แชร์

Copied!

ตรวจสอบพบ : โพสต์อ้าง “ประกันสังคม” เพิ่มค่าทำฟันจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท

6 มี.ค. 6809:54 น.
หมวดหมู่#ข่าวปลอม
ตรวจสอบพบ : โพสต์อ้าง “ประกันสังคม” เพิ่มค่าทำฟันจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท

บริการเสริมจาก Thai PBS AI

พบโพสต์เท็จอ้าง "ประกันสังคม" เพิ่มค่าทำฟันจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท ตรวจสอบแล้วไม่จริง ระวังอาจส่งต่อข้อมูลเท็จ

Thai PBS Verify พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กโพสต์อ้าง "ประกันสังคม" เพิ่มค่าทำฟันจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท ด้านประกันสังคมยันยังไม่มีประกาศ ระวังอาจส่งต่อข้อมูลเท็จ

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์เฟซบุ๊กข้อมูลเท็จ

กระบวนการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบว่า บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ "Phongtarin Butthong" โพสต์ข้อความระบุว่า "ขอบคุณประกันสังคมครับ ที่เพิ่มค่าทำฟันจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท" ซึ่งทำให้มีผู้เข้าใจผิดสอบถามเข้าไปจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เราตรวจสอบไปยังสำนักงานประกันสังคม ซึ่งระบุว่า สำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถทำฟัน ด้วยการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าตัดฟันคุด โดยไม่ต้องสำรองจ่ายในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม โดยสามารถใช้สิทธิได้สูงสุด 900 บาทต่อคนต่อปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ประกันตนที่พึงจะได้รับ โดยสามารถขอรับบริการในสถานพยาบาลเอกชนและเครือข่าย หรือสถานพยาบาลของรัฐ (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้การทำฟันประกันสังคมยังครอบคลุมถึงการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน หรือชนิดถอดได้ทั้งปาก ดังนี้

1. ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียมตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- จำนวน 1 - 5 ซี่ จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
- จำนวนมากกว่า 5 ซี่ จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท

2. ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
- ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิทันตกรรม มีดังนี้

- ผู้ประกันตนตามมาตรา33 และ มาตรา39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์

- ผู้ประกันตนตามมาตรา38 และมาตรา41 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ และได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม

1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)

2. ใบรับรองแพทย์

3. ใบเสร็จรับเงิน

4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้

5. เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา (กรณีเบิกฟันปลอมฐานอคริลิก)

6. กรณีขอรับเงินทางธนาคาร ให้แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี 11 ธนาคาร คลิกที่นี่

สถานที่ยื่นเรื่อง ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

สำหรับรายชื่อคลินิกทันตกรรม คลิกที่นี่

กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาล ที่ไม่ได้ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนได้ดังนี้

1. ผ่านช่องทางออนไลน์ E-Self Service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th พร้อมแนบหลักฐาน ประกอบด้วย
- ใบเสร็จรับเงิน
- ใบรับรองแพทย์
- สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน

2. ยื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบเสร็จและใบรับรองแพทย์

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าวเป็นเพียงการนำข้อความมากล่าวอ้างเพียงเท่านั้น โดยในความเป็นจริงกระบวนการเพิ่มค่าทำฟันจาก 900 บาท เป็น 1,200 บาท ยังไม่มีการประกาศเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเกิดความเข้าใจผิด

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความคิดเห็นในโพสต์เท็จ

ข้อเสนอแนะเมื่อได้รับข้อมูลเท็จเหล่านี้

สามารถสอบถามข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ผ่านช่องทางออนไลน์ E-Self Service ต่าง ๆ ดังนี้

Website : www.sso.go.th
Facebook : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Instagram : sso_1506
X (twitter) : @ sso1506
Youtube : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
Tiktok : @ssonews1506
Line : @ssothai
สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง