แชร์

Copied!

ตรวจสอบพบ : “สวนทิพย์” ลอบใช้คลิปเพจดัง-แอบอ้างภาพเพจอื่น ลวงขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด

27 ม.ค. 6809:11 น.
สังคมและสุขภาพ#ข่าวปลอม
ตรวจสอบพบ : “สวนทิพย์” ลอบใช้คลิปเพจดัง-แอบอ้างภาพเพจอื่น ลวงขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด

บริการเสริมจาก Thai PBS AI

พบเพจขายพันธุ์ข้าวโพดใช้คลิปจากเพจดังมาลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมดึงภาพจากเพจอื่นมาสร้างความน่าเชื่อถือ เตือนอย่าหลงเชื่อ

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กลงคลิปเพจดัง ซึ่งเป็นการนำเสนอการปลูกข้าวโพดของเกษตรกรมาใช้โฆษณา รวมถึงนำภาพจากเพจอื่นมาแอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ อาจถูกหลอกได้สินค้าไม่ตรงปก

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงเพจเฟซบุ๊กปลอม

กระบวนการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ "สวนสาคร " ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก โดยโฆษณาดังกล่าวเป็นคลิปจากเพจ "จัน ลั่นทุ่ง" ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานสายพันธุ์ข้าวโพดนมสด ที่ได้เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ถูกนำมาลงโฆษณา เพื่อใช้สำหรับการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนมสดฮอกไกโด โดยโฆษณาดังกล่าวมีผู้ชมไปกว่า 5 แสนครั้ง รวมถึงสอบถามรายละเอียดอีกหลายร้อยคน (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงคลิปวิดีโอที่เพจปลอมนำมาใช้ (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ คลิปต้นฉบับจากเพจ

ขณะที่ภายในเพจดังกล่าว ระบุว่าเป็นเพจ เกษตรกรรม ถูกสร้างเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2022 ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens เราพบว่า เป็นภาพที่ได้มีการโพสต์ไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย.2024 ถูกนำมาจากเพจที่ชื่อ "มาปลูกผักสวนครัวกันเถอะ" ซึ่งได้โพสต์ภาพดังกล่าวไว้ตั้งแต่ 12 ม.ค.2019 (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงรูปภาพที่เพจปลอมนำมาใช้ (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ รูปภาพต้นฉบับจากเพจ

นอกจากนี้เรายังพบการนำภาพมาจากเพจอื่นมาโพสต์เพิ่มเติม โดยเพจ "เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดนมสดเพียวไวท์ฮอกไกโด ส่งฟรีเก็บเงินปลายทาง" ก็ถูกนำภาพไปใช้เช่นกัน โดยเพจดังกล่าวระบุว่า "สวนสาครปลอมค่ะ ก๊อบปี้รูปของเพจนี้ไปใช้" (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงรูปภาพที่เพจปลอมนำมาใช้ (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ รูปภาพต้นฉบับจากเพจ

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจเข้าชมโฆษณาไปถึง 5 แสนครั้ง โดยมีผู้ส่งข้อความเข้าไปสอบถามรายละเอียดการสั่งซื้ออีกกว่า 500 คน ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการซื้อเมล็ดพันธุ์กับเกษตรกรในคลิปที่ได้มีการโฆษณาไว้โดยตรง

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงข้อความจากประชาชนที่สนใจสอบถามเข้าไปยังเพจปลอม

ผลกระทบของการหลงเชื่อโฆษณาปลอม

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์

ดร. มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ระบุถึงความอันตรายของโฆษณา โดยเฉพาะเมื่อมิจฉาชีพสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในปัจจุบันว่า เมื่อก่อนนี้การโฆษณาถือเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกับโฆษณาที่เป็นรูปแบบของสื่อมวลชน (Mass Media) ที่อาจจะพบได้แค่การโฆษณาผ่านวิทยุ หรือ รถกระจายเสียง หรือการบอกต่อเพียงเท่านั้น ซึ่งผลของการโฆษณาและการสื่อสารในรูปแบบนั้นอาจจะยังไม่มาก แต่เมื่อมาถึงปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้มากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันผู้คนเสพสื่อจากการดูรีวิว ดูจากอินฟลูเอนเซอร์ หรือ บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ก็ยิ่งจะทำให้ผู้คนคล้อยตามได้ง่าย

สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกอย่างคือ หากเราจะบริโภคสินค้าอะไรต่าง ๆ ก็ขอให้อย่าเชื่อว่าคนอื่นบอกว่าดี เพราะอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ได้บอกทั้งหมด หรือเป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือนมาก็เป็นได้

การป้องกันตนเองจากโฆษณาชวนเชื่อ

การป้องกันโฆษณาชวนเชื่อ ถือว่ามี 2 ลักษณะ โดยอย่างแรกคือการป้องกันจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องหามาตรการเชิงรุก และจะต้องให้ความรู้กับประชาชนไม่ให้หลงเชื่อ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบในส่วนของภาครัฐ

แต่สำหรับภาคประชาชน ก็จำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เจอ ยิ่งในยุคของโลกออนไลน์ที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต และในยุคของ AI ยิ่งจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เจอให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการเตือนกันเองของผู้บริโภค เมื่อเจอโฆษณาหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ผิดปกติ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะกับการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตร แต่ยังมีสินค้าอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ที่มีการใช้การโฆษณาเข้ามาสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งหน้าที่หนึ่งของผู้บริโภคที่สามารถทำได้ทันที คือการรายงานไปที่แพลตฟอร์ม หรือแจ้งเตือนไปที่ช่องทางอื่น ๆ ให้ผู้บริโภคได้ทราบ