หลายคนมองหาโอกาสสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่รู้เลยว่า นั่นอาจเป็นประตูสู่กับดักของมิจฉาชีพ เช่นเดียวกับหญิงวัย 52 ปีที่ต้องสูญเสียทั้งเงินเก็บ รถ บ้าน และความหวังในชีวิต เพราะถูกหลอกให้ลงทุนผ่านแอปฯ ปลอมที่แฝงตัวมาอย่างแนบเนียน
จุดเริ่มต้น
หญิงวัย 52 ปี เล่าถึงเหตุการณ์ที่แทบจะพังชีวิตของเธอ เมื่อต้องมาเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกออนไลน์ หลังจากถูกชักชวนให้ลงทุนในแอปฯ ซื้อขายออนไลน์เจ้าดังเจ้าหนึ่ง ซึ่งเธอมารู้ภายหลังว่า แอปฯ ดังกล่าว เป็นเพียงแอปฯ ปลอม ที่มิจฉาชีพทำขึ้นมาเลียนแบบเจ้าดัง
เธอเล่าว่า เริ่มต้นเธอถูกชักชวนผ่านทางช่องทางออนไลน์ ให้เข้ามาลงทุนเปิดร้านค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มที่ชื่อ shopifyy6.com ที่อ้างว่าเป็นแอปฯ ซื้อขายสินค้าออนไลน์ในต่างประเทศ ที่ใช้เงิน US ดอลลาร์ ในการซื้อขาย ซึ่งหากดูหน้าตาของแพลตฟอร์มดังกล่าว ก็อาจเข้าใจว่าเป็นแอปฯ ขายสินค้าออนไลน์เจ้าดังเจ้าหนึ่ง
รูปแบบการหลอกลวง
สำหรับรูปแบบการโกงนั้น เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำสินค้าที่แอปฯ อ้างว่ามาจากร้านค้าในแอปฯ มาไว้ที่หน้าร้านของตนเอง และรอจนกว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามา แต่เพียงไม่นานหลังจากเธอลงทะเบียนเสร็จ ก็พบว่า มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาในทันที ซึ่งการจะถอนเงินนั้น จะต้องรอจนกว่าผู้รับสินค้าจะกดยืนยันการรับสินค้า จึงจะสามารถถอนเงินออกมาได้ แต่ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการซื้อขายนั้น เธอจะต้องนำเงินฝากไว้ที่แอปฯ ให้พอดีกับยอดคำสั่งซื้อ ที่อ้างว่ามาจากต่างประเทศ เพื่อที่จะสามารถถอนเงินทั้งหมดออกมาได้
เธอเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อ 1-2 ครั้งแรกที่เข้ามาผ่านไปได้ด้วยดี เธอสามารถถอนเงินออกมาได้จริง แต่เมื่อถึงคำสั่งซื้อรอบที่ 3 เป็นต้นไป เธอพบว่าเริ่มมีคำสั่งเข้ามามากขึ้น รวมถึงแต่ละคำสั่งซื้อ มีทั้งที่กดรับสินค้า และอยู่ระหว่างการรอตรวจสอบสินค้าจากผู้ซื้อ ซึ่งเงื่อนไขของแอปฯ ปลอมนี้ คือเธอจะไม่สามารถถอนเงินของคำสั่งซื้อที่สำเร็จแล้วออกมาได้ จนกว่าจะโอนเงินเข้าไปให้พอดีกับยอดของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งยอดดังกล่าวเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ เธอโอนเงินที่มีทั้งหมดไปกว่า 580,000 บาท
หมดตัวแล้วก็ยังไม่พอ
แต่เท่านั้นยังไม่พบสำหรับมิจฉาชีพ เพราะแม้จะไม่มีเงินสดติดตัวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเสนอให้เธอสามารถที่จะกู้เงินมาเพื่อจ่ายให้กับแอปฯ ปลอมแห่งนี้ ด้วยความที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีญาติพี่น้องให้ปรึกษา ประกอบกับความรู้สึกเสียดายเงินกว่า 5 แสนบาท ที่ลงทุนไป ทำให้เธอตัดสินใจกู้เงินจากแอปฯ ที่พบจากการค้นหาในอินเตอร์เน็ต
ลวงซ้ำลวงซ้อน
สำหรับการหลอกลวงครั้งที่ 2 เธอเล่าว่า แอปฯ เงินกู้ มีการระบุให้เธอเพิ่มเพื่อนใน LINE ก่อนที่บริษัทดังกล่าว จะส่งรายชื่อของคนที่อ้างว่า เป็นผู้ติดต่อให้กับเธอ เพื่อให้เธอส่งเอกสารให้สำหรับการขอกู้เงิน ซึ่งเอกสารที่เธอถูกนำไปนั้น ได้แก่ สลิปเงินเดือน, บัตรประชาชน และภาพของหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก ซึ่งล้วนเป็นเอกสารสำคัญทั้งสิ้น
ขณะที่ขั้นตอนการกู้เงินนั้น เธอต้องการที่จะกู้เงินจำนวน 500,000 บาท แม้ขั้นตอนจะดูเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่แอปฯ กู้เงินดังกล่าวระบุว่า เธอต้องจ่ายเงินประกัน จำนวน 20,000 บาท เสียก่อนเพื่อเป็นการค้ำประกันวงเงิน แต่เมื่อเธอโอนเงินไปแล้ว แอปฯ ดังกล่าวอ้างว่าเธอทำผิดขั้นตอน ทำให้เธอโอนเงินเข้าไปซ้ำอีกถึง 20,000 บาท แต่ก็ยังถูกอ้างว่าเธอใส่เลขบัตรประชาชนผิด แล้วต้องโอนเงินเข้าไปเพิ่มเป็นจำนวน 100,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นการแก้เลขบัตรประชาชน โดยรวมแล้วเธอโอนเงินให้กับแอปฯ เงินกู้ไปจำนวนถึง 940,000 บาท ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 2 อาทิตย์
ชีวิตพังในพริบตา
ผลกระทบทางการเงินครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าจะเรียกว่า “บทเรียน”
- หนี้จากคนรู้จักกว่า 300,000 บาท
- หนี้บัตรเครดิต 4 ธนาคาร
- รถยนต์ถูกนำไปจำนำ 99,000 บาท
- บ้านจำนองกับธนาคาร 500,000 บาท
รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1.5 ล้านบาท และยิ่งไปกว่านั้น เธอยังมีอาการเครียดสะสม และเกือบจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า หลังจากที่เกิดเหตุเธอเลือกที่จะจมอยู่กับความคิดที่ตัวเองถูกหลอกอยู่ถึง 2 เดือน กว่าจะสามารถทำใจให้เดินหน้าสู้อีกครั้ง
ถอดรูปแบบกลลวง
กลุ่มมิจฉาชีพใช้การหลอกลวงหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่
1. ปลอมแอปฯ เลียนแบบแอปฯ ชื่อดัง
- ใช้ชื่อและหน้าตาของเว็บไซต์หรือแอปฯ ให้คล้ายกับแพลตฟอร์มชื่อดัง เช่น Shopify เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
- ใช้โดเมนแปลก เช่น “shopifyy6.com” (พิมพ์ผิดหรือเติมตัวอักษร) เพื่อให้ดูคล้ายของจริง
เป้าหมาย : หลอกให้เหยื่อสมัครและลงเงิน เพื่อเปิด “ร้านค้าออนไลน์” ปลอม
2. กลลวง "ถอนเงินได้จริงช่วงแรก" เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
- สร้างสถานการณ์ให้ผู้เสียหาย “ได้เงินคืน” จากคำสั่งซื้อ 1-2 ครั้งแรก
- กระตุ้นให้ลงทุนเพิ่ม เพราะคิดว่าได้เงินจริง
เป้าหมาย : ดึงเหยื่อให้มั่นใจ และเพิ่มวงเงินลงทุนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
3. หลอกให้ "ฝากเงิน" เพิ่ม เพื่อปลดล็อกยอดคำสั่งซื้อที่สำเร็จ
- แกล้งอ้างว่ามีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามา และต้องวางเงินค้ำประกัน
- หากไม่เติมเงินเพิ่ม จะไม่สามารถถอนเงินก้อนก่อนหน้าได้
เป้าหมาย : ดูดเงินออกจากเหยื่อแบบต่อเนื่องและเพิ่มจำนวนเรื่อย ๆ
4. กลลวงต่อเนื่องด้วย “แอปฯ เงินกู้ปลอม”
- เมื่อเหยื่อไม่มีเงินลงทุนต่อ จะมีผู้เสนอ “ช่องทางเงินกู้” ที่ดูน่าเชื่อถือ
- เหยื่อต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว ส่งเอกสารสำคัญผ่านไลน์
เป้าหมาย : ขโมยข้อมูลส่วนบุคคล + หลอกให้โอน “ค่าประกัน” / “ค่าดำเนินการ” เพิ่มเติม
5. อ้างเหตุผลปลอมเพื่อให้โอนเงินซ้ำซ้อน
- อ้างว่าใส่ข้อมูลผิด / กรอกเลขผิด / ขั้นตอนไม่สมบูรณ์
- ให้เหยื่อ “แก้ไข” โดยการโอนเงินเพิ่มเข้าไปเรื่อย ๆ
เป้าหมาย : ทำให้เหยื่อตกอยู่ใน “ภาวะเสียดาย” และยอมจ่ายเพิ่มเพื่อเอาเงินเดิมคืน
ข้อแนะนำในการป้องกันตนเอง
1. ตรวจสอบเว็บไซต์และแอปฯ ให้ละเอียด
- เว็บไซต์ปลอมมักมีชื่อโดเมนที่แปลก เช่น เติมตัวอักษรซ้ำ (เช่น shopifyy6.com)
- ใช้บริการตรวจสอบ URL เช่น Google Safe Browsing หรือ WHOIS
2. อย่าหลงเชื่อผลตอบแทนที่ง่ายและรวดเร็ว
- หากระบบการถอนเงินมีเงื่อนไขซับซ้อนจนต้องเติมเงินเพิ่มเรื่อย ๆ นั่นคือ “สัญญาณเตือน”
3. ไม่ส่งเอกสารส่วนตัวให้คนแปลกหน้า
- มิจฉาชีพมักใช้เอกสารเหล่านี้ในการปลอมแปลงตัวตน หรือสมัครบริการทางการเงินโดยไม่รู้ตัว
4. หลีกเลี่ยงแอปฯ กู้เงินนอกระบบ
- ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อถูกกฎหมายได้ที่เว็บไซต์ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย
5. ปรึกษาคนรอบข้างก่อนตัดสินใจลงทุนหรือกู้เงิน
- การมีที่ปรึกษาและมุมมองที่สอง ช่วยลดความเสี่ยงจากอารมณ์ชั่ววูบ หรือแรงกดดันจากมิจฉาชีพ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
จิตวิทยาสายมืด : รู้ทันเทคนิคที่ "มิจฉาชีพ" ใช้หลอกลวงเหยื่อ https://www.thaipbs.or.th/now/content/2148
ตรวจสอบพบ : เพจปลอมหลอกแพ็ก "ดินสอ-ปากกา" พบเหยื่อหลงเชื่อเพียบ https://www.thaipbs.or.th/now/content/2412
ตรวจสอบพบ : เพจปลอมหลอกแพ็กเทียนหอม อ้างรายได้ 500-1,200/วัน https://www.thaipbs.or.th/now/content/2128
ตรวจสอบพบ : เพจทำงานที่บ้าน จ้างพับถุงกาแฟร้านดัง 620 บาท/วัน ที่แท้ลวงมัดจำ https://www.thaipbs.or.th/now/content/1990
ตรวจสอบพบ : เพจทำงานที่บ้านนำภาพบริษัทอื่นมาสวมรอย พบคนเชื่อสอบถามกว่า 3,000 คน https://www.thaipbs.or.th/now/content/1886
ตัวจริงเตือนภัย ! จากหา "งานเสริม" กลายเป็น "สูญเงินแสน" http://www.thaipbs.or.th/verify/article/content/1470