เศรษฐกิจนอกระบบในเมียนมาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการค้าที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงการนำเข้าสินค้าต้องห้ามหรือสินค้าที่ควบคุม แม้บางสินค้าจะถูกกฎหมายในประเทศต้นทางก็ตาม เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง ผงชูรส รถยนต์จากไทย รวมถึงสินค้าเกษตรอย่างข้าวและหอมแดง ซึ่งมักถูกลักลอบเข้ามาผ่านพรมแดน เนื่องจากมีความต้องการสูงในหมู่ผู้บริโภคชาวเมียนมา
แม้ว่าสินค้าเหล่านี้จะผิดกฎหมายในเมียนมา แต่กลับเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน ส่งผลให้การค้าลักลอบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สินค้ากลุ่มนี้จึงไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการในรายการสินค้านำเข้าของเมียนมา แต่บางครั้งอาจบันทึกเป็นสินค้าส่งออกจากประเทศต้นทางแทน
ทั้งนี้การค้าระหว่างสองประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าผิดกฎหมาย มักไม่ปรากฏในเอกสารของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายการค้าชายแดนทั้งในไทยและเมียนมา ตามที่กรมศุลกากรและกระทรวงพาณิชย์ไทยระบุไว้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ บทบาทของระบบ Hundi ยังมีความสำคัญในเศรษฐกิจนอกระบบของเมียนมา โดย Hundi คือวิธีการโอนเงินแบบดั้งเดิมที่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากรัฐบาล ทั้งยังถูกใช้ในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้า ซึ่งการใช้อัตราแลกเปลี่ยนนอกระบบก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินทุนและสินค้าข้ามพรมแดนโดยไม่ต้องพึ่งพาระบบการเงินที่เป็นทางการ
เศรษฐกิจนอกระบบเหล่านี้เป็นผลมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากตลาดทางการ ควบคู่ไปกับความไม่เสถียรของระบบการเงินและกฎระเบียบภายในประเทศ
การควบคุมทางกฎหมาย
เศรษฐกิจนอกระบบของเมียนมา มีบทบาทสำคัญในกิจกรรมการค้าชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายหรือถูกควบคุม ทั้งนี้การค้าและการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินค้าดังกล่าว มักไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากรัฐ ส่งผลให้เกิดการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่มีเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าต้องห้าม เช่น ยาเสพติด เครื่องดื่มชูกำลัง หรือสินค้าที่ถูกห้ามจากประกาศทางราชการ
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออกของราชอาณาจักร เช่น พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับสินค้าต้องห้าม ซึ่งเป็นสินค้าที่กฎหมายกำหนดห้ามนำเข้าหรือส่งออกโดยเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย ตัวอย่างของสินค้าต้องห้ามได้แก่ :
-วัตถุลามก เช่น หนังสือ ภาพเขียน ภาพถ่าย หรือสื่อภาพยนตร์ที่ผิดศีลธรรม
-ยาเสพติด ที่มีผลเสียรุนแรงต่อสังคมและสุขภาพ
-สินค้าปลอมแปลง เช่น เงินตราปลอม เหรียญกษาปณ์ที่ถูกดัดแปลง หรือสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่เป็น "ของต้องกำกัด" ซึ่งต้องได้รับอนุญาตก่อนที่จะนำเข้า-ส่งออก รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาที่ต้องการใบอนุญาตเฉพาะ และการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านฉลากและการวิเคราะห์สารเคมี
ผลกระทบจากเศรษฐกิจนอกระบบ
การค้าผ่านเศรษฐกิจนอกระบบของเมียนมา ส่งผลกระทบต่อการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุน รวมถึงความสามารถในการควบคุมสินค้าเข้า-ออกตามกฎหมาย เนื่องจากการค้าสินค้าต้องห้ามเหล่านี้ ไม่ได้ถูกบันทึกหรือผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงภาษีและข้อบังคับต่างๆ ยังสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศและความมั่นคงของระบบการเงินอีกด้วย
บทลงโทษตามกฎหมาย ผู้ที่ลักลอบนำเข้าหรือส่งออกสินค้าต้องห้ามหรือของต้องกำกัดโดยไม่ได้รับอนุญาต จะต้องรับโทษตามมาตรา 244 และมาตรา 246 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 โดยโทษนี้รวมถึงการปรับเงินและอายัดสินค้าตามกฎหมาย
การชำระเงินตามแนวชายแดน : ความเสี่ยงต่อการฟอกเงินและเศรษฐกิจนอกระบบ
การทำธุรกรรมทางการเงินตามแนวชายแดน ยังคงเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและเสี่ยงต่อการฟอกเงิน โดยเฉพาะในเขตชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการจับกุมและยึดทรัพย์ จากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย
สถิติการยึดทรัพย์สินในพื้นชายแดนบ่งชี้ว่า ธุรกรรมหลายกรณีเข้าข่ายการฟอกเงินตามกฎหมายของไทยที่กำหนดให้เป็นความผิดใน 28 ประเภทหลัก แม้ว่าการค้ามักถูกเชื่อมโยงกับธุรกิจที่ถูกกฎหมาย แต่เส้นทางการเงินของธุรกิจผิดกฎหมายมักแฝงตัวเข้ามาในระบบเศรษฐกิจนอกระบบ
ไม่ว่าจะเป็นการค้ายาเสพติด การลักลอบขนสินค้าต้องห้าม หรือการทำธุรกรรมผ่านระบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น การโอนเงินแบบ hundi ที่ยังคงได้รับความนิยมในเมียนมา เนื่องจากเป็นทางเลือกเดียวสำหรับประชากรในหลายพื้นที่ และถูกใช้ทั้งในกิจกรรมที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการฟอกเงินจากการค้ายาเสพติด
เศรษฐกิจนอกระบบ : ความเปราะบางและการเชื่อมโยงกับอาชญากรรมข้ามชาติ
เศรษฐกิจนอกระบบในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เป็นรูปแบบของเศรษฐกิจไฮบริด ที่ผสมผสานระหว่างการค้าทางการถูกต้องและนอกระบบ ซึ่งแตกต่างจาก "เศรษฐกิจใต้ดิน" (underground economy) ที่เน้นเฉพาะกิจกรรมผิดกฎหมายเท่านั้น
ภายในระบบนิเวศน์ทางการค้าชายแดน สินค้าที่ผิดกฎหมายมักแฝงตัวอยู่ในกระแสการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบขนยาเสพติด การค้าอาวุธ การขุดหยกอย่างผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการค้ามนุษย์
ตามรายงานของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พบว่าการค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ (ไทย-เมียนมา-จีน) ยังคงเติบโตแม้ในช่วงการระบาดโควิด-19 และเศรษฐกิจยาเสพติดได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความขัดแย้งในเมียนมา ทำให้การสถาปนาสันติภาพในภูมิภาคนี้มีความท้าทายสูง
การข้ามพรมแดนของธุรกิจผิดกฎหมายและความเชื่อมโยงของการคอร์รัปชัน
การศึกษาในภูมิภาคเอเชียพบว่า การเคลื่อนย้ายของเงินนอกระบบในภูมิภาคนี้ เชื่อมโยงกับการคอร์รัปชันและอาชญากรรมข้ามชาติอย่างชัดเจน การฟอกเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายมักได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริต และกลุ่มอาชญากรรมที่มีอิทธิพลสูง แต่การจับกุมและการฟ้องร้องคดีในเมียนมายังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับความกว้างขวางของปัญหาที่เกิดขึ้น
เศรษฐกิจนอกระบบในพื้นที่ชายแดนนี้ เป็นหนึ่งในความท้าทายครั้งใหญ่ที่รัฐในพื้นที่ต้องเผชิญ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อตัดวงจรการฟอกเงินและการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
ผู้เขียน - รศ.นิสิต พันธมิตร ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง - วีรภัทร ยาตรา ผู้สื่อข่าว ไทยพีบีเอส