ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

OSIRIS-APEX ภารกิจต่อยาน OSIRIS-REx เยือนดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่


Logo Thai PBS
แชร์

OSIRIS-APEX ภารกิจต่อยาน OSIRIS-REx เยือนดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2285

OSIRIS-APEX ภารกิจต่อยาน OSIRIS-REx เยือนดาวเคราะห์น้อยดวงใหม่
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หลังจากที่ยาน OSIRIS-REx สามารถนำตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูกลับโลกได้อย่างปลอดภัย NASA ได้มอบภารกิจถัดไปให้กับยานในการเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อย Apophis อันเต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อตัวยานและโลกของเรา

ดาวเคราะห์น้อย Apophis เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่มีโอกาสชนโลกในปี 2029 และอยู่ในแนวระนาบวงโคจรที่ยาน OSIRIS-REx มีพลังงานเพียงพอที่จะเดินทางไปถึงได้พอดี ทำให้ในช่วงก่อนสิ้นสุดโครงการ NASA ได้มีการประเมินและยืดเวลาภารกิจออกไปให้ยาน OSIRIS-REx เดินทางออกจากโลกต่อไปยังดาวเคราะห์น้อย Apophis โดยคาดการณ์จะไปถึงดาวเคราะห์น้อยในปี 2029 และเปลี่ยนชื่อภารกิจจาก OSIRIS-REx เป็น OSIRIS-APEX (Origins, Spectral Interpretation, Resource Identification – Apophis Explorer)

ภาพวาดจำลองภารกิจของ OSIRIS-APEX ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวอีกแล้วแต่จะยังคงมีภารกิจเดินทางเข้าไปใกล้กับพื้นผิวอยู่เพื่อใช้ไอพ่นของยานพ่นให้หินกระเด็นออกไปเพื่อทำการวิเคราะห์ความหนาแน่นและการรวมตัว

ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จัดอยู่ในกลุ่มใกล้โลก มีขนาดเพียง 450 เมตร หรือขนาดใหญ่กว่าตึกเอ็มไพร์สเตท (Empire State) เล็กน้อย ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2004 และคาดการณ์เบื้องต้นว่ามันมีโอกาสพุ่งชนโลกในปี 2029 ถึง 2.7% แต่จากการศึกษาต่อจากนั้นพบว่าโอกาสนั้นน้อยลงจนแทบเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวก็พบว่ามันจะโคจรกลับมาใกล้โลกอีกเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ในปี 2036, 2051 และ 2068 โดยมีโอกาสที่ในปี 2036 หรือปี 2068 ที่มันจะพุ่งชนโลก ดังนั้นเพื่อเป็นการศึกษาสำหรับเตรียมป้องกันภัยจากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จึงมีการจับตาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มาตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา

OSIRIS-APEX จะเป็นภารกิจแรกที่เดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย Apophis ทำให้ต้องมีการปรับวงโคจรและเดินทางเข้าไปเฉียดดวงอาทิตย์ในระยะที่ใกล้กว่าวงโคจรของดาวศุกร์ถึง 6 ครั้ง ซึ่งตัวยานก็ไม่ได้ออกแบบมารองรับไว้เนื่องจากภารกิจหลักของ OSIRIS-REx นั้นคือการสำรวจดาวเคราะห์น้อยเบนนูที่มีวงโคจรอยู่ที่ระหว่างโลกกับดาวอังคาร ดังนั้นที่ระยะทางที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่มากระดับนี้อาจจะส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ทุกชิ้นภายในยานให้เกิดความเสียหายได้

ภาพถ่ายเรดาห์ของดาวเคราะห์น้อย Apophis จากระยะห่าง 17 ล้านกิโลเมตร

ทาง NASA และ JPL ทราบถึงความเสี่ยงนี้ดี และเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของภารกิจ OSIRIS-APEX ทางวิศวกรจึงได้เอียงแผงโซลาร์เซลล์ของตัวยานมาบังดวงอาทิตย์ไว้เพื่อลดความร้อนที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในยาน และการปรับองศาการรับแสงอาทิตย์ของโซลาร์เซลล์เพื่อไม่ให้รับแสงอาทิตย์โดยตรงจนเกิดความเสียหายต่อตัวแผง แต่ถึงกระนั้นความร้อนสูงในวงโคจรดาวศุกร์ก็ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้กับตัวยานในทุกชิ้นส่วนได้อยู่ดี ทาง NASA จึงกำหนดให้ OSIRIS-APEX คอยส่งสัญญาณสื่อสารกับโลกตลอดเวลาผ่านเสาส่งสัญญาณขนาดเล็กและมีบิตเรตต่ำที่ให้ข้อมูลเพียงเล็กน้อย จากนั้นจะส่งข้อมูลปริมาณมากตามปกติได้อีกครั้งหลังจากเดินทางออกห่างจากดวงอาทิตย์แล้วเรียบร้อย

ขณะนี้ตัวยาน OSIRIS-APEX ได้เดินทางเฉียดเข้าใกล้กับดวงอาทิตย์เพื่อปรับวงโคจรมาทั้งหมด 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกคือวันที่ 2 มกราคม 2024 และครั้งที่สองคือวันที่ 2 กันยายน 2024 และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2025 ที่ผ่านมาทางวิศวกรได้เช็กข้อมูลจากยาน OSIRIS-APEX ที่ส่งข้อมูลกลับมายังโลกก็พบว่าตัวยานอวกาศยังมีสุขภาพที่ดีและไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง

ภาพวาดของยาน OSIRIS-APEX ในแนววิถีใกล้กับพื้นผิวของ Apophis ซึ่งจะเห็นได้ว่าในภาพวาดไม่ได้มีแขนกลยื่นเก็บตัวอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของยาน OSIRIS-REx อีกแล้ว เพราะส่วนเก็บตัวอย่างของยานแยกออกไปกลับสู่โลกแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องน่าแปลกเกิดขึ้น เพราะหลังจากที่ตรวจสอบสภาพความพร้อมของตัวยานก็พบว่าอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยานทำงานได้ดีขึ้น กล่าวคือ กล้องถ่ายภาพที่เคยมีจุด Hot Pixel สีขาวอันเกิดจากอนุภาคพลังงานสูงพุ่งชนและทำให้ตัวเซนเซอร์มีความเสียหายนั้น ขณะนี้ลดลงถึง 70% จากข้อมูลก่อนหน้า และพบว่าเศษก้อนกรวดจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูที่ครั้งหนึ่งเคยไปติดอยู่ที่ฝาปิดของสเปกโตรมิเตอร์ ตอนนี้มันได้หลุดออกไปแล้ว โดยคาดว่าทั้งหมดนี้น่าจะเกิดจากความร้อนของดวงอาทิตย์ช่วยทำให้อุปกรณ์ดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ

ถึงแม้ผลลัพธ์ของการเดินทางเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์จะมอบผลดีเกินความคาดหมายกับอุปกรณ์ต่าง ๆ บนยาน แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่มีผลชี้ชัดว่าความร้อนจากวงโคจรที่ใกล้กว่าที่ออกแบบนี้จะส่งผลกระทบกับยานอวกาศอย่างไรบ้าง

OSIRIS-APEX ยังต้องเดินทางยาวนานอีกเกือบ 4 ปี และหลังจากที่ไปถึงดาวเคราะห์น้อย Apophis แล้ว มันจะสำรวจและทำแผนที่ของดาวเคราะห์น้อย Apophis โดยละเอียดเป็นระยะเวลา 18 เดือน เช่นเดียวกับระยะเวลาที่ยานทำการศึกษากับดาวเคราะห์น้อยเบนนู ถ้าทุกอย่างเป็นใจ การเดินทางครั้งนี้ของ OSIRIS จะช่วยทำให้เราเข้าใจวิทยาศาสตร์ของยานอวกาศและเตรียมพร้อมรับมือกับการพุ่งชนโลกของดาวเคราะห์น้อย Apophis ได้ดีขึ้น

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA, NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

OSIRIS-APEXOSIRIS-RExApophisดาวเคราะห์น้อย Apophisดาวเคราะห์น้อยนาซาองค์การนาซาNASAสำรวจอวกาศอวกาศยานอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด