ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนู พบสารอินทรีย์องค์ประกอบชีวิตกว่า 10,000 ชนิด


Logo Thai PBS
แชร์

ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนู พบสารอินทรีย์องค์ประกอบชีวิตกว่า 10,000 ชนิด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2301

ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนู พบสารอินทรีย์องค์ประกอบชีวิตกว่า 10,000 ชนิด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ตัวอย่างดินและหินของดาวเคราะห์น้อยเบนนูจากภารกิจ OSIRIS-REx ได้ถูกส่งกลับมาวิเคราะห์ที่และพบว่าตัวอย่างเหล่านี้มีสารอินทรีย์ที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบมากกว่า 10,000 ชนิด ซึ่งอาจเป็นหลักฐานสำคัญสนับสนุนทฤษฎีการกำเนิดชีวิตบนโลก

แม้การค้นพบนี้จะไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีชีวิตบนดาวเคราะห์น้อยเบนนูหรือชีวิตบนโลกเกิดจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู แต่แสดงให้เห็นว่าระบบสุริยะของเราในยุคเริ่มต้นมีสภาวะที่เอื้อต่อการกำเนิดชีวิตและอาจจะเอื้อต่อการกำเนิดชีวิตบนดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ดวงอื่น ๆ

ภาพนักวิจัยถือหลอดเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูเพื่อนำไปใช้ประกอบการวิจัย

หนึ่งในผลการวิเคราะห์ที่น่าสนใจคือ การตรวจพบกรดอะมิโน 14 ชนิดจาก 20 ชนิดที่กรดอะมิโนพื้นฐานของการสังเคราะห์โปรตีนของสิ่งมีชีวิตบนโลก นิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) ทั้ง 5 ชนิดที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ และยังพบแอมโมเนียในปริมาณสูง ซึ่งแอมโมเนียสามารถทำปฏิกิริยากับฟอร์มาลดีไฮด์ที่พบในตัวอย่าง สร้างสังเคราะห์เป็นกรดอะมิโนเพิ่มเติมได้อีก หากตัวอย่างอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม

การตรวจพบสิ่งเหล่านี้จากตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยเบนนูสนับสนุนแนวคิดที่ว่า วัตถุที่ก่อตัวห่างไกลจากดวงอาทิตย์อาจเป็นแหล่งสำคัญของสารตั้งต้นของชีวิตในระบบสุริยะ อันเนื่องมาจากดาวเคราะห์น้อยประเภท B อย่างเบนนูอาจมีวิวัฒนาการที่บริเวณขอบของเมฆโมเลกุลที่ไกลจากดวงอาทิตย์ หรือดิสก์กำเนิดดาวเคราะห์ชั้นนอก (Outer Protoplanetary Disk) ซึ่งอุดมไปด้วยคาร์บอน น้ำแข็งแอมโมเนีย และสารประกอบไนโตรเจน ซึ่งอาจเคยมีน้ำที่เป็นของเหลวในดาวเคราะห์น้อยเบนนูจนก่อให้เกิดการสังเคราะห์โมเลกุลของกรดอะมิโนพื้นฐานขึ้นมาได้

ภาพตัวอย่างดินที่มาจากช่องเก็บตัวอย่างของยาน OSIRIS-REx ที่ถูกนำมาประกอบการวิเคราะห์

หนึ่งในการสนับสนุนทฤษฎีการเคยมีอยู่ของน้ำที่เป็นรูปแบบของเหลวในเบนนูคือการค้นพบตะกอนเกลือที่หลงเหลืออยู่บนตัวอย่างที่เก็บมาถึง 11 ชนิด ซึ่งตะกอนเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเกลือเหล่านี้ละลายในน้ำและน้ำเหล่านี้ต้องค่อย ๆ ระเหยออกไปโดยกินระยะเวลาที่นาน กระบวนการที่ว่ามานี้อาจจะกินระยะเวลานานหลายพันปีกว่าที่น้ำจะระเหยไปจนหมดและทิ้งตะกอนของผลึกเหล่านี้ไว้

และจากการศึกษาเปรียบเทียบกับตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยริวกุ (Ryugu) ที่ได้มาจากภารกิจ Hayabusa 2 ของ JAXA ก็พบว่าองค์ประกอบและอัตราส่วนของสารประกอบทางเคมีต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน ยิ่งสนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของดาวเคราะห์น้อยกลุ่ม B นั้นแตกต่างจากกลุ่ม C อย่างชัดเจน

ภาพของตัวอย่างที่ถูกบรรจุอยู่ในแคปซูลปิดผนึกของยาน OSIRIS-REx

แม้ว่าข้อมูลจาก OSIRIS-REx จะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีที่เกิดขึ้นในยุคแรกเริ่มของระบบสุริยะ แต่ก็ยังมีปริศนาที่ยังไม่ได้รับคำตอบอีกมาก เช่น เหตุใดชีวิตบนโลกถึงเลือกใช้กรดอะมิโนแบบ “ซ้ายมือ” แทนที่จะเป็นแบบ “ขวามือ” ทั้งที่ตัวอย่างจาก Bennu พบว่ามีสัดส่วนที่เท่ากัน

ตัวอย่างที่เก็บได้จากเบนนูในภารกิจ OSIRIS-REx นับว่าเป็นการเก็บตัวอย่างกลับมายังโลกในปริมาณที่มากที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่สิ้นสุดโครงการอะพอลโล และสภาพของยาน OSIRIS-REx ที่มีสภาพดีเยี่ยมรวมไปถึงเชื้อเพลิงที่เหลือมากเพียงพอทำให้ NASA ตัดสินใจต่ออายุของภารกิจ OSIRIS-REx ออกไปเพื่อทำการสำรวจดาวเคราะห์น้อย Apophis ดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสสูงอย่างยิ่งที่จะพุ่งชนโลก เพื่อทำการศึกษาโครงสร้างของดาวเคราะห์น้อย และตั้งชื่อภารกิจใหม่นี้ว่า OSIRIS-APEX

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวเคราะห์น้อยเบนนูตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูเบนนูBennuOSIRIS-RExNASAนาซาองค์การนาซาสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด