นักวิจัยจากบริษัทชั้นนำในประเทศเกาหลีใต้ ได้เปิดตัวหุ่นยนต์แบบสวมใส่ที่มีน้ำหนักเบาและใช้งานง่าย ช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บในการยกของหนัก
หุ่นยนต์สวมใส่ออกแบบมาเพื่อช่วยงานในการยกของหนักและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บในระยะยาว หุ่นยนต์สามารถปรับตัวตามการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน ช่วยลดภาระกล้ามเนื้อไหล่และแขนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในงานอุตสาหกรรมหรืองานก่อสร้างที่ต้องใช้งานแรงกายตลอดทั้งวัน เทคโนโลยีนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของแรงงานในยุคที่ต้องการความปลอดภัยและช่วยอำนวยความสะดวกได้มากยิ่งขึ้น
โครงสร้างของหุ่นยนต์แบบสวมใส่นี้ไม่ได้ใช้ระบบไฟฟ้า แต่เป็นการใช้แรงบิดที่ทำจากคาร์บอนคอมโพสิตที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 1.9 กิโลกรัม สร้างแรงสนับสนุน (assistive force) การทำงานของมนุษย์ด้วยโมดูลชดเชยกล้ามเนื้อ (muscle compensation module) แบบมัลติลิงก์ ให้ความทนทานสูง โดยคาดว่าสามารถพับและกางซ้ำได้ 700,000 ครั้งต่อปี โดยไม่ต้องอาศัยการชาร์จไฟ
เทคโนโลยีหุ่นยนต์แบบสวมใส่ช่วยในการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับคนทำงาน ลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และยกระดับความสะดวกสบายของผู้ใช้งาน โดยสามารถทำงานร่วมกับผู้ใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติเพื่อทำให้การทำงานในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องง่ายขึ้น ด้วยการก้าวข้ามขีดจำกัดทางเทคโนโลยี
หุ่นยนต์รุ่นพื้นฐานออกแบบมาให้สามารถทำงานสอดรับกับท่าทางของมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีความยืดหยุ่นสูง สามารถสร้างแรงสนับสนุน ได้สูงสุด 2.9 กิโลกรัม ส่วนรุ่นพัฒนาออกแบบมาสำหรับงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ในท่าทางเดิม ผู้ใช้สามารถตั้งค่ามุมอุปกรณ์เพื่อรับแรงช่วยเหลือที่เหมาะสมได้ โดยรุ่นนี้จะสร้างแรงสนับสนุน ได้มากถึง 3.7 กิโลกรัม
หุ่นยนต์สวมใส่สามารถลดภาระกล้ามเนื้อช่วงไหล่ได้ถึง 60% และลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อเดลทอยด์ (Deltoid muscle) ด้านหน้าและด้านข้างได้ถึง 30% ซึ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนงานให้ดีขึ้น โดยหุ่นยนต์แบบสวมใส่เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การก่อสร้าง ยานยนต์ การบิน และการต่อเรือ เป็นต้น
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: newatlas, hyundai, teslarati, electrek
ที่มาภาพ: hyundai
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech