันที

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่มากเกิดไปย่อมส่งผลเสียต่อ "ร่างกาย" ฉะนั้นควรดื่มแต่พอประมาณ จะทำให้สามารถสนุกกับการสังสรรค์ได้โดยไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ 

อ่านข่าว : 26 ธันวาคม วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ

สื่อสภาตั้งฉายา ปี 67 สส. "เหลี่ยม(จน)ชิน" - "ประวิตร-ธิษะณา" คว้าคู่ "ดาวดับ"

10 ฉายาตำรวจ บิ๊กต่าย “กัปตันเรือกู้” - สารวัตรแจ๊ะติดโผ “อย่าเล่นกับระบบแจ๊ะ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง