เบนาซีร์ บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน เธอคือ "หญิงแกร่ง" ที่เดินตามรอยบิดาของเธอในการลงสมัครทางการเมือง แม้จุดเริ่มต้นของทั้งสองคนจะแตกต่างกัน แต่จุดจบในตอนท้ายที่ทั้งคู่ต้องเผชิญคือ การแลกมาด้วยชีวิต เพราะบิดาของเธอถูกตัดสินประหารชีวิต ขณะที่เธอก็ถูกมือระเบิดพลีชีพลอบสังหาร ในวันที่ 27 ธันวาคม 2550 นอกจากนี้น้องชายของเธอทั้งสองคนก็เสียชีวิตจากเหตุความรุนแรง
เบนาซีร์ บุตโต เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2496 เธอเป็นบุตรของ นายซัลฟิการ์ อาลี บุตโต อดีตประธานาธิบดีของปากีสถานในช่วงปี 2514 – 2516 และนายกรัฐมนตรีของปากีสถานระหว่างปี 2516 – 2519 พ่อของเธอเป็นผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan’ s People’ s Party – PPP)
เติบโตขึ้นมาในครอบครัวชนชั้นนำของประเทศเหมือนเช่นเดียวกับ อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีหญิงของอินเดีย เพราะบิดาของเธอเป็นนายกรัฐมนตรีของปากีสถานตั้งแต่ปี 2513
โดยรัฐบาลของนายซาฟิการ์ เป็นรัฐบาลแรกในรอบ 30 ปีของปากีสถานหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ที่ไม่ได้ปกครองโดยทหาร แต่สุดท้ายบิดาของเธอก็ถูกรัฐประหารและถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2522 ขณะที่ เบนาซีร์ ถูกจำคุกเป็นเวลา 5 ปี หลังจากที่เธอถูกปล่อยตัว เธอก็ก้าวเข้าสู่วงการการเมือง
16 พฤศจิกายน 2531 นางเบนาซีร์ บุตโต ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศปากีสถาน ในขณะมีอายุเพียง 35 ปี และนับเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของโลกมุสลิม ความนิยมในตัวเธอขณะนั้น ทำให้สื่อหลายสำนักยกย่องเธอ ให้เธอเป็นหนึ่งในผู้นำหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุด
ความสดใหม่ในวงการการเมืองของเธอและความที่เธอเป็นผู้หญิง ได้ทำให้การเมืองของปากีสถานในช่วงนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ในเดือนสิงหาคม ปี 2533 เธอถูกประธานาธิบดี อิสซัค ข่าน ปลดออกจากตำแหน่ง จากข้อหาทุจริตและล้มเหลวในการบริหารประเทศ
ต่อมาได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นสมัยที่ 2 ในเดือนตุลาคมปี 2536 แต่บริหารประเทศได้เพียง 3 ปี ก็ถูกประธานาธิบดี ฟารุค เลฆารี ปลดออกจากตำแหน่ง ด้านสามีของเธอต้องติดคุก 8 ปี ข้อหาทุจิต ค้ายาเสพติด ฯลฯ
เนื่องจากหลังเธอได้รับการเลือกตั้งเข้าไปนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 กระแสเกี่ยวกับการคอร์รัปชันและไม่สามารถบริหารจัดการได้ดีพอ ก็ทำให้เธอถูกตรวจสอบอย่างหนัก ซึ่งเบนาซีร์ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมย้ำว่าเป็นความพยายามกลั่นแกล้งจากฝ่ายตรงข้าม โดยข้อกล่าวหาทั้งหมด จนปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเธอผิดจริงหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบเทปเสียงที่ถูกบันทึกไว้ ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นดีที่พิสูจน์ว่า กระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศปากีสถานขาดความโปร่งใส่ เนื่องจากศาลถูกกดดันให้ตั้งข้อกล่าวหาเบนาซีร์
ในปี 2542 เธอได้อพยพครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่ดูไบ โดยรับหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และให้คำปรึกษากับรัฐบาลในแต่ละประเทศ ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศปากีสถานอีกครั้งในปี 2550
หลังลี้ภัยในต่างประเทศถึง 8 ปี ในวันที่ 18 ตุลาคม 2550 เมื่อเดินทางกลับมาปากีสถานเพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในสมัยที่ 3 เธอได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ที่สนับสนุนพรรคประชาชนปากีสถาน (PPP) ที่เธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่การรณรงค์หาเสียงจบลงด้วยเหตุระเบิดโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น139 คนและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ในครั้งนั้นเธอไม่ได้รับบาดเจ็บ
27 ธันวาคม 2550 เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นระหว่างการเดินสายหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในเมืองราวัลปินดี เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 เบนาซีร์ถูกลอบสังหาร โดยถูกมือปืนลอบยิงและใช้ระเบิดพลีชีพ เธอถูกยิงเข้าที่ลำคอทำให้เสียชีวิต ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ออกมาอ้างความรับผิดชอบ ในขณะที่หลายฝ่ายสงสัยว่าอาจเป็นฝีมือของกลุ่มตาลีบันปากีสถาน หรือหน่วยข่าวกรองที่รับคำสั่งจากผู้ที่ไม่ต้องการให้เธอคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง
หลังการเสียชีวิตของเบนาซีร์ พรรคประชาชนปากีสถาน ที่เธอเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย ทางพรรคได้เลือกนายอาชีฟ อาลี ซาร์ดารี สามีของเธอเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่นายซาร์ดารีปฏิเสธ และเสนอให้นายบิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี บุตรชายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งแทน