กลุ่มนักวิจัยจาก MIT ได้ใช้ข้อมูลการสังเกตการณ์ “ดาวฤกษ์” ที่ห่างไกลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ มาวิเคราะห์และตรวจพบวัตถุที่มีขนาดเล็กที่สุดที่เคยพบมาในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี
ดาวเคราะห์น้อยใหม่ทั้งหมด 138 ดวงตั้งแต่ขนาดเท่ากับรถบัสไปจนถึงสนามฟุตบอลจากบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยหลักระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีนั้นเป็นขนาดที่เหมือนจะดูใหญ่แต่อันที่จริงเป็นขนาดที่เล็กมากจนไม่สามารถสังเกตการณ์หรือตรวจพบได้จากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน ซึ่งการทราบจำนวนและขนาดของวัตถุในแถบดาวเคราะห์น้อยนั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการทำความเข้าใจกิจกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของวัตถุในบริเวณนี้ ทำให้เข้าใจความหนาแน่นและความถี่ของการชนกันของวัตถุในแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งนำมาสู่การเข้าใจข้อมูลในเชิงสถิติของโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยจะหลุดออกจากบริเวณที่มันเคยอยู่และเดินทางมาลงเอยที่โลก
เทคนิคการตรวจจับดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กในครั้งนี้วิเคราะห์ข้อมูลผ่านภาพถ่ายที่มีอยู่แล้วมากกว่า 10,000 ภาพ ที่ใช้สำหรับการสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ในระบบของ TRAPPIST-1 โดยอาศัยคุณสมบัติของดาวเคราะห์น้อยที่จะสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ได้ดีในคลื่นย่านอินฟราเรดที่กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์รับได้ดี เผยให้เห็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่ไม่เคยมีใครพบเจอมาก่อน
ผลการศึกษาในครั้งนี้นอกจากจะเปิดโอกาสใหม่ในการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยผ่านการใช้ภาพถ่ายของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ และยังเปิดโอกาสในการสำรวจขนาดของดาวเคราะห์น้อยในแถบดาวเคราะห์เพื่อสร้างแบบจำลองโอกาสของดาวเคราะห์น้อยที่จะเดินทางมาพุ่งชนโลกให้แม่นยำมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ภายใต้บทความชื่อ “Detections of decameter main-belt asteroids with JWST” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2024
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech