เพราะทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมกระทั่ง สว.ส่วนใหญ่ พร้อมกับ “วอล์คเอ้าท์” ไม่ร่วมวงประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขดังกล่าว ต้องมาลุ้นกันใหม่อีกรอบ ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.)
ความจริงส่อเค้าลางมาแต่แรกว่า จะเป็นงานยาก เพราะแม้จะเป็นร่างของ 2 พรรคใหญ่ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชน และในทางทฤษฎี แม้จำนวนเสียง สส.ของ 2 พรรครวมกัน จะมีเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCbOwDVIxNuZGwSMIQ64ukFBm.jpg)
แต่โอกาสจะผ่านวาระแรก วาระรับหลักการ ดูจะยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะเป็นการประชุมรัฐสภา รวม สว.อีก 200 คน ทำให้เสียง 2 พรรคร่วมไม่ถึงครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 350-351 เสียง ยังไม่นับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งนั้น ต้องมีเสียง สว.เกิน 1 ใน 3 คือ 67 เสียง
อ่านข่าว : จับตาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ถอดรหัสพรรคการเมืองไม่ร่วมสังฆกรรม?
ไม่เพียงเท่านั้น พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ประกาศจุดยืนชัดเจนผ่านหัวหน้าพรรค นายอนุทิน ชาญวีรกูล ว่าไม่เอาด้วย ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกโรงเตือนแก้ทั้งฉบับ จะขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันคัดค้าน โดยเฉพาะร่างของพรรคประชาชน เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ไม่ต่างจากพรรคชาติไทยพัฒนา
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCbOwDVIxNuZL3ClOaLPuYhRQ.jpg)
สอดคล้องกับสว.ส่วนใหญ่ ที่ไม่เห็นด้วยกับปมการลดอำนาจสว. รวมทั้งบทบาทการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ด้านหนึ่ง จึงได้เห็นวุฒิสภาที่มีนายมงคล สุระสัจจะ เป็นประธานวุฒิ โดยสำนักกฎหมาย ทำความเห็นทางกฎหมายถึง นายวันมูหะหมัด นอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ยืนยันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างฉบับใหม่ ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง เท่ากับดิสก์เบรก การบรรจุในวาระการประชุมรัฐสภาอยู่ในที
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCbOwDVIxNuY2k59PdZ73OBKr.jpg)
ยังไม่นับเรื่องร่างกฎหมายประชามติ ที่ยังค้างเติ่งอันเนื่องจากสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภา เห็นต่างกัน จะครบ 180 วันที่สภาผู้แทนฯ จะยืนยันในร่างเดิมได้ ต้องรอถึงเดือนกรกฎาคม กลางปี 2568
จึงได้เห็นฉาก “หักเหลี่ยมเฉือนคม” เกิดขึ้นในการประชุมรัฐสภาวันนี้ (13 ก.พ.) โดยพรรคประชาชน ได้พยายามทำหน้าที่ตีกัน การเลื่อนญัตติด่วนให้รัฐสภา ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขึ้นมาเป็นวาระแรกก่อนการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขมาตรา 256 ท่ามกลางการ “วอล์คเอ้าท์” ไม่ร่วมสังฆกรรมของทั้ง สส.และ สว.
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCbOwDVIxNuZBrwwSO4JiMAhC.jpg)
ก่อนที่ท้ายที่สุด ข้อเสนอให้นับองค์ประชุมก่อนพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไข มาตรา 256 ของนพ.เปรมศักดิ์ และนายสุทิน คลังแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย จะส่งผลให้มีจำนวนผู้แสดงตนเป็นองค์ประชุมรัฐสภาเพียง 204 เสียง ก่อนที่นายวันมูหะหมัดนอร์ จะแจ้งปิดการประชุม นัดหมายกันใหม่ 09.30 น. วันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.)
เท่ากับการประชุมร่วม 14 ก.พ.จะเริ่มต้นจากการนับองค์ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง โดยมีการคาดหมายว่า จะออกหน้าใดหน้าหนึ่ง ระหว่างองค์ประชุมครบ เพื่อให้มีการอภิปรายเกิดขึ้น แต่สุดท้ายการโหวตเสียงรับหลักการในวาระที่ 1 จะไม่เป็นไปตาม ม.256 คือต้องมีเสียงเกินกึ่ง และในจำนวนนี้ ต้องมีเสียง สว.ไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 คน เท่ากับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไข ม.256 ถูกตีตกไปโดยปริยาย
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCbOwDVIxNuZEf94Acy5haGLb.jpg)
กับอีกหน้าหนึ่ง คือให้องค์ประชุมไม่ครบเหมือนเดิม เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไข มาตรา 256 ยังคงค้างอยู่ในรัฐสภาต่อ ไม่ถูกตีตก โดยในระหว่างนี้ อาจมีการเจรจาต่อรองทางการเมืองบางประการเกิดขึ้น ระหว่างค่ายสีแดงกับค่ายสีน้ำเงิน และให้รัฐสภา ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์
ดังที่แกนนำพรรคเพื่อไทย นายสุทิน และนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และมือกฎหมายคนสำคัญของพรรค แถลงล่าสุดเมื่อวานนี้ หลังเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ
![](https://news.thaipbs.or.th/media/TSNBg3wSBdng7ijMhTpCbOwDVIxNuZKT2VPmovDhG5J.jpg)
“การลุยไฟ” แก้รัฐธรรมนูญ จะสำเร็จหรือไม่ หรือจะถูกไฟครอกไหม้เกรียมคากองฟอน หรือจะยอมถอยรอโอกาส ให้ติดตามเหตุการณ์ประชุมรัฐสภาพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) วันวาเลนไทน์ ห้ามละสายตา
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : เปิดผลโหวตไม่เลื่อนญัตติ “หมอเปรม” ขอส่ง ศร.ก่อนถกแก้ รธน.
ศร.ไม่รับคำร้องฟ้อง "ธรรมนัส-อรรถกร" คดีสั่งซ่อมฝายวังบัว