ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความผิดพลาดของ "ชาล็อต" - สิ่งที่ควรรู้ก่อนถูกลวงจาก "แก๊งคอลเซ็นเตอร์"


Verify

13 ธ.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ความผิดพลาดของ "ชาล็อต" - สิ่งที่ควรรู้ก่อนถูกลวงจาก "แก๊งคอลเซ็นเตอร์"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2024

ความผิดพลาดของ "ชาล็อต" - สิ่งที่ควรรู้ก่อนถูกลวงจาก "แก๊งคอลเซ็นเตอร์"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เรื่องราวของ "ชาล็อต ออสติน" นางงามแกรนด์และนักแสดงที่ถูก "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ขู่ทางโทรศัพท์ ด้วยการบังคับให้วิดีโอคอล 24 ชั่วโมงหลอกโอนเงิน 4 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นจากการรับโทรศัทพ์ของบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้มีวิธีการหลอกลวงอย่างไร จึงทำให้ชาล็อตตกหลุมพรางของพวกเขาได้ Thai PBS Verify จะมาสรุปสั้น ๆ ให้ทราบถึงกลลวงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ว่าใช้กลลวงอะไร และเราจะสามารถรู้ทันมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างไรบ้าง

รูปแบบกลลวงที่ "ชาล็อต ออสติน" ถูกหลอกลวง

7 ธ.ค. 2567 "ชาล็อต ออสติน" ได้รับโทรศัพท์ที่มีเบอร์ +698907081036 โทรเข้ามาหาเธอ โดยปลายสายระบุว่า เป็นตำรวจจากสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง มีการแจ้ง ยศ-ชื่อ แจ้งเลขคดีที่ 32/2567 ซึ่งเป็นคดีของ นายศรัทธา อดีตเจ้าหน้าที่แบงก์ โดยตัวของ ชาล็อต ถูกกล่าวอ้างว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินบริษัทหุ้น และได้รับเงินค่าจ้างเปิดบัญชีเป็นรายเดือน เดือนละ 800,000 บาท จึงขอตรวจสอบบัญชี โดยให้วิดีโอคอลผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และบังคับกดลิงก์ เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่ง ที่อ้างเป็นตำรวจไซเบอร์ ซึ่งโค้ดดังกล่าว เธอทราบภายหลังคือโค้ดที่ตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อไม่ให้ใครสามารถติดต่อได้

ภาพบันทึกหน้าจอวิดีโอคอลแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พบแต่งกายเลียนแบบตำรวจและใช้ AI สร้างภาพพื้นหลัง

นอกจากนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว ยังทราบถึงหมายเลขบัตรประชาชน รวมถึงอ้างว่า บัญชีของ ชาล็อต ถูกซื้อไปฟอกเงิน ต้องทำการตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ถ้าหากไม่ทำตามกระบวนการ จะออกหมายจับและให้เจ้าหน้าที่มาจับกุมพร้อมฝากขัง โดยข่มขู่ว่าต้องอยู่ในห้องฝากขังประมาณ 3-6 เดือน พร้อมกับโชว์เอกสารปลอมที่เลียนแบบเอกสารของทางราชการ ที่มีชื่อ ที่อยู่ รวมถึงหมายเลขบัตรประชาชนของเธออีกด้วย ซึ่งทำให้เธอเชื่อสนิทใจว่ากำลังคุยกับเจ้าหน้าที่ตัวจริง ยอมโอนเงินเป็นจำนวน 3 ครั้งไปตามคำกล่าวอ้างว่าเพื่อการตรวจสอบ

หากฟังจากคำบอกเล่าของ ชาล็อต จะพบว่า เธอถูกหลอกลวงจากการข่มขู่เป็นหลัก พร้อมบังคับให้วิดีโอคอล 24 ชั่วโมง ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีมาทำให้การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้ทำการหลอกลวงได้ง่ายขึ้น ซึ่งกว่าที่เธอจะรู้ตัว ก็สูญเสียเงินไปถึง 4 ล้านบาท

บทเรียนจากการถูกหลอกลวงของนางงาม “ชาล็อต”

1. การแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทางการ

แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้การโทรมาอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือหน่วยงานภาครัฐ และมักจะบอกว่ามีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับบัญชีหรือข้อมูลส่วนตัวของผู้รับสาย เช่น อาจบอกว่า "ข้อมูลบัตรเครดิตของคุณมีปัญหา" หรือ "บัญชีของคุณเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม" เพื่อให้ผู้รับสายรู้สึกวิตกกังวล และต้องการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว

2. การใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาจจะใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้รับสาย เช่น ชื่อ, เลขที่บัตรประชาชน, หรือข้อมูลส่วนบุคคลบางอย่างที่สามารถหาได้จากการสืบค้นออนไลน์ หรือข้อมูลรั่วไหล เพื่อทำให้ผู้รับสายเชื่อได้ว่า เป็นการติดต่อจากธนาคารหรือองค์กรจริง ๆ

3. การสร้างความเร่งด่วน

แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักบอกว่าต้องทำการดำเนินการทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย เช่น การแจ้งให้โอนเงินไปยังบัญชีปลอม เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเงิน หรือเพื่อเร่งตรวจสอบข้อมูลสำคัญ

4. หลอกให้ให้ข้อมูลส่วนตัวหรือโอนเงิน

ในบางกรณี แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะขอข้อมูลส่วนตัวเช่น รหัสบัตรประชาชน, เลขบัญชีธนาคาร, หรือแม้แต่รหัส OTP ที่ส่งมาจากธนาคาร เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือโอนเงินจากบัญชีของเหยื่อไปยังบัญชีของพวกเขา

รูปแบบกลโกง "ข่มขู่ทางโทรศัพท์" หรือ “call center”

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์  คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 เปิดเผยถึงรูปแบบของแผนประทุษกรรมที่คนร้ายใช้หลอก ชาล็อต ออสติน ว่า กรณีของนางงาม ชาล็อต ถือเป็นกรณีที่อยู่ในอันดับ top 5 ของแผนการหลอกลวง คือ การข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือ call center ซึ่งในเวลา 1 ปี คือเฉพาะปี 2567 มีผู้เสียหายในรูปแบบนี้แล้วกว่า 4,580 ล้านบาท

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์  คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1

สำหรับการหลอกลวงในลักษณะของ call center นั้น มีหลายลักษณะ ได้แก่ หลอกเป็นธนาคาร , หลอกเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจากการจับกุมขบวนการเหล่านี้พบว่า ผู้แสดงเป็นเจ้าหน้าที่จะมีเงินเดือนหลักแสน โดยจะทำงานอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และจะเรียกขบวนการเหล่านี้ว่าบริษัท โดยจะต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจคอยหลอกเหยื่อด้วยการแต่งตัวด้วยเครื่องหมายเต็มยศ รวมถึงใช้ AI เข้ามาสร้างฉากให้เหมือนกับตำรวจจริงมากที่สุด ร่วมกับการวิดีโอคอลหลอกลวงเหยื่อ

วิธีป้องกันเบื้องต้นสำหรับประชาชน

1. จำไว้เสมอว่าไม่มีส่วนราชการใด ใช้วิธีวิดีโอคอลในการติดต่อส่วนตัว

2. ไม่มีหน่วยงานราชการใด ส่งหมายจับหรือเอกสารของทางราชการทางไลน์เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นหมายจับจริง หรือหมายจับที่ถ่ายเอกสาร และถึงจะเป็นการไปจับในสถานที่ โดยใช้เอกสารสำเนา ก็ต้องมีการรับรองสำเนาจากพนักงานสอบสวนนั้น ๆ และตำรวจต้องเป็นผู้เดินทางไปสถานที่นั้นเองเท่านั้น

3. ข้อมูลในหมายจับจะไม่มีการระบุว่า ห้ามแพร่งพรายให้ใครรู้

4. พยายามอย่าอยู่คนเดียว และอย่าเชื่อคำกล่าวอ้างที่ให้อยู่คนเดียว หรือ ห้ามให้คนอื่นรู้

5. ตั้งค่าการเพิ่มเพื่อนของแอปพลิเคชันให้เป็นส่วนตัว ไม่ตั้งเป็นสาธารณะ

6. เบอร์แปลก หรือ ไม่คุ้น ไม่ว่าจะพบเจอเบอร์โทรศัพท์มือถือในประเทศ , เบอร์โทรศัพท์บ้าน หรือเบอร์โทรศัพท์จากต่างประเทศ หากหลงไปรับเบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ให้ทดสอบด้วยการวางแล้วโทรกลับ เพราะหากโทรกลับไม่ติด นั่นแปลว่าเป็นเบอร์ที่โทรมาจากต่างประเทศ

"ท้ายที่สุดการป้องกันตัวเบื้องต้นสำหรับประชาชนทั่วไป ควรยึด 3 ข้อง่าย ๆ ได้แก่ 
ไม่เชื่อ , ไม่รีบ และ ไม่โอน"

ทั้งนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อน สามารถโทรได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) สายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งความผ่านออนไลน์ได้ช่องทางเดียวที่ thaipoliceonline.go.th เพียงเท่านั้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ชาล็อตวิดีโอคอลหลอกลวงหลอกคุยหลอกลวงด้วย AIหลอกลวงออนไลน์หลอกลวงโดนหลอกหลอกโอนเงินแก๊งคอลเซนเตอร์แก๊งคอลเซ็นเตอร์วิธีป้องกันมิจฉาชีพ
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด