13 ธันวาคม 2003 ซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีแห่งอิรัก ถูกจับกุมโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ในขณะนั้น ประกาศทำสงครามกับอิรัก ด้วยข้อกล่าวหาว่า ซัดดัมมีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง และปกครองประเทศอย่างโหดเหี้ยม แต่หลังจากจับตัวซัดดัมได้แล้ว กลับไม่พบอาวุธดังที่บุชกล่าวหาแต่อย่างใด
ซัดดัม ฮุสเซน (Suddam Hussain) ประธานาธิบดีแห่งอิรักในขณะนั้น และเป็นผู้นำพรรคบะอัธ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหัวปฏิวัติของอิรักได้มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารในปี 1968 โดยซัดดัมได้จัดตั้งกองกำลังรักษาความมั่นคงเพื่ออุดหนุนอำนาจของเขาในการควบคุมรัฐบาลอิรักไว้ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 ราคาน้ำมันปิโตรเลียมที่พุ่งสูงขึ้นได้ช่วยให้เศรษฐกิจอิรักเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากและในอัตราที่สม่ำเสมอ
ในฐานะประธานาธิบดี ซัดดัมได้พัฒนาลัทธินิยมตัวผู้นำอย่างบ้าคลั่ง ควบคู่กับปกครองอิรักอย่างกดขี่และโหดร้าย เป็นรัฐบาลเผด็จการกุมอำนาจไว้ได้ในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่านระหว่างปี 1979-2003 แม้จะรอดพ้นจากการถูกโค่นอำนาจของกองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ ในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1990-1991 แต่เขาก็ถูกบีบให้ถอนกำลังทหารออกจากคูเวต และในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียนี้เอง ทำให้อิรักทรุดโทรมทำลายทั้งมาตรฐานการครองชีพและสิทธิมนุษยชน รัฐบาลของซัดดัมได้จัดการกับการเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มเป็นภัยคุกคามโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มทางศาสนาที่ต้องการเรียกร้องอิสรภาพหรือการปกครองตนเอง
ในระหว่างที่ซัดดัมยังคงเป็นวีรบุรุษที่ประชาชนชื่นชมโดดเด่นในหมู่ผู้นำอาหรับอื่น ๆ ในฐานะผู้ที่ลุกขึ้นต่อต้านสหรัฐฯ และให้การสนับสนุนปาเลสไตน์ภายหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐอเมริกาและชาติอื่น ๆ ในประชาคมโลกยังคงเฝ้าระวังจับตามองซัดดัมด้วยความหวาดระแวงว่า มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตร เปิดฉากขึ้นเมื่อ 20 มี.ค. 2003 โดยได้ยกทัพเข้าบุกอิรัก ซึ่งในเวลาต่อมากองทัพอิรักต้องเผชิญความปราชัย ภายในเวลาเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น ส่งผลให้ซัดดัมต้องหลบหนีการไล่ล่าได้เกือบ 9 เดือน
13 ธันวาคม 2003 ซัดดัม ฮุสเซน ถูกจับกุมโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาในขณะที่ซ่อนตัวอยู่ในหลุมขนาดเล็ก ในฟาร์มแห่งหนึ่งชานเมืองตีกรีต หลังจากที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศทำสงครามกับอิรักด้วยข้อกล่าวหาว่า ซัดดำมีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครองปกครองประเทศอย่างโหดเหี้ยม
หลังถูกจับ ซัดดัมขึ้นต่อสู้คดีในศาลพิเศษอิรักที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลชั่วคราวของอิรัก กระทั่งวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2004 ซัดดัมและสมาชิกระดับสูงของพรรคบะอัธอีก 11 คน ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความควบคุมของกองทัพสหรัฐฯ ได้ถูกส่งมอบทางอำนาจทางกฎหมายให้กับรัฐบาลชั่วคราวของอิรัก เพื่อนำตัวเข้ารับการไต่สวนในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ซัดดัม ฮุสเซน ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด และถูกตัดสินประหารชีวิตโดยการแขวนคอ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2006 ที่กรุงแบกแดด สถานีโทรทัศน์ของทางการอิรักถ่ายทอดภาพของอดีตผู้นำเผด็จการถูกนำตัวไปยังตะแลงแกงในช่วงก่อนรุ่งเช้าที่อาคารหลังหนึ่งซึ่งหน่วยข่าวกรองของเขาเคยใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตผู้คน ซัดดัมแสดงการขัดขืนครั้งสุดท้าย ด้วยการปฏิเสธการสวมผ้าคลุมศีรษะ
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้วสงครามครั้งนี้อเมริกาต้องการน้ำมันในตะวันออกกลาง ต้องการแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร และต้องการโฆษณาอาวุธรุ่นใหม่ เพราะหลังจากจับตัวซัดดัมได้แล้ว ก็ไม่พบอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงดังที่บุชกล่าวหาแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันหลังโค่นซัดดัมแม้อเมริกาได้พยายามเข้าไปจัดการเลือกตั้งและยัดเยียดประชาธิปไตยให้อีรัก แต่ก็ยังเกิดเหตุระเบิดและลอบฆ่าอยู่ทุกวันจานถึงทุกวันนี้ ในสายตาชาวโลกจำนวนไม่น้อยมองว่า หากอเมริกาไม่เข้าไปก้าวก่าย อิรักอาจไม่ต้องพบชะตากรรมดังที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงเวลาที่อเมริกาบุกอิรัก เป็นเหตุให้มีชาวอิรักเสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคน