ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครบรอบ 20 ปีภารกิจ Mars Exploration Rover สองหุ่นยนต์สำรวจผู้เปลี่ยนการสำรวจดาวอังคารตลอดกาล


Logo Thai PBS
แชร์

ครบรอบ 20 ปีภารกิจ Mars Exploration Rover สองหุ่นยนต์สำรวจผู้เปลี่ยนการสำรวจดาวอังคารตลอดกาล

https://www.thaipbs.or.th/now/content/741

ครบรอบ 20 ปีภารกิจ Mars Exploration Rover สองหุ่นยนต์สำรวจผู้เปลี่ยนการสำรวจดาวอังคารตลอดกาล
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เดือนมกราคม 2024 นี้ ครบรอบ 20 ปีการลงจอดของสองพี่น้องหุ่นยนต์สำรวจ Spirit และ Opportunity บนดาวอังคาร ตำนานหุ่นยนต์สำรวจที่ทนทานและสามารถปฏิบัติงานได้ยาวนานกว่า 15 ปี ถึงแม้หุ่นยนต์ทั้งสองจะจากไปแล้วแต่หุ่นยนต์ทั้งสองได้ปฏิวัติความรู้มากมายเกี่ยวกับดาวอังคารและได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกมากมายในการสำรวจอวกาศ

มกราคมปี 2004 สองพี่น้องหุ่นยนต์สำรวจ Spirit และ Opportunity ได้ลงจอดบนดาวอังคาร ทั้งสองได้ลงจอดคนละฝั่งของดาวอังคาร มีเป้าหมายในการมองหาหลักฐานการมีอยู่ของน้ำบนดาวอังคารในอดีตผ่านหลักฐานทางธรณีวิทยา

ภาพวาดจำลองหุ่นยนต์ในโครงการ Mars Exploration Rover

หนึ่งในภาพจำของหุ่นยนต์ทั้งสองคือ ระบบการลงจอดสุดแหวกแนวของ JPL ที่ออกแบบการลงจอดโดยการใช้ถุงลมพองตัวออกและปล่อยยานกระเด้งไปมาบนพื้นผิว วิธีการลงจอดวิธีนี้เคยถูกใช้งานจริงกับยาน Mars Pathfinder แล้ว ซึ่งพบว่าสามารถใช้งานจริงได้โดยที่ไม่ต้องออกแบบระบบการลงจอดที่ซับซ้อน ทำให้ยานสามารถลงจอดในพื้นที่ที่ต้องการถึงแม้จะมีความขรุขระของพื้นผิวที่ยากต่อการลงจอดก็ตาม วิธีนี้ทำให้สามารถส่งหุ่นยนต์ขนาดเท่ารถกอล์ฟไปยังดาวอังคารและลงจอดได้อย่างปลอดภัย

ภาพก้อนกรวดบลูเบอร์รี่ที่เป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งบนดาวอังคารเคยมีน้ำอยู่

สำหรับการตามหาหลักฐานการมีอยู่ของน้ำในอดีตกาลของหุ่นยนต์ทั้งสองผ่านหลักฐานทางธรณีนั้น หุ่นยนต์ทั้งสองได้พบหลักฐานมากมายตามเส้นทางที่ทั้งสองได้เดินทางไป Opportunity ได้พบกับก้อนหินบลูเบอร์รี ก้อนกรวดทรงกลมสีน้ำเงินขนาดตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตรจนถึงระดับเซนติเมตร บริเวณภูมิภาค Meridiani Planum ของดาวอังคาร ซึ่งก้อนหินเหล่านี้เป็นก้อนแร่ที่เกิดจากการสะสมของออกไซด์ของโลหะ ซึ่งคาดการณ์ว่าการก่อตัวของก้อนกรวดนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ที่น้ำกรดท่วมถึง แสดงให้เห็นว่าอดีตภูมิภาคนี้เคยมีน้ำในลักษณะของเหลวอยู่ ส่วน Spirit พบการมีอยู่ของโอลิวีน คริสตัลชนิดหนึ่งซึ่งพบได้บนโลก ซึ่งการมีอยู่ของโอลิวีนนั้นแสดงว่าครั้งหนึ่งดาวอังคารเคยมีมหาสมุทรและพื้นที่นั้นเคยมีภูเขาไฟใต้มหาสมุทร ที่อาจสามารถเป็นแหล่งพลังงานทางเคมีให้กับสิ่งมีชีวิตในยุคแรกเริ่มคล้ายกับโลกในอดีต

การค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของน้ำมากมายผ่านการสังเกตทางธรณีของหุ่นยนต์ทั้งสองช่วยไขข้อสงสัยที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น ว่าอดีตดาวอังคารเคยมีน้ำอยู่จริงหรือไม่ เนื่องจากภาพถ่ายจากยานอวกาศบนวงโคจรของดาวอังคารนั้นพบธรณีสัณฐานที่ดูเหมือนเครือข่ายของร่องน้ำและมหาสมุทรบนดาวอังคาร การลงไปสำรวจและพิสูจน์ของหุ่นยนต์ทั้งสองนี้ช่วยไขข้อสงสัยนี้ให้กระจ่างได้ว่า อดีตดาวอังคารเคยมีน้ำที่เป็นของเหลวอยู่บนพื้นผิวจริง

หุ่นยนต์ทั้งสองนั้นเปรียบเสมือนมรดกที่สร้างองค์ความรู้ในการออกแบบภารกิจรุ่นถัดไปของ NASA ทั้งหุ่นยนต์ Curiosity และ Perseverance อีกทั้งการออกแบบหุ่นยนต์ของทั้งสองก็ถูกจารึกให้เป็นตำนานอีกเช่นกัน เนื่องจากหุ่นยนต์ทั้งสอง JPL ออกแบบเบื้องต้นให้สามารถปฏิบัติภารกิจหลักเพียงแค่ 90 วันเท่านั้น โดยออกแบบให้หุ่นยนต์ทั้งสองชาร์จพลังงานจากโซลาร์เซลล์เพียงเท่านั้น แต่หุ่นยนต์ทั้งสองสามารถทำงานได้นานกว่านั้นที่ออกแบบไว้เป็นอย่างมาก เช่น Opportunity สามารถทำงานได้นานถึง 15 ปี หรือ 8 ปีเศษของปีบนดาวอังคาร นั่นหมายความว่า Opportunity สามารถผ่านฤดูหนาวที่โหดร้ายของดาวอังคารได้ยาวนานถึง 8 รอบ ซึ่งเกินความคาดหมายของการออกแบบไป 60 เท่า อีกทั้ง Opportunity เองยังสามารถเดินทางข้ามทะเลทรายบนดาวอังคารเป็นระยะทางร่วม 45 กิโลเมตร และทำให้มันเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกที่สามารถเดินทางบนพื้นผิวดาวเคราะห์ดวงอื่นครบระยะทางวิ่งมาราธอนสำเร็จเป็นตัวแรก

การมีอายุที่ยืนยาวของภารกิจ Opportunity ทำให้ได้พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ มากมาย เช่น การพบว่าในภูมิภาคต่าง ๆ บนดาวอังคารนั้นมีทั้งพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำพุร้อน และน้ำกรด ซึ่งเป็นการพบที่ตอกย้ำถึงความหลากหลายของสิ่งแวดล้อมบนดาวอังคารในอดีต อีกทั้งยังเป็นหลักฐานการพิสูจน์ความทนทานของวัสดุของหุ่นยนต์ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้แก่หุ่นยนต์รุ่นใหม่ทั้ง Curiosity และ Perseverance ให้สามารถทนทานและมีอายุที่ยืนยาวขึ้นได้

ภาพถ่ายเงาของ Opportunity จากกล้องนำทางของหุ่นยนต์

ตลอด 20 ปีของภารกิจของหุ่นยนต์ทั้งสองนี้ ถึงในปัจจุบันแม้เราจะสูญเสียหุ่นยนต์ทั้งสองไปตลอดกาล แต่หุ่นยนต์ทั้งสองนั้นจะอยู่ในความทรงจำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่มากมาย เช่น Abigail Fraeman นักธรณีวิทยาดาวอังคาร (Mars Geologist) ในวัยมัธยมปลายได้มีโอกาสเข้าชมการลงจอดของ Opportunity ใน JPL ซึ่งเธอในเวลานั้นตื่นเต้นกับการลงจอดและร่วมดีใจกับการที่หุ่นยนต์ลงจอดได้อย่างปลอดภัยร่วมกับทีมงานของ JPL และปัจจุบันเธอทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ในโครงการของหุ่นยนต์ Curiosity

การสำรวจของหุ่นยนต์ทั้งสองนอกจากจะสร้างองค์ความรู้เป็นมรดกให้แก่มนุษยชาติและมันยังสร้างมรดกแห่งความทรงจำ สร้างความฝันและแรงบันดาลใจ ส่งต่อจากยุคสู่ยุค และเป็นอิทธิพลที่ทำให้เกิดการซึมซับ ทำให้เกิดความสนใจใคร่รู้และสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaPBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ที่มาข้อมูล: NASA

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หุ่นยนต์สำรวจหุ่นยนต์Mars Exploration RoverสำรวจดาวอังคารดาวอังคารสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด