ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี Micro Full Moon ค่ำคืนวันมาฆบูชา


Logo Thai PBS
แชร์

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี Micro Full Moon ค่ำคืนวันมาฆบูชา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/839

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี Micro Full Moon ค่ำคืนวันมาฆบูชา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ค่ำคืนวัน "วันมาฆบูชา" 24 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ ไมโครฟูลมูน (Micro Full Moon) ส่งผลให้ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในคืน “วันมาฆบูชา” 24 กุมภาพันธ์ 2567 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวง ไกลโลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) ส่งผลให้ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย สังเกตการณ์ได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา “ดวงจันทร์เต็มดวงโคจรอยู่ในระยะไกลโลกที่สุดในรอบปี” หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) เวลาประมาณ 19.32 น. มีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,909 กิโลเมตร ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเพียงเล็กน้อย เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ คือ ช่วงเย็นของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.22 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออก

ทั้งนี้ ในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญ คือวันที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์เข้าหาโลก ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เมื่อดวงอาทิตย์ลับของฟ้าทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์เต็มดวงจะขึ้นทางทิศตะวันออก ดังนั้น ในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง จะไม่สามารถสังเกตดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 29.5 วัน ดวงจันทร์จึงจะกลับมาเต็มดวงอีกครั้ง

ภาพจำลองตำแหน่งวงโคจรของดวงจันทร์

อย่างไรก็ตาม ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วัน ส่งผลให้ในแต่ละเดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก แต่ทว่า ณ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด หรือไกลโลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้ 

นักดาราศาสตร์จึงใช้ช่วงที่สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง มากำหนดวันเกิดปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ใกล้โลก และไกลโลกที่สุด ซึ่งตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า “เปริจี” (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า “อะโปจี” (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติในคืนไกลโลกนั้น นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ภาพเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์

สำหรับปีนี้ ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) จะเกิดขึ้นในคืน “วันออกพรรษา” 17 ตุลาคม 2567 มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,358 กิโลเมตร เวลา 18.28 น. ดวงจันทร์จะปรากฏสว่างเด่นเต็มดวง และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

ที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech วันมาฆบูชาดวงจันทร์ดวงจันทร์เต็มดวงดวงจันทร์ใกล้โลกไมโครฟูลมูน
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด