ไม่ใช่แค่ยุงตัวเมีย ! “ยุงตัวผู้” อาจดูดเลือดในสมัยโบราณ


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

7 ธ.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ไม่ใช่แค่ยุงตัวเมีย ! “ยุงตัวผู้” อาจดูดเลือดในสมัยโบราณ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/560

ไม่ใช่แค่ยุงตัวเมีย ! “ยุงตัวผู้” อาจดูดเลือดในสมัยโบราณ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติระบุว่า ฟอสซิลที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 130 ล้านปี บ่งชี้ว่า “ยุงตัวผู้” น่าจะดูดเลือดกินเป็นอาหารในสมัยโบราณ

ปัจจุบันมีเพียงยุงตัวเมียเท่านั้นที่กินเลือดเป็นอาหาร โดยใช้ส่วนปากที่มีลักษณะแบบเจาะดูดกินเลือดของมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการกินเลือดของแมลง (insect hematophagy) วิวัฒนาการมาจากส่วนปากแบบเจาะดูดซึ่งใช้สกัดของเหลวจากพืช ทว่าพบปัญหาในการศึกษาวิวัฒนาการนี้เนื่องจากขาดบันทึกฟอสซิลของแมลง

ส่วนปากแบบเจาะดูดของยุงตัวผู้ ภาพจาก : กล้องจุลทรรศน์แบบคอนโฟคอลชนิดที่ใช้เลเซอร์ในการสแกนจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน

คณะนักวิทยาศาสตร์จากจีน เลบานอน ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ พบว่าส่วนปากแบบเจาะดูดของยุงตัวผู้สองตัวที่มีร่างอยู่ในสภาพดี ในอำพันเลบานอนยุคครีเทเชียสตอนต้นจากเลบานอน มีกรามสามเหลี่ยมแหลมเป็นพิเศษและโครงสร้างยื่นยาว พร้อมด้วยเกล็ดที่มีลักษณะคล้ายฟันซี่เล็ก (denticles) ซึ่งบ่งชี้ว่าพวกมันดูดกินเลือด

การค้นพบใหม่ข้างต้นซึ่งเผยแพร่ออนไลน์ในวารสารเคอร์เรนต์ ไบโอโลจี (Current Biology) อาจส่งมอบหลักฐานชิ้นใหม่สำหรับการศึกษาวิวัฒนาการของยุง

ดานี อาซาร์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และมหาวิทยาลัยเลบานอน กล่าวว่า อำพันเลบานอน เป็นอำพันเก่าแก่ที่สุดซึ่งมีการปะปนทางชีวภาพอย่างเข้มข้น และเป็นวัสดุที่สำคัญมากเนื่องจาก การก่อตัวของมันเกิดขึ้นในสมัยเดียวกับจุดเริ่มต้นของการแผ่รังสีของพืชดอก ซึ่งตามมาด้วยวิวัฒนาการร่วมระหว่างแมลงผสมเกสรและพืชดอก

การค้นพบครั้งใหม่นี้ขยายขอบเขตการปรากฏขึ้นของตระกูลยุงไปจนถึงช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น ส่วนยุงตัวผู้ที่ดูดเลือด ชี้ให้เห็นว่าวิวัฒนาการของสัตว์กินเลือดมีความซับซ้อนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

อันเดร เนล ผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติในกรุงปารีส ระบุว่านักวิทยาศาสตร์กำลังจะศึกษา “ประโยชน์” ของลักษณะการกินเลือดในยุงตัวผู้โบราณ และสาเหตุที่มันหยุดดูดกินเลือดในเวลาต่อมา

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ภาพจาก : สถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เผยตัวอย่างฟอสซิลของยุงตัวผู้โบราณ และชิ้นส่วนอำพันที่ห่อหุ้มยุงตัวนี้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยุงตัวผู้ยุงตัวเมียยุงวิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด