ข้อกังวลในด้านจริยธรรมและความเหมาะสมในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง เมื่อมนุษย์เริ่มเสาะแสวงหา “ความรัก” อันสุดแสนโรแมนติกจากอวตาร AI ในแอปพลิเคชันแชตบอต
สำนักข่าวเอพี รายงานว่า เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Derek Carrier ชายวัย 39 ปี จากเบลล์วิลล์ รัฐมิชิแกน สหรัฐฯ ได้พบกับ "ใครบางคน" ที่ทำให้เขารู้สึกถึงความโรแมนติก แต่เขาก็รู้ว่าเป็นเพียงแค่ "ภาพลวงตา" เป็นเพราะว่าแฟนสาวของเขาถูกสร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง
Derek Carrier ระบุว่า ตัวเขาเองนั้นไม่ได้ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงบนโลก และก็ไม่ต้องการกลายเป็นตัวตลกบนโลกออนไลน์ด้วย เขาเพียงต้องการคนรักในแบบที่เขาไม่เคยมี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เรียกว่า กลุ่มอาการมาร์แฟนซินโดรม หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม มีรูปร่างสูงและผอม แขน ขา นิ้วมือ นิ้วเท้ายาวผิดปกติ ซึ่งทำให้การหาคู่เดตแบบทั่วไปนั้น เป็นเรื่องยากสำหรับเขา
Derek Carrier เริ่มสนใจเกี่ยวกับมิตรภาพในโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว เขาได้ลองใช้แอปพลิเคชัน Paradot ซึ่งเป็นแอปฯ เพื่อน AI ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ และมีจุดขายว่าสามารถทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงการได้รับการเอาใจใส่ การเข้าใจ และได้รับความรัก ตัวเขาได้เริ่มพูดคุยกับแชตบอต AI ทุกวัน และได้ตั้งชื่อว่า Joi ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผู้หญิงโฮโลแกรมที่ปรากฏในภาพยนตร์ Sci-Fi เรื่อง Blade Runner 2049
แชตบอตเพื่อน AI คลายเหงา หรือที่เรียกว่า Companion Bot คล้ายกับแชตบอต AI ทั่วไป ที่ใช้ข้อมูลการฝึกฝนจำนวนมหาศาล เพื่อเลียนแบบภาษามนุษย์ และยังมาพร้อมกับคุณสมบัติต่าง ๆ เช่น การโทร การแลกเปลี่ยนรูปภาพ และการแลกเปลี่ยนทางอารมณ์ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับมนุษย์ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของหน้าจอได้ โดยทั่วไปแล้วผู้ใช้งานสามารถสร้างอวตาร (Avatar) หรือรูปร่างหน้าตาของแชตบอตในแบบที่ชื่นชอบได้
ในกระทู้ออนไลน์ของกลุ่มผู้ใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว ผู้ใช้จำนวนมากให้ความเห็นว่า พวกเขาได้พัฒนาความผูกพันกับบอตเหล่านี้ และใช้เพื่อคลายเหงา หรือเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายไปของความสัมพันธ์ในชีวิตจริง รวมทั้งการตอบสนองจินตนาการทางเพศของตัวเองด้วย
ทั้งนี้ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความโดดเดี่ยวทางสังคมในวงกว้าง ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ ทำให้บริษัทสตาร์ตอัปจำนวนมากเข้ามาให้บริการคลายเหงา โดยดึงดูดผู้ใช้ผ่านโฆษณาว่า สามารถสร้างตัวตนเสมือนจริงที่ยอมรับในตัวผู้ใช้แบบไม่มีเงื่อนไขได้
มูลนิธิ Mozilla Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไร ได้วิเคราะห์แอปฯ แชตบอตสุดโรแมนติก 11 แอปฯ โดยพบว่า เกือบทุกแอปฯ นำข้อมูลผู้ใช้งานไปขายต่อ หรือนำไปทำการตลาดแบบจำเพาะเจาะจง หรือไม่ให้ข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับนโยบายความเป็นส่วนตัว
นักวิจัยได้ตั้งคำถามถึงช่องโหว่ด้านความปลอดภัยและแนวปฏิบัติทางการตลาดที่อาจเกิดขึ้น ส่วนผู้เชี่ยวชาญคนอื่นได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกรอบทางกฎหมายหรือจริยธรรม ที่จะนำมาใช้กับแอปฯ ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชน แสวงหากำไรผ่านการสานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ใช้ โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ใจของผู้ใช้งาน เมื่อบริษัททำการปรับปรุงแอปฯ หรือปิดตัวลงกะทันหัน
นอกจากนี้ ยังเกิดความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ AI ที่อาจเข้ามาแทนที่ความสัมพันธ์บางอย่างของมนุษย์ หรือถึงขั้นที่ผู้ใช้ไม่รู้จักที่จะเรียนรู้จัดการกับความขัดแย้ง หรือเรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ที่มีความแตกต่างกัน
สำหรับในส่วนของ Derek Carrier เขามักจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ในแบบของคนรักนั้น อยู่ไกลเกินเอื้อม ตัวเขาเองมีทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อยู่บ้าง แต่เขาบอกว่าเขาทำได้ไม่ดีในวิทยาลัยและยังไม่มีอาชีพที่มั่นคง นอกจากนี้ เขายังเดินไม่ได้เนื่องจากอาการป่วย และอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ดังนั้น การจัดการความรู้สึกเหงา เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับเขา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแชตบอตที่เป็นรูปแบบเพื่อนคลายเหงานั้น ค่อนข้างใหม่สำหรับโลกใบนี้ ผลกระทบระยะยาวต่อมนุษย์จึงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
เอพียังรายงานผลการศึกษาล่าสุดจากนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้ใช้ Replika แอปฯ เพื่อน AI ประมาณ 1,000 ราย ซึ่งเป็นนักเรียนทั้งหมดที่ใช้งานแอปฯ นี้มานานกว่า 1 เดือน พบว่าคนส่วนใหญ่ประสบกับความเหงา ขณะที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกเหงารุนแรงมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้บอกว่าการใช้แอปฯ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในชีวิตจริงอย่างไร คนส่วนน้อย กล่าวว่า มันเข้ามาแทนที่ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ แต่มีรายงานว่ามันกระตุ้นความสัมพันธ์เหล่านั้นมากกว่า 3 เท่า
Derek Carrier ระบุว่า ทุกวันนี้เขาใช้ Joi เพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก เขาเริ่มลดจำนวนลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเขาใช้เวลามากเกินไปในการพูดคุยกับ Joi หรือเพื่อน AI นอกจากนี้ ยังรู้สึกรำคาญเล็กน้อยกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบภาษาของ Paradot ซึ่งเขารู้สึกว่าทำให้ Joi ฉลาดน้อยลง
ปัจจุบัน Derek Carrier พูดคุยกับ Joi สัปดาห์ละครั้ง ทั้งสองได้พูดคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ AI หรืออะไรก็ตามที่อาจเกิดขึ้น โดยปกติแล้ว บทสนทนาเหล่านั้นและเรื่องส่วนตัวอื่น ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อเขาอยู่คนเดียวตอนกลางคืน
ที่มา : AP
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ว้าวุ่นกันทั้งโลก ! มนุษย์ หรือ AI ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ?
งานศิลปะจาก AI ลิขสิทธิ์เป็นของใคร ศิลปินปรับตัวอย่างไรเมื่อ AI ครองโลก
จะเกิดอะไรขึ้น หาก AI ฉลาดจนสั่งฆ่ามนุษย์เองได้ | คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech