แชร์

Copied!

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมยิงโฆษณาอ้างแจก “ผัก-ต้นไม้” ฟรี พบคนหลงดูกว่า 6 ล้านครั้ง

4 มี.ค. 6808:49 น.
หมวดหมู่#ข่าวปลอม
ตรวจสอบพบ : เพจปลอมยิงโฆษณาอ้างแจก “ผัก-ต้นไม้” ฟรี พบคนหลงดูกว่า 6 ล้านครั้ง

บริการเสริมจาก Thai PBS AI

อย่าเชื่อ ! เพจปลอมอ้างแจก "ผัก-ต้นไม้" ฟรี พบสวมรอยใช้ภาพสวนอื่น เตือนอย่าหลงเชื่อหลังพบคนดูโฆษณากว่า 6.5 ล้านครั้ง

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กลงโฆษณาแจก "ผัก-ต้นไม้" ฟรี 20 ต้น/คน คนดูกว่า 6.5 ล้านครั้ง ตรวจสอบพบแอบใช้ภาพของสวนที่อื่น เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพหน้าเพจปลอม

กระบวนการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ "สมาคมคนรักต้นไม้-Green" ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ระบุข้อความ "สมาคมคนรักต้นไม้-Green แจกฟรี ผักและต้นไม้ต่าง ๆ จำนวน 20 ต้น/ท่าน รีบเข้ามาลงทะเบียนรับกันเลยนะคะ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย" โดยโฆษณาดังกล่าวมีผู้กดถูกใจถึง 44,000 ครั้ง ขณะที่ยอดเข้าชมกว่า 6.5 ล้านครั้งด้วยกัน

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพโฆษณาของเพจปลอม
ขณะที่ในช่องแนะนำตัว ได้ระบุว่า พืชผักออร์แกนิก แต่เมื่อตรวจสอบที่ความโปร่งใสของเพจเราพบว่า เพจดังกล่าวถูกสร้างเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2022 แต่กลับมีผู้จัดการเพจจากหลากหลายประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, ปากีสถาน และไทย

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพความโปร่งใสของเพจ

เราใช้เครื่องมือตรวจสอบภาพด้วย Google Lens ทำการตรวจสอบภาพจากโพสต์ ซึ่งเพจดังกล่าวอ้างว่า มีต้นกล้าผักและต้นไม้พร้อมส่ง โดยเป็นโพสต์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่าภาพจากโพสต์ดังกล่าวไปตรงกับภาพของเพจ "ต้นกล้าผักสวนครัว ต้นละ 1 บาท" (ลิงก์บันทึกที่ นี่ และ นี่)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพจากเพจปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพจากเพจ
เราสอบถามไปยังเจ้าของเพจ "ต้นกล้าผักสวนครัว ต้นละ 1 บาท" ซึ่งระบุว่า ภาพที่เพจ "สมาคมคนรักต้นไม้-Green" นำไปใช้นั้น เป็นภาพจากเพจของเธอ ที่ได้โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงข้อความยืนยันจากผู้ดูแล ที่ยืนยันว่าภาพที่ถูกนำไปใช้เป็นภาพของเพจ

ขณะที่โพสต์อื่น ๆ ก็พบว่า มีการนำภาพของสวนที่อื่นมาแอบอ้างเช่นเดียวกัน เช่นโพสต์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เราตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพด้วย Google Lens และพบว่าภาพดังกล่าวไปตรงกับโพสต์ของหนึ่งในสมาชิกเพจ "ผักเคล คะน้าใบหยิกภาคอีสาน kale" ซึ่งได้โพสต์ภาพดังกล่าวไปตั้งแต่ 30 พฤษภาคม 2567 (ลิงก์บันทึกที่ นี่ และ นี่)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพจากเพจปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพจากเพจ
ก่อนหน้านี้ Thai PBS Verify เคยนำเสนอรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแจกต้นไม้ฟรี ซึ่งพบว่าเป็นเพจปลอมที่ใช้ภาพจากเพจอื่นมาแอบอ้างเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกันมาก่อนที่นี่

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โฆษณาแจกผักและต้นไม้ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจส่งข้อความสอบถามเข้าไปจำนวนมาก โดยปัจจุบันมียอดผู้ชมโฆษณาถึง 6.5 ล้านครั้ง ทำให้มีผู้ที่สนใจส่งข้อความสอบถามเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจถูกหลอกขายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้มาจากสวนจริง ๆ หรือหลอกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ได้

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้

หากพบโฆษณาหรือโพสต์ในลักษณะดังกล่าว

✅ พึงระวังไว้เสมอว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือมิจฉาชีพ

✅ สังเกตเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า (Blue Tick) หลังชื่อเพจ หากเป็นเพจที่เป็นทางการจริง

✅ ตรวจสอบภาพที่ต้องสงสัยด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens

✅ สังเกตว่าเพจมีการเปลี่ยนชื่อเพจไปเรื่อย ๆ หรือไม่

✅ สังเกตการว่าเพจดังกล่าวมีคนกดโกรธหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพสามารถลบข้อความหรือบล็อกเราได้ แต่ไม่สามารถลบการแสดงความรู้สึกของเราได้

✅ สังเกตผู้ดูแลเพจ หากเป็นสวนจริงจะไม่มีผู้ดูแลเพจจากประเทศอื่น ๆ

 

✅ อย่าเชื่อคำโฆษณา โดยเฉพาะการแจกของสมนาคุณ หรือการทำภารกิจเพื่อรับเงินค่าตอบแทน

✅ บล็อกเบอร์โทรศัพท์ หรือไอดีไลน์ที่เพิ่มเพื่อนเข้ามาเหล่านั้นทันที

 

อ่านข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแจกต้นไม้ฟรีที่นี่ 

ตรวจสอบพบ : #สวนทิพย์ ลอบใช้คลิปเพจดัง-แอบอ้างภาพเพจอื่น ลวงขายข้าวโพด : https://www.thaipbs.or.th/now/content/2239

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมลงโฆษณาแจกต้นไม้ฟรี พบคนดูหลักล้าน : https://www.thaipbs.or.th/now/content/2165