แชร์

Copied!

ตรวจสอบพบ : เพจอ้างรับอินฟลูฯ รีวิวโรงแรม แท้จริงสวมรอยบริษัทอสังหาฯ หลอกเงินค่าสมัคร

23 เม.ย. 6811:44 น.
สังคมและสุขภาพ#ข่าวปลอม
ตรวจสอบพบ : เพจอ้างรับอินฟลูฯ รีวิวโรงแรม แท้จริงสวมรอยบริษัทอสังหาฯ หลอกเงินค่าสมัคร

กลุ่มมิจฉาชีพสร้างเพจหลอกลวงรับสมัครงานอินฟลูเอนเซอร์ นักเขียนรีวิวโรงแรมและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ โดยอ้างรายได้สูง ก่อนเก็บค่าสมัครงานแล้วบล็อกหนี ตำรวจชี้เป็นพฤติกรรมมิจฉาชีพออนไลน์รูปแบบขบวนการ

จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict โพสต์เตือนภัยเพจมิจฉาชีพ หลอกให้คนสมัครทำงานนักเขียนรีวิวโรงแรม อินฟลูเอนเซอร์ และนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ โดยเสนอแรงจูงใจด้วยรายได้ที่สูงและงานที่ง่าย ก่อนจะเก็บค่าสมัครงานหลักหมื่นแล้วบล็อกหนีไป ระบุว่า

“เตือนภัย เพจมิจฉาชีพหลอกเหยื่อทำงานรีวิวโรงแรม 

วิธีการคือทำเพจแบบในภาพ จ่ายเงินโฆษณาให้เฟช ให้คนเห็นเพจมันในฟีดเยอะ ๆ จากนั้นหลอกเหยื่อว่าจะจ้างทำงานรึวิวโรงแรม ได้ค่าตอบแทนสูง พอเหยื่อหลงเชื่อทักไปคุย มันจะพาไปคุยในเทเลแกรมต่อ แล้วบอกเหยื่อให้เขียนรีวิว โรงแรมดัง ๆ แล้วจะได้เงิน แต่ต้องจ่ายเงินสมัครให้มันหลักหมื่นถึงจะเข้าร่วมหารายได้แบบนี้ได้ พอเหยื่อจ่ายเงินมันก็บล๊อกหนี คนโดนเยอะครับเพจนี้” 

ภาพจากเฟซบุ๊ก Drama-addict

Thai PBS Verify ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Perfect Market ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวน 30,000 คน มีการโพสต์รับสมัครงานนักรีวิวโรงแรม รายได้ 28,000 บาทต่อเดือน หรือ 3,000 บาทต่อวัน คนเขียนรีวิวโรงแรม รายได้ 700 บาทต่อวันและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ รายได้ 3%-9% จากโครงการและบริษัทหลังปิดการขาย พร้อมคุณสมบัติการสมัครงาน 

    

ภาพเพจเฟซบุ๊กและโฆษณาเปิดรับสมัครงาน
 โพสต์รับสมัครพร้อมคุณสมบัติ

 

ขณะเดียวกันมีการลงภาพการจัดอบรมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ในหัวข้อการดีไซน์แบบและราคาเพื่อสนองความต้องการได้อย่างแม่นยำ ภายใต้การสร้างเสร็จก่อนขาย

เราพบว่าภาพในโพสต์ภาพดังกล่าวตรงกับภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Tooktee Agent Pro (ลิงก์บันทึก)

เพจ Perfect Marketing ได้โพสต์ภาพเมื่อวันวันที่ 17 เมษายน 2025 อ้างว่าเป็นงานอบรมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งภายในภาพนี้ ถูกตัดป้ายสีฟ้าที่เขียนว่า Thai Real Estate Business School (TREBS) หรือชื่อของ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และนำภาพไปใส่โลโก้ใหม่ ดังต้นฉบับด้านล่าง

เพจ Tooktee Agent Pro ได้โพสต์ภาพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2025 โดยบุคคลในภาพคือ ดร.โสภณ พรโชคชัย ซึ่งเป็นผู้อำนายการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัทประเมินอสังหาฯ 

เราได้สอบถามไปยังเพจ Tooktee Agent Pro ซึ่งได้ยืนยันว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือจัดกิจกรรมร่วมกับเพจดังกล่าวหรือบริษัทที่เพจนั้นแอบอ้าง

นอกจากนี้ยังพบการแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ เช่น จัดการอบรมกับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง

โพสต์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2025 ระบุว่าเปิดอบรมนายหน้าอสังหาฯ กับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทอสังหาริมทรัพย์

 

จากการตรวจสอบพบว่าโพสต์ต้นฉบับ คือวันที่ 21 ตุลาคม 2023 โพสต์โดยเพจหลักสูตรอบรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเมือง (ลิงก์บันทึก)

ทั้งนี้เมื่อเราตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ Perfect Marketing พบว่าถูกสร้างเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2868 โดยเพจดังกล่าวได้อ้างใช้ชื่อบริษัทตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งจังหวัดภูเก็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ มีประวัติการเปลี่ยนชื่อเพจถึง 7 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2568 ใช้ชื่อว่า Wellgrow Influencer S K Grop ได้อ้างชื่อบริษัทตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ที่ตั้งจังหวัดภูเก็ต แต่เป็นอีกชื่อของบริษัทหนึ่ง

นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้จัดการเพจจากประเทศต่าง ๆ อีก 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บราซิล แคเมอรูน เมียนมาและปากีสถาน

เราทดลองติดต่อไปยังเพจดังกล่าว ว่าต้องการสมัครงานอินฟลูฯ รีวิวโรงแรม พบว่า กลุ่มดังกล่าวมีการขอข้อมูลส่วนตัวเบื้องต้นเท่านั้น ไม่มีการขอประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ ไม่ระบุรายละเอียดขั้นตอนการสมัครและสัมภาษณ์งานแต่อย่างใด พร้อมทั้งให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเทเลแกรม เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ

ซึ่งเมื่อติดต่อแล้ว จะให้ทำแบบทดสอบ โดยมีโจทย์ให้เขียนรีวิวโรงแรมตามภาพที่ส่งมา 1 ชิ้นงาน กำหนดขั้นต่ำอย่างน้อย 120 คำ และได้ให้คะแนนปลอม อ้างว่าเป็นผลประเมิน 10 คะแนน โดยต้องทำให้ครบ 100 คะแนน ถึงจะผ่านการประเมิน ก่อนจะพาผู้สมัครเข้าแชตกลุ่ม ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 150 คน

ใบคะแนนปลอม ที่แอบอ้างโลโก้บริษัทชื่อดังต่าง ๆ

 

ขั้นตอนการรับงานในกลุ่มแชตคือ แอดมินจะส่งรายละเอียดงานเขียนรีวิวพร้อมลิงก์ส่งงาน หากสนใจให้สมาชิกพิมพ์ว่า “รับกิจกรรม” แล้วกดลิงก์ที่แนบมา ซึ่งแต่ละชิ้น จะได้คะแนนและค่าเขียนงาน ชิ้นละ 10 คะแนน ราคา 10 บาท ภายในกลุ่มมีหน้าม้าส่งสลิปว่าได้รับเงินเรื่อย ๆ มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นบาท โดยอ้างว่าผู้โอนเป็นพนักงานจากบริษัทจองที่พักชื่อดัง นอกจากนี้ยังมีหน้าม้าทักข้อความส่วนตัวให้ร่วมรับกิจกรรม

 

หน้าม้าทักข้อความส่วนตัวทีมงาน Thai PBS Verify เพื่อชักชวนให้รับกิจกรรมและสมัครงานดังกล่าว

ภาพอธิบายขั้นตอนการรับงานและการรายงานตัวเพื่อรับเงิน โดยอ้างว่าโบนัสเป็นไปตามเงื่อนไขของและเข้าร่วมแคมเปญในเว็บจองโรงแรมชื่อดัง

 

เราพบข้อสังเกตว่า ภายในกลุ่มมีสมาชิก 150 คน และมีการขึ้นสถานะออนไลน์ตลอดเวลา ครั้งละ 50-60 บัญชีพร้อมกัน เมื่อเลื่อนขึ้นไป จะพบบทสนทนาของสมาชิกในกลุ่มตั้งแต่ ช่วง 8 โมงเช้าไปจนถึงช่วงเย็น มีตอบโต้กันลักษณะนาทีต่อนาที และมีการส่งสลิปยอดรับเงินจากการอ้างว่ารับจากเว็บไซต์จองที่พักยอดนิยมเข้ามาในกลุ่มตลอดเวลา

ตำรวจชี้พฤติกรรมเข้าข่ายมิจฉาชีพ

พันตำรวจเอก เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ข้อมูลกับทาง Thai PBS Verify ว่า รูปแบบข้างต้นคือการวางแผนของกลุ่มมิจฉาชีพที่ทำเป็นแก๊ง มีหน้าม้าสร้างแรงจูงใจให้เราอยากร่วมงาน โดยใช้จิตวิทยาหมู่ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ 

“คล้ายกรณีรับซื้อภาพถ่าย หากเราส่งภาพให้เขา จะได้เงินจริงหลักร้อยหรือหลักสิบบาท เขาก็จะชักจูงว่ามีงานเสริม อาชีพเสริมเพิ่มและดึงเราเข้ากลุ่ม ในกลุ่มนั้นจะมีหน้าม้า ตัวอวตารของเขาและโยนภารกิจมา เช่น จองงานเสร็จได้รับเงินแล้วส่งหลักฐานการโอนเงินในแชตกลุ่ม ให้เราเห็นว่าได้เงินจริง ถ้าสนใจอยากทำงาน เขาจะลากเข้าอีกกลุ่ม ให้เราเสียค่าสมัครต่าง ๆ หลักร้อยบาท ตอนเราทำงาน จะเห็นยอดเงินทั้งหมด แต่สุดท้ายเราไม่สามารถถอนยอดเงินเหล่านั้นได้ 

พันตำรวจเอก เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

“มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความว่าโดนลักษณะนี้อยู่บ้าง มิจฉาชีพถูกจับกุมแล้วก็มี พวกนี้มีหลายแก๊ง ยืนยันว่าพฤติกรรมแบบนี้คือมิจฉาชีพแน่นอน เราต้องตั้งสติอยู่เสมอว่าพวกแอปพลิเคชัน ไลน์ หรือ เทเลแกรมสร้างง่าย พวกเขาสร้างตัวละคร แต่งละครในกลุ่มนั้นได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของกลุ่ม ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ”

ล่าสุดเราตรวจสอบพบว่าเพจปลอมดังกล่าวได้ปิดบัญชีผู้ใช้ไป แต่ค้นเจอเพจใหม่ ที่คล้ายเพจเดิม (ลิงก์บันทึก) แต่มีผู้ติดตามและถูกใจหลักแสนคน เมื่อดูความโปร่งใสของเพจจะพบว่า มีการเปลี่ยนชื่อถึง 6 ครั้ง และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเพจปัจจุบัน รวมถึงผู้จัดการเพจ ที่มี 9 ประเทศ

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

เพจปลอมดังกล่าว ถือว่ามีผู้ติดตามจำนวนมาก โดยมีผู้ติดตามถึงหลักหมื่นถึงแสนคน และด้วยการนำเอาภาพการจัดการอบรมที่มาจากแหล่งอื่น ๆ แอบอ้างบุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเพจ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลและผู้สมัครงาน

มีผู้มาแสดงความคิดเห็นว่าสนใจงานจำนวนมาก

 

กระบวนการตรวจสอบ

ตรวจสอบภาพในโพสต์ด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens

  • ด้วยการนำภาพที่สงสัยหรือต้องการตรวจสอบ มาตรวจสอบด้วยเครื่องมือ Google Lens ซึ่งทำให้พบว่าภาพที่ตรวจสอบไปตรงกับภาพจากแหล่งอื่นหรือไม่

การค้นหาด้วยคำสำคัญและประวัติของเพจเฟซบุ๊ก

  • นำชื่อหรือสถานที่ที่มิจฉาชีพใช้แอบอ้างไปค้นในช่องค้นหาเฟซบุ๊กหรือกูเกิล ผลค้นหาจะแสดงให้เห็นว่า เคยมีการเผยแพร่หรือร่องรอยดิจิทัลอย่างไรบ้าง

✅ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊ก

  • ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ซึ่งจะแสดงข้อมูลว่าเพจดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อใด รวมถึงเคยมีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

  • เช็กความน่าเชื่อถือก่อนให้ข้อมูลส่วนตัว

หากมีการให้ชำระเงินก่อนสมัครงาน หรือให้ส่งข้อมูลส่วนตัว (เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน) ควรตรวจสอบให้ละเอียดก่อนทันที

  • ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนโอนเงิน 

นำชื่อบัญชีที่มีการระบุว่าเป็นบัญชีปลายทางไปทำการตรวจสอบกับเว็บไซต์อื่นๆ เช่น https://www.blacklistseller.com 

  • ตรวจสอบชื่อเพจหรือบริษัท ผ่านช่องทางทางการ

ค้นชื่อเพจหรือชื่อบริษัทในกูเกิลหรือเฟซบุ๊กพร้อมคำว่า “โกง” “หลอกลวง” หรือ “เตือนภัย” 

  • ระวังการชักชวนให้ย้ายไปแอปพลิเคชันอื่นที่ไม่เป็นทางการ

มิจฉาชีพมักหลอกให้ย้ายแพลตฟอร์มเพื่อหลบการตรวจสอบ เช่น ไลน์หรือเทเลแกรม

  • สังเกตความผิดปกติของภาพและข้อมูล

ภาพอบรม ภาพสำนักงาน หรือใบประกาศนียบัตร อาจถูกตัดต่อหรือนำมาจากที่อื่น ให้ลองใช้ Google lens ค้นย้อนกลับดูแหล่งที่มา

  • รายงานและแจ้งเตือนผู้อื่น

กดรายงานเพจและโพสต์เตือนคนอื่นในกลุ่มหรือสื่อโซเชียล เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นตกเป็นเหยื่อเช่นกัน

  • หากได้รับความเสียหาย 

ควรแจ้งความทันทีและเก็บหลักฐานทุกอย่าง เช่น สลิปการโอน แชตหรือภาพโฆษณา

  • ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือข้อมูลผู้ประกอบการ

 ควรตรวจสอบให้มั่นใจถึงกิจกรรมของบริษัทนั้น ๆ ว่ามีความเคลื่อนไหวมากน้อยขนาดไหน จากข่าว หรือ กูเกิล