เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ชื่อเดือนทั้ง 12 เดือนนี้ มาจากอะไร ใครเป็นคนคิดขึ้นมา และมีความหมายว่าอย่างไร ?
ที่มาการตั้งชื่อเดือนทั้ง 12 เดือนของไทย
แรกเริ่มเดิมทีนั้น ได้แนวคิดมาจากทางยุโรป โดยใช้การนับเดือนจาก “สุริยคติ” ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายความหมายไว้ว่า “วิธีนับวันอย่างปัจจุบันโดยถือกำหนดองศาดวงอาทิตย์เป็นหลักคู่กับจันทรคติ” ่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ใช้แบบ “ทับศัพท์” เช่น เดือนเดเซมเบอร์ (December) เดือนเอปลิน (April) เดือนยุไล (July) เดือนเม (May) เป็นต้น เรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อนปี พ.ศ. 2432 หลังจากนั้น ก็มีพระบรมราชโองการประกาศให้วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 108 หรือ พ.ศ. 2432 ให้เป็น “วันขึ้นปีใหม่ของไทย” แทนวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่เดิม
ส่วนผู้ที่คิดชื่อเดือนแทนการทับศัพท์นั้น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงมีความสนพระทัยในเรื่องโหราศาสตร์ จึงคิดปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติ โดยนับวันและเดือนแบบสากล เรียกว่า “เทวะประติทิน” ซึ่งเป็นต้นแบบของปฏิทินในปัจจุบัน ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และโปรดให้ใช้เป็นประเพณีของบ้านเมืองแต่ พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา
สำหรับแนวคิด “ชื่อเดือน” ทรงเอาชื่อราศีของกลุ่มดาวที่ดวงอาทิตย์โคจรมาถึงทั้งหมด 12 ราศี รวมเป็น 1 ปี โดยใช้ศัพท์สันสกฤตเป็นหลัก และแบ่งชื่อเรียกเดือนที่มี 30 วัน และ 31 วัน ด้วยการใช้คำนำหน้าจากชื่อราศีกับคำว่า “อาคม” และ “อายน” ที่แปลว่า การมาถึง ซึ่งความหมายโดยรวมจะหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีต่าง ๆ ในแต่ละเดือน นั่นเอง
ความหมายของชื่อเดือนมกราคม
การอ่านชื่อเดือน "มกราคม" ควรอ่านว่าอย่างไร ? สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ยืนยันว่า สามารถอ่านได้ทั้ง 2 แบบ คือ "มะ-กะ-รา-คม" หรือ "มก-กะ-รา-คม"
สำหรับความหมายของชื่อเดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนที่ 1 ตามสุริยคติ มี 31 วัน มาจากคำว่า "มกร" หมายถึง ราศีมกร ซึ่งเป็นราศีที่ 10 ในจักรราศี สนธิกับคำว่า "อาคม" แปลว่า มา รวมกันเป็น "มกราคม" หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีมกร
ความหมายของชื่อเดือนกุมภาพันธ์
เดือน “กุมภาพันธ์” เป็นเดือนที่ 2 ตามสุริยคติ โดยปีปกติมี 28 วัน ในทุก 4 ปี เดือนกุมภาพันธ์จะมีวันเพิ่มอีก 1 วัน เป็น 29 วัน สำหรับคำว่า "กุมภาพันธ์" มาจากคำว่า “กุมฺภ” หมายถึง ราศีกุมภ์ซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปหม้อ เป็นราศีที่ 11 ในจักรราศี สนธิกับ “อาพนฺธ” แปลว่า การผูก รวมกันเป็น “กุมภาพันธ์” หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีกุมภ์
ความหมายของชื่อเดือนมีนาคม
เดือน "มีนาคม" เป็นชื่อเดือนที่ 3 ตามสุริยคติ มี 31 วัน คำว่า "มีนาคม" มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต 2 คำมาสนธิกัน คือ “มีน” หมายถึง ราศีมีนซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปปลา เป็นราศีที่ 12 ในจักรราศี สนธิกับ “อาคม” แปลว่า มา รวมกันเป็น “มีนาคม” หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีมีน
ความหมายของชื่อเดือนเมษายน
เดือน "เมษายน" เป็นชื่อเดือนที่ 4 ตามสุริยคติ มี 30 วัน คำว่า "เมษายน" มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต 2 คำมาสนธิกัน คือ “เมษ” หมายถึง ราศีเมษซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปแกะในจักรราศี สนธิกับ “อายน” แปลว่า การมาถึง เป็น “เมษายน” หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีเมษ
ความหมายของชื่อเดือนพฤษภาคม
เดือน "พฤษภาคม" เป็นชื่อเดือนที่ 5 ตามสุริยคติ มี 31 วัน คำว่า "พฤษภาคม" มาจากคำบาลีสันสกฤต 2 คำ มาสนธิกัน คือ “วฤษฺภ” หมายถึง ราศีพฤษภ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปวัวในจักรราศี สนธิกับ “อาคม” แปลว่า การมา คำว่า “พฤษภาคม” จึงหมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีพฤษภ
ความหมายของชื่อเดือนมิถุนายน
เดือน "มิถุนายน" เป็นชื่อเดือนที่ 6 ตามสุริยคติ มี 30 วัน คำว่า "มิถุนายน" มาจากคำบาลีสันสกฤต 2 คำ มาสนธิกัน คือ “มิถุน” หมายถึง ราศีมิถุน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปคนคู่ในจักรราศี สนธิกับ “อายน” แปลว่า การมาถึง คำว่า “มิถุนายน” จึงหมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีมิถุน
ความหมายของชื่อเดือนกรกฎาคม
การอ่านชื่อเดือน "กรกฎาคม" ควรอ่านว่าอย่างไร ? สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ยืนยันว่า สามารถอ่านได้ทั้ง 2 แบบ คือ"กะ-ระ-กะ-ดา-คม" หรือ "กะ-รัก-กะ-ดา-คม" แต่ไม่ใช่ “กะ-ดั๊ก-กะ-ดา-คม”
สำหรับความหมายของชื่อเดือน "กรกฎาคม" นั้น เป็นชื่อของเดือนที่ 7 ตามสุริยคติ มี 31 วัน คำว่า "กรกฎาคม" มาจากคำว่า “กรกฎ” (อ่านว่า กอ-ระ-กด) เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า "ปู" ใช้เรียกกลุ่มดาวรูปปู สนธิกับคำว่า “อาคม” แปลว่า การมาถึง ดังนั้น “กรกฎาคม” จึงหมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีกรกฎ
ความหมายของชื่อเดือนสิงหาคม
“สิงหาคม” เป็นชื่อเดือนที่ 8 ตามสุริยคติ มี 31 วัน คำว่า "สิงหาคม" มาจากคำสันสกฤต 2 คำ มาสนธิกัน คือ “สิํห” หมายถึง ราศีสิงห์ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปสิงห์ในจักรราศี สนธิกับ “อาคม” แปลว่า “มา” ดังนั้น คำว่า “สิงหาคม” หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีสิงห
รู้หรือไม่ ? เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เป็นวันสำคัญของประเทศไทย โดย “อำเภอพะเยา” ที่อยู่ในอํานาจการปกครองของ "จังหวัดเชียงราย" ได้ถูกยกฐานะเป็น “จังหวัดพะเยา” ซึ่งเป็น “จังหวัดที่ 72” ของประเทศไทย
ความหมายของชื่อเดือนกันยายน
“กันยายน” เป็นชื่อเดือนที่ 9 ตามสุริยะคติ มี 30 วัน คำว่า "กันยายน" มาจากคำว่า “กันย” หมายถึง สาวพรหมจารี และเป็นกลุ่มดาวรูปหญิงสาวในจักรราศี สนธิกับ “อายน” แปลว่า การมาถึง คำว่า “กันยายน” หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีกันย์
รู้หรือไม่ ? เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2518 "ค็อต ข่าวราชการ" (COURT) หนังสือพิมพ์รายงานข่าวของทางราชการ และหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของคนไทย ออกเป็นฉบับปฐมฤกษ์ โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นองค์บรรณาธิการ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ข่าวราชการ ในปี 2419
ความหมายของชื่อเดือนตุลาคม
"ตุลาคม" มาจากคำบาลีสันสกฤต 2 คำ มาสนธิกัน คือ “ตุลา” หมายถึง ราศีตุล ซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปคันชั่งในจักรราศี สนธิกับ “อาคม” แปลว่า การมาถึง รวมกันเป็น “ตุลาคม” หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีตุล
รู้หรือไม่ ? คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ให้เป็น “วันนวมินทรมหาราช” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ความหมายของชื่อเดือนพฤศจิกายน
"พฤศจิกายน" มาจากคำสันสกฤต 2 คำ มาสนธิกัน คือ “วฤศฺจิก” หมายถึง ราศีพฤศจิกซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปแมงป่องในจักรราศี สนธิกับ “อายน” แปลว่า การมาถึง เป็น “พฤศจิกายน” หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีพฤศจิก
รู้หรือไม่ ? วันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 ถูกกำหนดให้เป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" เพื่อตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทรงพบว่าราษฎรกำลังประสบความเดือดร้อนด้วยปัญหาพืชผลทางการเกษตรเสียหาย จากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม ทำให้ทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎร อันเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน
ความหมายของชื่อเดือนธันวาคม
"ธันวาคม" มาจากคำสันสกฤต 2 คำ มาสนธิกัน คือ “ธนุ” หมายถึง ราศีธนู ซึ่งเป็นกลุ่มดาวคนยิงธนูในจักรราศี สนธิกับคำว่า “อาคม” แปลว่า การมาถึง รวมกันเป็นคำว่า “ธันวาคม” หมายถึง เดือนที่ดวงอาทิตย์มาสู่ราศีธนู
รู้หรือไม่ ? นับตั้งแต่ปี 2503 ประเทศไทยได้กำหนดให้ วันที่ 5 ธันวาคม วันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น "วันชาติ" แทนวันที่ 24 มิถุนายน
ข้อมูลจาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา , ชื่อเดือนของไทย โดยประพัฒน์ ตรีณรงค์