ครบรอบ 28 ปี (7 ธันวาคม 1995) การเดินทางถึงดาวพฤหัสบดีของ “ยานกาลิเลโอ” ปัจจุบันแม้ “กาลิเลโอ” จะถูกปลดประจำการและถูกบังคับให้พุ่งชนดาวพฤหัสบดีไปแล้ว แต่ในปี 2023 นี้ ข้อมูลที่บันทึกไว้ ยังคงสร้างเสริมความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับดาวพฤหัสบดีอยู่เรื่อย ๆ
18 ตุลาคมปี 1989 กระสวยอวกาศแอตแลนติสได้นำ “ยานอวกาศกาลิเลโอ” บินขึ้นจากฐานปล่อยในส่วนบรรทุกของตัวกระสวย ก่อนที่จะปล่อยออกมา แล้วให้ตัวยานได้ใช้เครื่องยนต์ IUS (Inertial Upper Stage) ในการช่วยเหวี่ยงตัวยานออกจากวงโคจรของโลกเดินทางไปยังดาวพฤหัสบดี โดยตัวยานใช้ระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 6 ปี และในปี 1994 ระหว่างที่กาลิเลโอเดินทางถึงดาวพฤหัสบดี มันยังได้บันทึกภาพการพุ่งชนของดาวหาง Shoemaker-Levy 9 กับดาวพฤหัสฯ ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจของมนุษยชาติต่อกรณีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในโลกจากการพุ่งชนของอุกกาบาตอีกด้วย ก่อนที่จะเดินทางถึงดาวพฤหัสบดีในวันที่ 7 ธันวาคม 1995
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของยานที่เป็นที่ถูกพูดถึงมากได้แก่ การที่ตัวยานไม่สามารถกางเสาอากาศกำลังส่งสูงของตัวยานได้ (High-Gain Antenna) ทำให้ข้อมูลทั้งหมดต้องถูกส่งผ่านเสาอากาศกำลังต่ำ (Low-Gain Antenna) ที่ทำให้การส่งข้อมูลช้ากว่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตามข้อมูลต่าง ๆ ได้ถูกส่งมาอย่างครบถ้วน และไม่เป็นปัญหาในภารกิจหลัก
ตัวยานใช้เวลากว่า 8 ปีในการศึกษาดาวพฤหัสบดีผ่านอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ตัวตรวจวัดสนามแม่เหล็ก (Magnetometer) อุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัม (Spectrometer) และกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงที่สุดที่เคยถูกใช้ในการบันทึกภาพระยะใกล้ของดาวพฤหัสบดี ณ ตอนนั้น และนับได้ว่ากาลิเลโอเป็นยานอวกาศลำแรกที่ได้โคจรรอบดาวพฤหัสบดี จนกระทั่งปี 2003 นาซาก็ได้ตัดสินใจให้ยานกาลิเลโอเข้าสู่ช่วงจบสิ้นภารกิจ (End of Mission) และบังคับให้ตัวยานพุ่งชนดาวพฤหัสบดี เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยานที่เสียการควบคุมไปพุ่งชนดวงจันทร์บริวารยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ซึ่งในอนาคตจะมีการส่งยานอวกาศไปสำรวจ
แม้ยานอวกาศกาลิเลโอจะกลายเป็นเศษเหล็กในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสดีไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2003 แต่แม้เวลาจะผ่านมา 20 ปีจากวันสุดท้ายที่เราได้รับสัญญาณจากกาลิเลโอ นักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ ยังคงทำวิจัยจากข้อมูลที่กาลิเลโอได้ทิ้งไว้ และได้สร้างการค้นพบใหม่ ๆ อีกเรื่อย ๆ มากมาย
ตัวอย่างเช่น ในปี 2018 นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาข้อมูลจากยานกาลิเลโอ และได้ค้นพบหลักฐานของการมีน้ำพุอยู่บนดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี โดยอาศัยการเปรียบเทียบข้อมูลกับยานแคสสินี ที่ถูกส่งไปสำรวจดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์จากการบินโฉบในระยะใกล้ปี 2004 จนได้ค้นพบน้ำพุบนดวงจันทร์เอ็นเซลาดัสของดาวเสาร์นั่นเอง ซึ่งสาเหตุที่ไม่ได้มีการค้นพบน้ำพุมาก่อนหน้านี้ก็เพราะว่า กาลิเลโอนั้นไม่ได้บินโฉบดวงจันทร์ไททันในระยะใกล้พอ จึงต้องอาศัยการนำข้อมูลที่ไม่ชัดเจน มาเปรียบเทียบข้อมูลของแคสสินี ซึ่งสามารถทำให้นักดาราศาสตร์สรุปได้ว่า บนยูโรปาก็มีน้ำพุเช่นกัน
และด้วยข้อมูลที่ถูกส่งมาจากยานกาลิเลโอ ได้รับการประมวลผลด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น ทำให้ในปัจจุบันเราก็ยังวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกาลิเลโออยู่ โดยเฉพาะเมื่อนาซา มีแผนจะส่งยานยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Clipper) ไปสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดีในช่วงทศวรรษที่ 2030 ก็ยิ่งทำให้การศึกษาข้อมูลเดิมจากกาลิเลโอมีคุณค่ามากขึ้น และนำไปสู่การตั้งโจทย์การศึกษาของยูโรปาคลิปเปอร์ด้วย
สำหรับการศึกษาอวกาศ การศึกษาข้อมูลในอดีตนั้นเป็นเรื่องที่ปกติและพบเห็นได้บ่อย เนื่องจากยานอวกาศได้เก็บข้อมูลจำนวนมากในรอบการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การบินโฉบ การถ่ายภาพ หรือการสังเกตการณ์ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ช่วงที่ดวงอาทิตย์มีการปะทุอนุภาคพลังงานสูงออกมา ที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์บนดาวที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกิจกรรมทางสนามแม่เหล็ก
ดังนั้น แม้เวลาจะผ่านมาทั้งหมด 28 ปีเต็มนับตั้งแต่กาลิเลโอเดินทางถึงดาวพฤหัสบดี และตัวยานเองก็ได้ถูกทำลายไปในปี 2003 แต่มรดกจากยานก็ยังคงถูกส่งต่อมาจนถึงเราในปัจจุบัน และยังคงสร้างการค้นพบใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ได้นั่นเอง
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech