ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไม่ใช่แค่อาหารพะยูน “หญ้าทะเล” แหล่งกักเก็บ “บลูคาร์บอน” ลดโลกเดือด


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

6 ก.พ. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ไม่ใช่แค่อาหารพะยูน “หญ้าทะเล” แหล่งกักเก็บ “บลูคาร์บอน” ลดโลกเดือด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2287

ไม่ใช่แค่อาหารพะยูน “หญ้าทะเล” แหล่งกักเก็บ “บลูคาร์บอน” ลดโลกเดือด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

รู้ไหม ? “หญ้าทะเล” ไม่เป็นเพียงแค่อาหารของพะยูนเท่านั้น แต่ยังเป็น “แหล่งกักเก็บคาร์บอน” ตามธรรมชาติ ที่เรียกว่า “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) หรือคาร์บอนสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นคาร์บอนในระบบนิเวศทางทะเล ช่วยลดโลกเดือด ประสิทธิภาพสูงกว่าป่าไม้ ทราบอย่างนี้แล้ว เรามาช่วยกันอนุรักษ์ - ฟื้นฟู “หญ้าทะเล” กันเถอะ

ด้วยสถานการณ์ภัยพิบัติและปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วนที่ไม่อาจละเลยได้ ทุกคนจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้

ร่วมมือกันและลงมือช่วยกันลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างจริงจัง การลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การลดการเผาไหม้ การใช้รถยนต์เท่าที่จำเป็น การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศหรือการกักเก็บคาร์บอนทั้งในต้นไม้ พื้นดิน และมหาสมุทรในวิธีต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังมี “แหล่งกักเก็บคาร์บอน” ตามธรรมชาติ ที่เรียกว่า “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) หรือคาร์บอนสีน้ำเงิน โดยเป็นคาร์บอนในระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพและปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยปกป้องโลกและอนาคตของเรา

พะยูนกำลังกินหญ้าทะเล ภาพจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ระบบนิเวศ “หญ้าทะเล” กับเรื่องน่ารู้

สำหรับ “ระบบนิเวศหญ้าทะเล” จะประกอบด้วยกลุ่มของพืชดอกที่ปรับตัวเติบโตอยู่ได้ในทะเล สามารถเจริญได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง โครงสร้างของใบที่ซับซ้อนมีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ ตลอดจนเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลา กุ้ง ปู หอยหลายชนิด และยังมีส่วนช่วยในการกรอง – ปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยเพราะ “หญ้าทะเล” มีระบบรากที่คอยยึดจับ เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

นอกจากนี้สามารถพบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ อย่างเช่น เต่าทะเลบางชนิด และพะยูน ได้ในพื้นที่ “หญ้าทะเล” บางแห่ง โดยสัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้จะ “กินหญ้าทะเล” เป็นอาหารโดยตรง รวมถึงยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจจากการทำประมงในแหล่งหญ้า เช่น การรวบรวมลูกปลาเก๋าเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อในกระชัง การทำประมงอื่น ๆ เช่น อวนจมปู แร้วปู และลอบ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่มักตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล แหล่งหญ้าทะเลจึงเป็นระบบนิเวศแรก ๆ ที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บนแผ่นดิน ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและจากมนุษย์ เช่น การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่าง ๆ ทั้งเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ กุ้งทะเล ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น

การสำรวจชนิดหญ้าทะเลเกาะกระดาด จ.ตราด ปี 2563 ภาพจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

“หญ้าทะเล” ทำไมเป็น “Blue Carbon” แหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูง

จากการผู้นำทั่วโลกได้แสดงความมุ่งมั่นเกี่ยวกับการหยุดทำลายป่าไม้ในปี ค.ศ. 2030 โดยรวม “ระบบนิเวศบลูคาร์บอน” (Blue Carbon) เข้าเป็นส่วนหนี่งในมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก นักรณรงค์และนักอนุรักษ์ทางทะเลได้มีการออกมาระบุว่า แหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงในมหาสมุทรกำลังถูกมองข้าม

โดย “ระบบนิเวศชายฝั่ง” ซึ่งประกอบด้วย ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง และหญ้าทะเล ถือเป็น “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) แหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ โดยระบบนิเวศนี้กักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไว้ในรากและตะกอนดินซึ่งคาร์บอนเหล่านี้จะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในกรณีที่ไม่ถูกรบกวน ขณะที่ “กรีนคาร์บอน” เช่น ป่าฝน กักเก็บคาร์บอนไว้ในชีวมวลและปล่อยกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ด้วยเหตุนี้ “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) จึงมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าไม้ถึงเกือบ 10 เท่า

ทั้งนี้ หลักฐานยืนยันสำหรับประสิทธิภาพของ “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) ถูกเปิดเผยเพิ่มเติม เมื่อมีการค้นพบว่า ที่ราบน้ำท่วมถึง Steart ในประเทศอังกฤษสามารถดูดซับคาร์บอนได้ 19 ตัน ต่อเฮกตาร์ ในทุก ๆ ปี หรือ 18,000 ตัน ใน 4 ปี ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับการกำจัดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยโดยรถยนต์ 32,900 คัน อันเป็นการสนับสนุนว่า “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) มีประสิทธิภาพสูงว่าป่าไม้ที่มีขนาดเท่ากัน อีกทั้ง ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนโดย “หญ้าทะเล” จากการสังเคราะห์ด้วยแสงและกักเก็บไว้ในโคลนตะกอนมีความไวกว่าป่าฝนถึง 35 เท่า

อย่างไรก็ตาม “ระบบนิเวศชายฝั่ง” ถือเป็นหนึ่งในระบบนิเวศของโลกที่ถูกคุกคามมากที่สุดจากการพัฒนาชายฝั่ง การทำฟาร์ม การทำประมงไม่ถูกวิธี และมลพิษ เกิดการสูญเสียป่าชายเลนประมาณ 50% ของชายฝั่งแถบคาริเบียนในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาจากการทำปศุสัตว์ การสร้างถนน และการท่องเที่ยว “หญ้าทะเล” กว่า 92% ของสหราชอาณาจักรสูญเสียในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา โดยกว่า 39% สูญหายไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ทั้งนี้ พื้นที่ของหญ้าทะเลซึ่งครอบคลุมเพียงประมาณ 0.1% ของมหาสมุทรทั่วโลกแต่กลับสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 18% กำลังลดปริมาณลง 7% ในทุกปี สำหรับประเทศไทยนั้น มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตร และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มาซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ไม่เพียงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น “ระบบนิเวศชายฝั่ง” ยังถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ อีกทั้งยังช่วยปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจากคลื่นพายุ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะให้ความสำคัญกับ “บลูคาร์บอน” (Blue Carbon) กลยุทธ์ต่าง ๆ สำหรับปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), theguardian

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หญ้าทะเลบลูคาร์บอนBlue Carbonแหล่งกักเก็บคาร์บอนภาวะโลกเดือดโลกเดือดลดโลกร้อนโลกร้อนปัญหาโลกร้อนภาวะโลกร้อนวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด