เมื่อไม่นานนี้ คณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลจงซานในเครือมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน ได้เปิดเผยกลไกใหม่ที่ทำให้การรับประทานอาหารที่เลียนแบบการอดอาหาร (Fasting-Mimicking Diet - FMD) ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านเนื้องอก
การรับประทานอาหารที่เลียนแบบการอดอาหารคือการรับประทานอาหารแคลอรีต่ำในระยะสั้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อเลียนแบบผลของการอดอาหารโดยยังสามารถรับประทานอาหารในปริมาณจำกัดได้ วิธีนี้มุ่งกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญ ส่งเสริมการซ่อมแซมเซลล์ ลดอาการอักเสบ และอาจให้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น สุขภาพระบบเผาผลาญดีขึ้นและมีอายุยืนขึ้น โดยไม่ต้องอดอาหารเต็มรูปแบบ
บทความวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารกัต (Gut) ระบุว่าคณะนักวิจัยพบการรับประทานอาหารที่เลียนแบบการอดอาหารสามารถเพิ่มจำนวนแบคทีเรียบี.ซูโดลองกัม (B. pseudolongum) ซึ่งกระตุ้นการสร้างเซลล์ความจำซีดี8+ที (CD8+T cells) ส่งผลให้สามารถยับยั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ผลการศึกษานี้ไม่เพียงยืนยันว่าการรับประทานอาหารที่เลียนแบบการอดอาหารมีผลต้านเนื้องอกผ่านการปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังแสดงกลไกใหม่ที่การเผาผลาญจุลินทรีย์ควบคุมการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน
การค้นพบใหม่นี้เป็นรากฐานทางทฤษฎีสำหรับการประยุกต์ใช้การรับประทานอาหารที่เลียนแบบการอดอาหารในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และมอบข้อมูลเชิงลึกแก่การช่วยเหลือดูแลด้านโภชนาการในช่วงก่อนและหลังการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
ทั้งนี้ อัตราการอุบัติและเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นเนื้องอกร้ายที่มีความชุกสูงทั่วโลก ยังคงเพิ่มขึ้นในจีน โดยจำนวนผู้ป่วยในประเทศคิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua, english.news
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech