ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พิษอาชญากรรมออนไลน์ปี 68 เกือบ 2 เดือนสูญ 3.4 พันล้าน

อาชญากรรม
13 ก.พ. 68
15:49
126
Logo Thai PBS
พิษอาชญากรรมออนไลน์ปี 68 เกือบ 2 เดือนสูญ 3.4 พันล้าน
เริ่มปี 68 มาได้เกือบ 2 เดือนมีตัวเลขความเสียหายจาก "คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี" มากถึง 3.4 พันล้านบาท หลังตำรวจได้รับแจ้งความออนไลน์ 43,217 เรื่อง ส่วนในปี 67 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียนมากสุด "ภัยการเงิน"

การปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ของภาครัฐครั้งนี้เข้มข้นมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตัดไฟที่ส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน ตัดสัญญาณสื่อสารที่มีการลักลอบส่งไปใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เพื่อหวังตัดตอนองค์กรอาชญากรรมที่มีชาวต่างชาติอยู่เบื้องหลัง ทั้งขบวนการคอลเซนเตอร์ ค้ามนุษย์และเครือข่ายเว็บไซต์การพนัน ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางออนไลน์ที่สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล

อ่านข่าว : ด่วน! กฟภ.ตัดไฟ 5 จุดเมียนมา 20.3 เมกะวัตต์สกัดคอลเซนเตอร์

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดตัวเลขแจ้งความออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สถิติความเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 12 ก.พ.2568 มีคดีออนไลน์ 43,217 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 3,427,953,493 บาท

ก่อนหน้านี้ศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปสถิติการแจ้งความออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 - 31 ธ.ค.2567 มีคดีออนไลน์ 773,118 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 79,569,412,608 บาท โดยมีคดีที่ได้รับแจ้งมากที่สุด 5 ประเภทคดี ดังนี้

  1. หลอกซื้อขายสินค้า-บริการ (ไม่เป็นขบวนการ) 365,075 คดี ความเสียหาย 5,035,793,009 บาท
  2. หลอกทำภารกิจ-รายได้เสริม 98,139 คดี ความเสียหาย 12,259,745,775 บาท
  3. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 74,147 คดี ความเสียหาย 3,586,095,339 บาท
  4. หลอกให้ลงทุนผ่านคอมพิวเตอร์ 51,881 คดี ความเสียหาย 28,441,508,012 บาท
  5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) 51,678 คดี ความเสียหาย 10,761,310,285 บาท

"แจ้งความออนไลน์" มีช่องทางเดียว!

สำหรับการแจ้งความออนไลน์ หากประชาชนตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ (เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น และหากมีข้อสงสัยสามารถโทรปรึกษาสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ย้ำ! ไม่รับแจ้งความผ่นเฟซบุ๊ก (Facebook), ไม่รับแจ้งความผ่านแชทไลน์ (Line) และไม่รับแจ้งความผ่าน Direct Message (DM) ของแอปฯ ใด ๆ ทั้งสิ้น

"ภัยการเงิน" ผู้บริโภคร้องเรียนอันดับ 1

ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในปี 2567 ได้รับเรื่องร้องเรียน 1,361 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 221,031,763 บาท โดยหากคิดตามมูลค่าความเสียหายแล้ว "ภัยการเงิน" ถือเป็นต้นเหตุที่สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคมากเป็นอันดับ 1 ในปีดังกล่าว มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลจากฐานระบบของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บันทึกสถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย

ฝีมือของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่ใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ มาล่อลวงและขู่กรรโชก ทำให้เหยื่อตกใจและติดกับดัก เช่น ปลอมเป็นตำรวจวิดีโอคอลโดยใช้เทคโนโลยี Deepfake, ตั้งโปรแกรมควบคุมเครื่องระยะไกลโดยส่งลิงก์ให้เหยื่อกดเพื่อดูดเงินจากบัญชีธนาคาร, สร้างเว็บไซต์ปลอมแอบอ้างเป็นตำรวจไซเบอร์ จนทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ

อ่านข่าว : ย้อนไทม์ไลน์ "เด็ดปีก" แก๊งคอลเซนเตอร์

นายธนัช ธรรมมิกสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากเจอกับดักเพจของตำรวจปลอม โดยใช้ชื่อ รูปภาพและเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นเพจอย่างเป็นทางการของหน่วยงานตำรวจ จึงมีผู้ร้องเรียนให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญในยุคดิจิทัล ซึ่งผู้บริโภคมักตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์

ขณะเดียวกันการแจ้งเตือนและการดำเนินการอย่างทันท่วงทีของผู้ร้อง ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการปกป้องสิทธิของตนเองและป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นตกเป็นเหยื่อเพิ่มเติม

"แบงก์ชาติ" เข้มจัดการ "ปิดปากม้า"

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ มีมาตรการยกระดับจัดการบัญชีม้าเพิ่มเติม 3 มาตรการ คือ 1. กวาดล้างบัญชีม้าให้ได้มากขึ้น โดยปรับเงื่อนไขการเข้าข่ายเป็นบัญชีม้าให้เข้มข้น พิจารณาพฤติกรรมการโอนและมูลค่าของธุรกรรม สามารถจัดการกับบัญชีม้าได้แม้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย

มาตรการที่ 2 จัดการบัญชีม้าระดับบุคคล ธนาคารต้องระงับการโอนเงินเข้า-ออกจากบัญชีม้า รวมถึงบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง ปฏิเสธการเปิดบัญชีใหม่ให้ผู้มีพฤติกรรมต้องสงสัย และแจ้งเตือนใหผู้โอนรู้ตัวว่าอาจกำลังโอนเงินไปบัญชีม้า เพื่อป้องกันความเสียหายตั้งแต่ต้น

มาตรการที่ 3 ขยายการจัดการโดยให้ธนาคารแลกเปลี่ยนรายชื่อบุคคลที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยระหว่างกัน แม้ยังไม่ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย จากเดิมที่แลกเปลี่ยนเฉพาะรายชื่อบุคคลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามฐานข้อมูลสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และรายชื่อบุคคลที่ถูกแจ้งความหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินทุจริตเท่านั้น

ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการระงับบัญชีม้า ตัดเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซนเตอร์ โดยมีสถิติการระงับบัญชีม้าจนถึงเดือน ธ.ค. รวมกว่า 1,660,000 กว่าบัญชี

นอกจากนี้ยังขยายผลจับกุมเจ้าของบัญชีม้า โดยสถิติผลการจับกุมบัญชีม้า-ซิมม้าที่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 พบว่า ในปี 2567 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.มีการจับกุมบัญชีม้ารวม 2,495 คน เฉพาะในเดือน ธ.ค.2567 จับกุม 328 คน

อ่านข่าว

ธปท.เริ่มมาตรการ "ปิดปากม้า" คุมเข้มบัญชี สกัดคอลเซนเตอร์

ช่วย 261 ต่างชาติ ถูกหลอกทำงานแก๊งคอลเซนเตอร์

"ดีเคบีเอ" ปฏิเสธเอี่ยวค้ามนุษย์-หลอกลวงไซเบอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง