ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความลับ “ทักษิณ” นอนป่วยชั้น 14 “ยธ.-กมธ.มั่นคงฯ” เล่นแง่สอบ

การเมือง
21 พ.ย. 67
17:52
195
Logo Thai PBS
ความลับ “ทักษิณ” นอนป่วยชั้น 14  “ยธ.-กมธ.มั่นคงฯ” เล่นแง่สอบ

ยังไม่ชัดเจน วันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.2567) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จะเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายรังสิมันต์ โรม เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ เพื่อชี้แจงกรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจหรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ วันนี้ (21 พ.ย.2567) พ.ต.อ.ทวี มอบหมายให้ “นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมตัวแทนของกรมราชทัณฑ์ มาแถลงว่า กรมราชทัณฑ์ เคยส่งผู้แทนไปชี้แจงมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา และยังส่งหนังสือขอให้ รมว.ยุติธรรมและอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เข้าไปให้ข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอีก

ดังนั้น กรมราชทัณฑ์จึงมีความเห็นและทำหนังสือส่งถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2567 เนื่องจาก รมว.ยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ไม่สบายใจในข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.ตามข้อบังคับมีกำหนดชัดว่า กมธ.มั่นคงฯ มีภารกิจเรื่อง เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 109 วรรค 2 ระบุ คณะกรรมาธิการฯ ต้องทำตามกรอบในหน้าที่และอำนาจที่ระบุไว้ เมื่อข้อบังคับของสภาผู้แทน มาตรา 90 (9) ระบุชัด ดังนั้นกรมราชทัณฑ์เห็นว่าไม่อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของ กมธ.มั่นคงฯ

2. การดำเนินการเรื่องดังกล่าว เป็นการเรียกซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการตำรวจฯ ที่เคยเรียกชี้แจงตรวจสอบและมีผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ไปชี้แจงแล้วตั้งแต่ ธ.ค.2566 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 วรรค 2 ระบุว่า ในการทำกิจการของสภาฯ ต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนกับเรื่องอื่นใด ดังนั้น การจะเรียกสอบโดย กมธ.อีกชุดจึงอาจเป็นการตรวจสอบซ้ำซ้อน หากเห็นว่าอยู่ในอำนาจทำได้ก็ต้องรวมพิจารณาของ กมธ.ทั้ง 2 ชุดก่อน

3.ปัจจุบันมีองค์กรอิสระเช่น ป.ป.ช. อยู่ระหว่าง ไต่สวนเรื่องนี้ มีการตรวจสอบอย่างละเอียดอยู่แล้ว และมีการเชิญเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ มีการขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง และที่ผ่านมา มีหลายองค์กรก็ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) การตรวจสอบจากองค์กรอิสระ ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษได้

หากพิจารณา เรื่องการให้ประธานสภาเป็นผู้ชี้ขาด ในอำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการมั่นคงฯ เพื่อหวังจะยื้อการให้คำตอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ ขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่า นายวันมูหะมัดนอร์ เป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ และ พ.ต.อ.ทวี คือ หัวหน้าพรรคประชาชาติคนปัจจุบัน และเป็นพรรคประชาชาติที่ถูกจับต้องมาตลอดว่า เป็นสาขาย่อยของพรรคเพื่อไทย 

“หลายคนโทรมาถามว่า รมว.ยุติธรรม จะเดินทางเข้าให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการฯชุดนี้หรือไม่ ต้องบอกว่า เขาให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน และผมทราบความกังวลของ พ.ต.อ.ทวี เหมือนที่กรมราชทัณฑ์กังวล ว่าขณะนี้ กมธ.ความมั่นคงฯ ทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับและระเบียบหรือไม่ ...พรุ่งนี้ (22 พ.ย.) รมว.ยุติธรรมจะไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการชุดนี้หรือไม่ ยังไม่ได้ให้คำตอบ และยังไม่ได้ข้อยุติเพราะยังไม่ได้ถามอย่างเป็นทางการ” ที่ปรึกษาของ พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม บอกว่า หากประธานสภาฯ ชี้อย่างไร มีการยืนยันในกรอบอำนาจหน้าที่ ก็ต้องไป และคงปฏิเสธไม่ได้ ยอมรับว่าการทำหนังสือถึงประธานสภาฯ อาจกระชั้นชิดเพราะเรียกเข้าพบพรุ่งนี้ (22 พ.ย.) แต่หนังสือ กมธ.มั่นคงฯ ที่เชิญมา เพิ่งถึง รมว.ยุติธรรมเมื่อวันที่ 15 พ.ย. และมีขั้นตอนในการจัดทำความเห็นไป

“ขึ้นกับดุลยพินิจส่วนบุคคล ว่าจะไปหรือไม่ไป เป็นสิทธิของคนเชิญ ...แต่กรมราชทัณฑ์มาพิจารณาว่าอยู่ในกรอบอำนาจหรือไม่ แต่เห็นเบื้องต้นว่าไม่อยู่ในอำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมาธิการชุดนี้”

เมื่อถูกถามว่า หากไม่ไปพบ กมธ.พรุ่งนี้จะถูกมองว่ากลัวนายรังสิมันต์ โรม หรือไม่ นายสมบูรณ์ บอกด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะว่า ก็คงกลัวเนอะ ในฐานะผู้ถูกตรวจสอบ ใครจะบอกไม่กลัว คงไม่ได้ แต่ความกลัวหรืออะไรก็ตาม ขจัดหน้าที่รับผิดชอบไม่ได้ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อทำแล้วก็ต้องรับผิดชอบและชี้แจงให้ได้ ...เรื่องเอื้อประโยชน์ให้ นายทักษิณ เหตุจบไปแล้ว ตอนนี้เป็นการตรวจสอบ ไม่ได้เอื้ออะไร” ที่ปรึกษา พ.ต.อ.ทวี ระบุ

แม้ นายสมบูรณ์ จะปฏิเสธว่า การเรียกสอบข้อมูลของ “นายทักษิณ” ระหว่างพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรรมาธิการความมั่นคงฯ และไม่ได้ใช้แง่มุมกฎหมาย

แต่สาเหตุที่ไม่มีใครอยากไปชี้แจง รวมทั้ง พ.ต.อ.ทวี ในฐานะผู้กำกับดูแลกรมราชทัณฑ์โดยตรง คงยากที่จะตอบข้อซักค้านของคณะกรรมาธิการฯ ในหลายประเด็นที่สังคมยังคาใจมากกว่า

ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านี้ นายรังสิมันต์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ จะได้เรียกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจไปชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้วก็ตาม และยังมีการสอบถามเรื่องเวชระเบียนของผู้ป่วย แต่ไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างชัด หากกลับมีการอ้างกฎหมาย PDPA ซึ่งระบุไว้ชัดว่า ไม่รวมถึงการทำหน้าที่ของสภาและกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายกับมีพิรุธ ทั้งที่การให้ข้อมูลกับกรรมาธิการฯ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้

ประเด็นนี้ จึงเป็นที่มาให้คณะกรรมาธิการฯชุดดังกล่าว อยากเชิญให้ “ทักษิณ” เข้าให้ปากคำด้วยตนเอง แต่อาจเป็นไปได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปได้ไม่เลย หวยจึงออกไปที่ “พ.ต.อ.ทวี” และ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป้าหมายสำคัญที่ นายรังสิมันต์ ต้องการคำชี้แจง

“ถามชื่อหมอ พยาบาล ยังไม่ได้รับคำตอบเลย ข้อมูลหลายส่วน เป็นข้อมูลที่เป็นการพูดภาพรวม เป็นการพูดกว้าง ๆ เป็นการพูดหลักการทั่วไป แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดที่ทำให้ข้อมูลให้กรรมาธิการเข้าใจ... ทำไมถึงต้องเชิญคุณทักษิณเมื่อถามหมอ ถามคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับคำตอบ ก็คงต้องถามคนป่วย คนที่เขาบอกว่า เขาป่วยดู ซึ่งถ้าเราได้คำตอบที่ชัดเจน ผมคิดว่ามันก็จบ” นายรังสิมันต์ บอกครั้งนั้น

ขณะที่ นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ออกมาตอบโต้ เรื่องการที่กระทรวงยุติธรรมระบุว่า กมธ.มั่นคง ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และขอให้ประธานรัฐสภา ชี้ขาดเรื่องการเชิญบุคคลเข้าให้ข้อมูล ซึ่งการทำงานของ กมธ.ครอบคลุมเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐและการปฏิรูปประเทศ แค่คำว่าปฏิรูปประเทศอย่างเดียว ก็สามารถทำได้หลายเรื่อง เช่น การปฏิรูปตำรวจ ตำรวจก็เป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม

“แล้วทำไมกรมราชทัณฑ์จะไม่ใช่หนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่เราปฏิรูปไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเราจะปฏิรูปถ้าเราไม่แสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเราจะปฏิรูปได้อย่างไร”

นายปิยรัฐ บอกว่า อยากให้กระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะอธิบดีและรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่ทำหนังสือมาถึงและอ้างว่าเราทำหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรค 2 ว่า เราทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ กมธ. อื่นนั้น มีอำนาจอะไรมาวินิจฉัย ทั้งที่เราทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภาด้วยซ้ำไป ขอให้โต้แย้งมาว่าเราไม่ได้ประชุมเรื่องการปฏิรูปอย่างไร

น กมธ.ก็มีทั้ง สส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลนั่งอยู่ด้วย ดังนั้น การจะเชิญหน่วยงานใดมาก็ต้องขอมติจาก กมธ.ทุกคน จึงอยากให้เข้าใจว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้าน แต่เราทำหน้าที่ในฐานะ กมธ.ของสภาผู้แทนราษฎร และหากประธานสภาฯ วินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร เราก็ไม่ขัดข้อง ขอให้เป็นไปตามนั้น

ส่วน นายรังสิมันต์ บอกเพียงว่า สุดท้ายไม่ว่าใครจะมาหรือไม่มา แต่ข้อวิจารณ์ของสังคมได้เกิดขึ้นแล้ว และอยากให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่ถูกเชิญพิจารณาด้วยข้อเท็จจริงว่า การไม่มาหมายความว่า คุณไม่มีโอกาสในการชี้แจง แต่หากมา แสดงว่ามั่นใจว่า สิ่งที่ทำเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่อยู่บนวิสัยที่ไม่ได้มีมาตรฐานพิเศษเหนือกว่าใคร

“กรณีของนายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ การมาชี้แจงถือเป็นโอกาส จะได้ลบข้อครหา ข้อวิจารณ์ต่างๆ คำถามทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และพื้นฐานหลักกฎหมาย และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลเลยว่า กรรมาธิการจะเล่นการเมืองหรือไม่ กลั่นแกล้งกันหรือไม่ ..ต่อให้เชื่อแบบนั้น ถ้าตอบคำถามได้ ผู้ที่ต้องการกลั่นแกล้งคุณก็จะถูกสะท้อนกลับไปที่ตัวเขาเอง”

ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ความมั่นคง ชี้ว่า สุดท้ายสังคมก็จะเชื่อในข้อเท็จจริงที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามอธิบาย มันก็จะจบอยู่ตรงนั้น จึงอยากให้มองเป็นโอกาส และถ้าสุดท้ายหากผู้ถูกเชิญไม่มา ข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ของสังคม ก็เหมือนกับว่าสังคมจะได้รับคำตอบแล้วว่าเรื่องชั้น 14 ความจริงคืออะไร

อ่านข่าว :

"ชูศักดิ์" มั่นใจ "ทักษิณ-เพื่อไทย" ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

นายกฯ โยนถาม "ทักษิณ" ปม "ยิ่งลักษณ์" กลับไทย ปัดดีลรัฐบาล

ประกาศชนะคว้า 200 สส. นัยความสำคัญของ "ทักษิณ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง